สวัสดีครับท่านนักเที่ยวสายบุญทั้งหลายวันนี้ผู้เขียนมีวัดดี ๆ (ก็น่าจะดีทุกวัดหละครับ...อิอิ) คือเรื่องของเรื่องผู้เขียนบังเอิญผ่านไปทำธุระแถว ๆ อำเภอเมืองลำพูนเพอเสร็จธุระเลยขับรถเล่นไปเรื่อย ๆ ปรากฏว่าเข้าเขตตำบลเหมืองจี้ พบกับวัดแห่งหนึ่งที่ดูแล้วแปลกสะดุดตาไม่เหมือนกับวัดอื่น ๆ มาดูกันครับว่าวัดที่ว่านี้คือวัดอะไร วัดที่ว่านี้คือ “วัดหมูเปิ้ง” แค่ชื่อก็แปลกแล้วครับ วัดนี้เป็นวัดเล็ก ๆ อยู่กลางหมู่บ้านตั้งอยู่ตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นวัดเล็ก ๆ ครับแต่เมื่อเข้าไปแล้วไม่เล็กเลยครับที่ว่าไม่เล็กคือมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานมาก ๆ (ผู้เขียนทราบว่าสร้างมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2340 ปัจจุบันก็สองร้อยกว่าปี) ถือว่าเป็นวัดที่มีความเก่าแก่อีกวัดหนึ่งในจังหวัดลำพูนก็ว่าได้ครับมาดูกันครับว่าภายในวัดมีอะไรบ้าง จุดแรก ครับก่อนที่ท่านจะเข้าไปยังบริเวณวัดจะพบกับหมูครับ หมูปั้นตัวสีน้ำตาลพร้อมลูกหมูยืนอยู่สองฝากฝั่งซ้ายขวาทางเข้าชั้นแรก (มีทางเข้าสองชั้นก่อนเข้าสู่บริเวณในวัด) มีความเป็นมาตามชื่อครับผู้เขียนนทราบว่าคำว่า เปิ้ง ภาษาเหนือ หมายถึง พึ่งพา อาศัย หมูเปิ้ง จึงหมายถึง หมูได้มาอาศัยอยู่ภายในบริเวณที่แห่งนี้ (ตามประวัติ) ในอดีตวัดแห่งนี้มีต้นไม้ใหญ่ สูง ร่มรื่น พวกหมูป่าจึงพากันมาอยู่ต่อมาวัดมีความเจริญขึ้นจึงคงหลงเหลือแต่ชื่อ และร่องรอยของประวัติศาสตร์ที่เราพบเห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ จุดที่สอง ก่อนเข้าสู่เขตวัดด้านในจะพบกับพระสิวลีประดิษฐานเด่นสง่าอยู่ด้านขวาของทางเข้า ซึ่งพุทธศาสนิกชนมีความเชื่อว่าพระสิวลีเป็นพระอรหันต์ที่เป็นเลิศทางด้านโชคลาภ ไปที่ใดก็มักจะมีแต่โชคลาภ วาสนาดี ไม่จน มีแต่ความสุขดังนั้นก่อนเข้าวัดอย่าลืมนะครับกราบขอพรก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และครอบครัว จุดที่สาม ซุ้มประตูโขง ลักษณะเป็นซากโบราณสถานก่ออิฐฉาบปูนประดับลายปูนปั้นบริเวณกาบล่าง ประจำยามอก และกาบบนด้วยปูนปั้นลายเครือล้านนา (ทราบว่าอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ) กลางซุ้มประตูมีรูปหมูปูนปั้นสีทองสองตัวตัวหนึ่งยืน และตัวหนึ่งนอน (แปลกดีครับ) ไม่เคยพบเห็นที่ใดมาก่อนถือว่ามีความเก่าแก่มาก อ้อ..ลืมบอกอีกอย่างครับวัดนี้คนทางเหนือเชื่อว่าคนที่เกิดปีกุน (ปีหมู) นิยมมากราบขอพรกันเยอะนะครับในแต่ละปี จุดที่สี่ หอไตรสองชั้น (ไม่ค่อยจะเห็นที่ใดมากนัก) จะอยู่ทางด้านซ้ายมือเมื่อเข้ามาสู่บริเวณวัด จะอยู่ตรงข้ามกับซุ้มประตูโขง ความพิเศษของหอไตรแห่งนี้คือ ชั้นล่างมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ท่านสามารถเข้าไปกราบขอพรได้ (พระพุทธรูปปางมารวิชัยหรือเรียกอีกอย่างว่าปางสะดุ้งมารหรือปางชนะมารเป็นพระพุทธรูปที่ถอดแบบมาจากพุทธลักษณะในขณะที่พระพุทธเจ้าเผชิญกับพญามารก่อนตรัสรู้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณด้านบนจะเป็นห้องเก็บคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎก เอกสารสำคัญต่าง ๆ (ทางภาคเหนือมักจะเก็บปั๊บสาหรือคัมภีร์ที่จารด้วยหมึกดำเป็นภาษาล้านนาเก็บไว้ในหีบที่เรียกว่า หีบธรรม) จุดที่ห้า พระวิหารจะเป็นพระวิหารที่มีการประดับตกแต่งลวดลายสวยงามมากทางขึ้นจะขึ้นได้หลายทาง ทางวัดจะมีการปั้นรูปปั้นพญานาคตรงบันไดทางขึ้นด้านหน้าพระวิหาร ส่วนบันไดด้านข้างจะมีการปั้นมังกรคาบพญานาคไว้ขนาบซ้ายขวาทางขึ้นดูแล้วสวยงาม และแปลกตาไปอีกแบบสำหรับพระวิหารนี้ทางวัดจะใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันสำคัญหรือเทศกาลต่าง ๆ หรือจะใช้สำหรับใช้สำหรับการประชุม รวมตัวเพื่อปรึกษาหารือกันระหว่างชาวบ้าน วัด และเป็นสถานที่สำหรับทำวัตร สวดมนต์ทุกเช้า-เย็น เมื่อท่านมาถึงแล้วอย่าลืมเข้าไปกราบขอพรพระประธานบนพระวิหารด้วยนะครับเพื่อความเป็นสิริมงคล จุดที่หก พิพิธภัณฑ์วัดหมูเปิ้ง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเก็บรวบรวมเรื่องราว ประวัติความเป็นมา โบราณวัตถุที่ค้นพบซึ่งมีความเป็นมาอันยาวนานถือว่าเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของคนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียวแต่เสียดายครับวันนี้ทางวัดไม่เปิดให้เข้าชมได้ (อดนำภาพด้านในมาฝากท่านผู้อ่านเลย) จุดที่เจ็ด หอระฆัง เป็นหอสูงทำเป็นชั้น (ผู้เขียนนับได้ 9 ชั้น) สวยงามมากเป็นหอระฆังสำหรับตีบอกเวลาเช่น ในช่วงเช้ามือเพื่อเป็นการปลุกให้พระภิกษุสามเณรได้ตื่นเพื่อเตรียมตัวปฏิบัติกิจของสงฆ์ (ทำวัตร สวดมนต์ ออกบิณฑบาตร เป็นต้น) หรือเพื่อบอกถึงเวลาแต่ละขณะหรือในบางครั้งหากมีภัยก็จะมีการส่งสัญญาณโดยการตีระฆังบอกถึงเหตุหรือภัยนั้นก็ได้ (ในอดีตจะใช้เยอะแต่ปัจจุบันความสำคัญค่อนข้างลดลงเพราะมีนาฬิกา) อย่าลืมนะครับหากมีโอกาสเดินทางผ่านมาทางอำเภอเมืองลำพูน “วัดหมูเปิ้ง” เป็นอีกวัดหนึ่งที่หากท่านพลาดแล้วจะต้องพบกับคำว่า...เสียดายจริง ๆ สำหรับวันนี้เท่านี้ก่อนนะครับขอตัวไปกราบพระก่อน....ธรรมะสวัสดีครับ เครดิตภาพทั้งหมดจากผู้เขียน (ดร.อาบแสงจันทร์ ต.)