สวัสดีครับคุณผู้อ่าน วันนี้แต้มคุงจะพาทุกคนไปเดินเล่นชมงานศิลปะในบรรยากาศที่แสนจะเงียบสงบและเปี่ยมด้วยพลังแห่งความคิด ที่ 成都天府美术馆 (Chengdu Tianfu Art Museum) กันครับ งานนี้มีชื่อว่า "Xu Bing :Where There is a question, There is…(有问题,就有…)" เป็นนิทรรศการศิลปะที่ไม่ได้มาแค่ให้เราดูภาพสวยๆ แล้วเดินผ่านไป แต่มันทำให้เราต้องหยุดแล้วตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็น ตั้งคำถามกับศิลปะ และตั้งคำถามกับตัวเองด้วยครับผม วันนี้ แต้มเอง ขอพาชมนิทรรศการศิลปะ 徐冰 :有问题,就有… อดีต วันนี้ พรุ่งนี้ อนาคตของศิลปะอยู่ตรงไหน? ศิลปะคืออะไร แล้วอะไรคือศิลปะ? คำถามนี้ผุดขึ้นมาตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าไปในห้องนิทรรศการแรกเลยครับ เพราะผลงานชิ้นแรกๆ ที่เราเจอคือ ศิลปะที่ดูเหมือนอักษรจีน แต่ไม่ใช่อักษรจีน อย่างที่เรารู้จัก — มันคือการประดิษฐ์ตัวอักษรปลอม ๆ ที่มีโครงสร้างแบบภาษาจีน แต่ไม่มีความหมายครับผม Xu Bing เรียกมันว่า “New English Calligraphy” ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างภาษาอังกฤษกับรูปลักษณ์แบบอักษรจีนโบราณ จนคุณผู้อ่านต้องเข้าไปมองใกล้ๆ แล้วค่อยๆ แปลออกว่า มันคือคำในภาษาอังกฤษนั่นเองครับ ซึ่งตรงนี้แหละครับที่ทำให้เราต้องย้อนถามตัวเองว่า “ถ้ามันไม่ใช่ภาษาจริงๆ แล้วมันยังเป็นศิลปะอยู่ไหม?” หรือถ้าเป็นเพียงแค่การเล่นกับรูปลักษณ์ มันสามารถสื่อสารอะไรกับเราได้บ้าง? งานชิ้นนี้ผมชอบมากเลย เพราะกว่าผมจะเข้าใจ ผมก็ยืนดูอยู่ประมาณ 5 นาที กว่าจะเข้าใจ เพราะว่าดูครั้งแรกเราอาจจะมองมันเป็นตัวอักษรที่อ่านไม่รู้เรื่อง แต่ความเป็นจริงแล้ว มันคือการใช้ภาษาอังกฤษมาประกอบกันจนทำให้เหมือนตัวอักษรภาษาจีนที่อ่านไม่ได้ ซึ่งจากภาษาจีนที่เขียนว่า 今天我们用什么做艺术 จะแปลได้ว่า วันนี้พวกเราใช้อะไรสร้างงานศิลปะ แต่ถ้ามองดีๆ ตัวอักษรด้านบนเขาก็เขียนว่า How do we make Art today นั่นเองครับ จากอดีตสู่อวกาศ อีกจุดที่ผมประทับใจมากๆ คือผลงานที่เขานำ ศิลปะขึ้นไปนอกโลกครับ ฟังดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ใช่ไหมครับ? แต่เขาทำจริงๆ โดยใช้เทคโนโลยีฉายภาพผลงานศิลปะของเขาขึ้นจอ LED ที่ติดอยู่กับดาวเทียม ซึ่งกำลังโคจรรอบโลกอยู่ในขณะนี้ Xu Bing บอกว่า เมื่อเราไม่สามารถพูดคุยกับสิ่งมีชีวิตนอกโลกได้ การส่งศิลปะ อาจเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการแสดงออกถึงการมีอยู่ของมนุษย์และวัฒนธรรมของเรา มันฟังดู 浪漫 (โรมานซ์) และจริงจังในเวลาเดียวกันครับ เขาตั้งคำถามว่า “ศิลปะคืออะไร?” และพบว่า ทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เราจะกลับไปตั้งคำถามนี้ใหม่อยู่เสมอ สำหรับเขา ศิลปะคือ “บางสิ่งที่ร่างกายมนุษย์ผลิตออกมาโดยธรรมชาติ” เป็นสิ่งที่ เฉพาะตัว สุ่ม และไม่แน่นอน ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างการพัดพัดลมด้วยมือ แต่ละครั้งจะไม่มีทางเหมือนกันเลย ความไม่สามารถวัดได้ด้วยข้อมูลแบบนั้นเอง คือสิ่งที่ AI ไม่อาจแตะต้องได้ และนี่แหละที่เขาเรียกว่าศิลปะครับผมและมันทำให้แต้มคุงกลับมาย้อนคิดเลยว่า ศิลปะมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่แค่ภาพบนผืนผ้าใบ หรือคำบรรยายใต้ภาพที่เราพยายามตีความ แต่มันสามารถล่องลอยอยู่กลางอวกาศ หรือซ่อนอยู่ในลายเส้นของอักษรที่เรามองข้ามไปทุกวันนั่นเองครับ คำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัว สิ่งที่ Xu Bing พยายามทำผ่านนิทรรศการนี้คือการชวนให้เรา "ตั้งคำถาม" ไม่ใช่เพื่อหาคำตอบเสมอไปครับ แต่เพื่อให้เรา คิดต่อ จากสิ่งที่เห็น เหมือนชื่อของนิทรรศการนั่นแหละ “Where There is a question, There is…” มีคำถามเมื่อไร ก็จะมีบางสิ่งตามมาเสมอ อาจจะเป็นคำตอบ อาจจะเป็นความคิดใหม่ หรืออาจจะเป็นคำถามอีกข้อหนึ่งครับผม นิทรรศการนี้เหมาะกับคุณผู้อ่านที่อยากลองเปิดใจให้กับศิลปะที่ไม่ธรรมดา อยากมองภาพวาด ตัวอักษร และเทคโนโลยีด้วยมุมใหม่ๆ เพราะที่นี่ไม่ได้แค่โชว์ผลงาน แต่พาเราเดินทางผ่านมุมมองตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงความเป็นไปได้ในอนาคตของศิลปะครับ และบางทีคุณผู้อ่านอาจได้คำตอบของคำถามที่ว่า “ศิลปะคืออะไร?” หรืออาจจะได้ คำถามใหม่ ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นกลับบ้านไปด้วยก็ได้นะครับผม หากคุณผู้อ่านมีโอกาสได้มาเยือนเฉิงตู อย่าลืมแวะไปชมงานนี้กันนะครับผม เดินช้าๆ ดูช้าๆ แล้วตั้งคำถามไปด้วยกันครับ เพราะที่นี่มีคำถาม ก็มีคำตอบรออยู่เสมอ ไม่แน่ว่า คำตอบของคุณ อาจแตกต่างจากของใครๆ และนั่นแหละครับ คือเสน่ห์ของศิลปะ สามารถเข้าไปรับชมได้ฟรีครับ โดยสามารถค้นหาสถานที่ 成都天府美术馆 (Chengdu Tianfu Art Museum) ได้เลยครับ https://maps.app.goo.gl/KeaLN1NG2ppjQGdT7 นอกจากนี้ คุณผู้อ่านก็สามารถมาพูดคุยกันได้ในช่อง “แสดงความคิดเห็น” ได้เลยนะครับ แต้มเอง เป็นพื้นที่ในการเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจที่แต้มได้ไปเจอมา ทั้งสถานที่ อาหาร การใช้ชีวิต และเรื่องราวการเรียนอีกสารพัด ฝากกดติดตามด้วยนะครับ เครดิต รูปภาพหน้าปก / รูปภาพประกอบบทความ - แต้มเอง(ผู้เขียน) ฝากติดตาม · แต้มเอง อ่านบทความอื่นๆ บน TrueID Creator เข้าร่วม Community กับ แต้มเอง อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !