เที่ยวเวียงจันทน์ วัดพระธาตุหลวง หอพระแก้ว ตอน กระติบเมืองลาว
การเดินทางครั้งใหม่ การเดินทางที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาความหมายของชีวิต การเดินทางที่เปรียบประหนึ่งหิ้วกระติบออกจากบ้าน พกเสบียงตุนไว้ระดับหนึ่งแล้วออกไปหาเพิ่มเติมเอาดาบหน้าเพื่อใช้ชีวิตต่อ หากแต่ว่าการหิ้วกระติบออกเดินทางที่พูดถึง คงจะไม่ได้สืบเสาะหาจุดกำเนิดของกระติบอย่างรายการกบนอกกะลา แต่เราจะหาช่วงเวลาดีๆ ที่กระติบใบนี้ จะได้เอาอะไรมาใส่ไว้บ้างต่างหาก
เสียงจอแจบนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ถ้อยคำมากมายลอยผ่านหู ผ่านหัว ผ่านตัวไป ฟังดูคล้ายภาษาไทยแต่ไม่ใช่ เพราะมันคือภาษาลาว หัวใจเต้นตุบๆ เมื่อมองดูภาษาเขียนบนป้ายต่างๆ ทั่ว สปป. ด้วยความคิดที่ว่า “นี่เราอยู่ต่างประเทศแล้วจริงๆ หรือเนี่ย” ความจริงเมื่อเราดูสะพานมิตรภาพไทย-ลาวจากฝั่ง เราจะรู้สึกว่ามันยาวมาก แต่พอเอาเข้าจริงรถเราก็วิ่งมาอยู่ฝั่งลาวโดยไม่รู้ตัว หนึ่งกิโลเมตร ยังไม่ทันจะได้หายใจทิ้งก็แตะแผ่นดินลาวเสียแล้ว “สบายดีเจ้า” สาวสวยนุ่งผ้าซิ่นเดินมาทักเราอย่างมั่นใจ ไกด์น้อย จะเป็นผู้นำเราเที่ยวเมืองเวียงจันทน์นี่เอง
ไกด์น้อยเล่าให้เราฟังว่า ในเวลานี้เวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงของประเทศลาว หากเป็นเมื่อก่อน เมืองหลวงคือหลวงพระบาง คนลาวนั้นเป็นคนเรียบง่าย สบายๆ และเป็นมิตรกับคนอื่น ระหว่างทางเราจะเห็นธงชาติลาวกับธงชาติหลายประเทศติดคู่กันตามสถานที่ต่างๆ บ่งบอกการร่วมมือสร้างสิ่งนั้นๆ เช่น หอนาฬิกา ถนน รวมทั้งสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ก็เป็นการร่วมมือกันของ 3 ประเทศ คือ ลาว ออสเตรเลีย ไทย ก็จะมีการเรียกอย่างสั้น กระชับ ให้เข้าใจง่ายๆ ว่าถ้าลาวไปไทยก็จะเรียกว่า “ลาว-เลีย-ไทย” และถ้าเกิดเป็นขาไทยไปลาวก็จะเรียกว่า “ไทย-เลีย-ลาว” …ไม่มีภาษาใดในโลกจะชัดเจนและเข้าใจง่ายไปกว่าภาษาลาวอีกแล้ว
Info บัตรผ่านแดน (Temporary Boarder Pass) ใช้ได้ 3 วัน 2 คืน ทำที่ OTOP ฝั่งไทยหรือที่อำเภอราคา 40 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่เสียค่าใช้จ่าย Passport สามารถอยู่ 1 เดือน ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่เสียเวลามากกว่าการทำบัตรผ่านแดน และมีค่าเหยียบแผ่นดินลาว วันจันทร์-ศุกร์ ราคา 40 บาท เสาร์-อาทิตย์ ราคา 80 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าบำรุงสะพาน จะเก็บราคาตามยานพาหนะ เช่น รถเก๋ง 20 บาท รถตู้ 50 บาท รถทัวร์สองชั้น 100 บาท การขับขี่ยวดยานพาหนะในเวียงจันทน์นั้น จะขับทางฝั่งขวามือ เนื่องจากเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสจึงมีวัฒนธรรมบางอย่างตามแบบยุโรป หากใครไม่ได้นำมาเอง มีรถรับส่งประจำสะพานในราคา 20 บาท และสามารถมาได้ทางรถไฟ ขึ้นที่ อ.ท่านาแล้ง ให้บริการเที่ยวเช้า 09.00 น. และ 11.00 น. รอบบ่าย 13.00 น. และ 15.00 น.
พระธาตุหลวง สีทองอร่าม ล้อมรอบด้วยกำแพงเล็ก ๆ สีขาว หากใครมาแล้วขอแนะนำให้ลองทานข้าวจี่ปลาร้าระหว่างเดินเที่ยว ขายอยู่ด้านหลังพระธาตุหลวง (ซึ่งที่จริงเป็นด้านหน้าดั้งเดิมของพระธาตุหลวง) ได้บรรยากาศมากๆ ข้าวเหนียวอุ่นๆ บรรจงห่อใบตอง กลิ่นหอมเค็มๆ ของปลาร้า พอเข้าปากแล้วรสชาติเผ็ดเค็มขึ้นจมูกนิดๆ ตัดกับความหวานมันของข้าวเหนียว บอกได้คำเดียวแซบจริงอร่อยจัง (คงต้องสงวนไว้สำหรับคนรักปลาแดกเท่านั้นนะจ๊ะ)
ฉันเดินเข้าด้านในรั้วพระธาตุหลวงพร้อมข้าวจี่ในมือ ซากปรักหักพังของพระพุทธรูปเก่าและศิลาแลงตั้งอยู่รอบรั้วพระธาตุ เป็นซากเก่าแก่ที่ชาวบ้านขุดพบ เป็นเศษซากตั้งแต่สมัยสงครามที่ทำกับไทย ในใจกำลังคิดว่าสิ่งที่ผ่านมาคนลาวจะรู้สึกอย่างไร น่าแปลกที่หลังทำสงคราม เรากลับมีคำที่เรียกว่า “พี่ไทย น้องลาว” คำคำนี้มีความหมายอะไรอย่างอื่นรึเปล่านะ
อีกที่หนึ่งที่ผ่านช่วงสงครามมาได้คือ หอพระแก้ว เมื่อเห็นฉันก็รู้สึกชอบในความสวยงามของความดั้งเดิม ตัวอาคารและลายฉลุทำจากไม้ ซึ่งไม่ได้ทาสีเพิ่มหรือเคลือบอะไรเลย ยังคงเป็นสีไม้ธรรมชาติ ที่นี่เคยถูกไฟไหม้ หลายอย่างถูกเผาไป แต่มีประตูไม้เก่าแก่ด้านหลังนี้ที่เหลือรอดมาได้ อายุประมาณ 400 ปีแล้ว เขาจึงเอาปูนฉาบตีกรอบไว้ เพื่อรักษาไม่ให้พังลงมา ศิลปะใกล้เคียงวัดทางภาคเหนือของเรา ลวดลายแกะสลักสวยงามละเอียด
ฉันหลงใหลในความเก่าแก่และเรื่องราวที่มาพร้อมกัน เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่เหลือรอดมาถึงคนรุ่นหลังจะยิ่งมีคุณค่า ยิ่งน่าจะจำ หากสิ่งสิ่งนั้นมีปากสามารถเล่าเรื่องได้เหมือนคน คงมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจและสิ่งนั้นคงอยากเล่าให้เราฟัง กี่คนที่ผ่านมาและผ่านไป กี่เรื่องราวที่เกิดขึ้นและถูกลืมไปจากความทรงจำ ฉันได้แต่จ้องมองพลางครุ่นคิดในใจ ก่อนจะฝากอีกหนึ่งความทรงจำไว้กับสถานที่นี่ ความทรงจำที่เรียกว่า ความประทับใจ
ติดตาม travel.truelife.com ได้อีกช่องทางที่
ทุกเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาหาร และสุขภาพ คลิกที่ http://travel.truelife.com