รีเซต

ประวัติ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ เมืองการเกษตร แห่งบางปะกง

ประวัติ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ เมืองการเกษตร แห่งบางปะกง
SummerB
30 มิถุนายน 2564 ( 18:00 )
17K

      พอพูดถึง ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ แล้วหลายคนอาจลืมนึกถึง ฉะเชิงเทรา หนึ่งในจังหวัดที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองกรุงที่สุด แถมการเดินทางก็แสนจะง่ายดาย เพียงหนึ่งชั่วโมงก็ถึงแล้ว นอกจากนี้ยังมีที่เที่ยวเชิงเกษตร และที่เที่ยวเชิงวัฒนธรรมอยู่หลายแห่งที่น่าสนใจ และบอกเล่าถึง ประวัติ อันยาวนานของ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เป็นอย่างดี ถ้าพร้อมแล้ว เราลองไปดูกันเลยว่าจังหวัดนี้มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

 

เปิด ประวัติ ฉะเชิงเทรา เมืองแห่งการเพาะปลูก ใกล้กรุงเทพ

 

ภูมิประเทศ จังหวัดฉะเชิงเทรา

 

     ฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกของประเทศไทยรองจาก จังหวัดจันทรบุรี ด้วยพื้นที่กว่า 5,000 ตารางกิโลเมตร หรือถ้าตีเป็นไร่ก็คือประมาณ 3 ล้านกว่าไร่เลยทีเดียว และเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม จึงทำให้พื้นดินในแถบนี้ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกและทำการเกษตร เช่น นากุ้ง สวนผลไม้และนาข้าว เป็นต้น แต่ในพื้นที่บางส่วนก็จะเป็นบริเวณของป่าและเทือกเขาซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้กัน ทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร สัตว์ป่าหายาก รวมถึง แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำสายหลักที่จะไหลลงสู่แหล่งเพาะปลูก ก่อนเข้าสู่ทะเลอ่าวไทย อีกทั้งพื้นที่บางส่วนของจังหวัดตั้งอยู่ใกล้กับทะเล จึงทำให้มีป่าชายเลนที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ขึ้นอยู่ตามจุดต่างๆ เช่นเดียวกันค่ะ 

 

 

     นอกจากนี้อีกฟากหนึ่งของจังหวัดยังมีบริเวณในเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสิ่งก่อสร้างทันสมัย เช่น ตึก อาคาร วัดวาอาราม และโรงงานต่างๆ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เรียกได้ว่า ฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดที่มีธรรมชาติอันหลากหลายและมีเนื้อที่กว้างใหญ่ไม่น้อยเลยทีเดียวค่ะ



จังหวัดฉะเชิงเทรา ยุคก่อนพุทธกาล

 

     แม้จะไม่มีการระบุแน่ชัดว่าประวัติศาสตร์ของ ฉะเชิงเทรา เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ใด แต่จากการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์และเครื่องประดับสำริดจากแหล่งโบราณคดี โคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เขตที่เคยอยู่ในการปกครองของฉะเชิงเทรา ก็สันนิษฐานได้ว่าอารยธรรมโบราณในเขตของ ฉะเชิงเทรา นั้นมีอายุกว่า 5,000 ปีมาแล้ว พอมาถึงช่วงต้นพุทธกาล แถบภูมิภาคนี้ยังไม่มีการรวบรวมเป็นอาณาจักรที่มีราชธานีใดเป็นศูนย์รวมการปกครอง มีเพียงการแบ่งเป็นแว่นแคว้น หรือ นครรัฐเล็กๆ เท่านั้น แต่เนื่องจากมีพื้นที่ซึ่งติดทั้งฝั่งทะเล จึงมีการการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมกับชาวโพ้นทะเลอยู่มาก รวมทั้งสามารถติดต่อค้าขายกับฝั่งแผ่นดินใหญ่อย่างกัมพูชาได้อีกด้วย จึงทำให้อารยธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเจริญรุ่งเรืองไม่น้อย



จังหวัดฉะเชิงเทรา สมัยกรุงศรีอยุธยา

 

 

     บันทึกหน้าประวัติศาสตร์ของ ฉะเชิงเทรา เริ่มขึ้นอย่างแท้จริงเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวเมืองชั้นใน หรือเมืองจัตวาในแผ่นดินของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ (พ.ศ. 1991-2031) จนกระทั่งมาถึงสมัยของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมืองฉะเชิงเทราก็เป็นหนึ่งในเมืองที่มีบทบาทสำคัญในการยกทัพทำศึกกับเมืองละแวก เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับเขตแดนของเขมร ที่นี่จึงเป็นขุมกำลังและเสบียงสำคัญในการสู้รบครั้งนี้ค่ะ

     ต่อมาในช่วงเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 กองทัพของ พระยากำแพงเพชร (ตำแห่งเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ได้ถูกทหารพม่าตามมาดักที่บริเวณ ปากน้ำเจ้าโล้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองฉะเชิงเทรา จึงเกิดการปะทะกันขึ้น พระยากำแพงเพชรเล็งเห็นว่าชัยภูมินี้เหมาะแก่การทำสงครามกองโจร จึงสามารถตีทัพพม่าจนแตกพ่ายได้ หลังจากนั้นก็ใช้เส้นทางผ่านเมืองฉะเชิงเทราเข้าไปโจมตีกองทัพพม่าที่ กรุงธนบุรี และตีค่ายโพธิ์สามต้น ซึ่งเป็นค่ายใหญ่ของพม่าที่กรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ จึงสามารถกอบกู้เอกราชคืนกลับมาได้ในที่สุด



จังหวัดฉะเชิงเทรา สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

 

YuenSiuTien / Shutterstock.com

 

     ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ฉะเชิงเทรา ได้รับบทบาทใหม่ในฐานะเมืองหน้าด่าน ในช่วงสงคราม อานามสยามยุทธ ระหว่างไทยกับญวน จึงได้มีการสร้างกำแพงเมืองที่ บ้านท่าไข่ แขวงเมืองฉะเชิงเทราที่ตั้งอยู่ชิดกับลำน้ำบางปะกง จึงสามารถป้องกันเมืองหลวงให้พ้นภัยจากข้าศึก โดยสงครามนี้ดำเนินไปประมาณ 1 ปี ไทยก็สามารถพิชิตข้าศึกจากญวนและเขมรได้สำเร็จ

     เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ก็ได้เกิดการพัฒนาประเทศมากมาย รวมถึงได้รับอิทธิพลและวัฒนธรรมตะวันตกมาไม่น้อย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่เข้าสู่ยุคล่าอนานิคมในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้อย่างเต็มรูปแบบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้นำการปกครองแบบเทศาภิบาลขึ้นมาใช่เพื่อรวบรวมเมืองต่างๆ ให้กลายเป็นมณฑล เพื่อสร้างให้ประเทศไทยมีความเป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันการตกเป็นเมืองขึ้นของชาวตะวันตก เมืองฉะเชิงเทราจึงได้รวมเข้ากับ เมืองปราจีนบุรี นครนายก พนมสารคาม เมืองพนัสนิคม เมืองชลบุรี และเมืองบางละมุงเข้าด้วยกันจนเป็น มณฑลปราจีน จนกระทั่งปี พ.ศ.2475 ระบบเทศาภิบาลก็ได้ยุติลง เมืองต่างๆ ก็ได้เกิดการรวบรวมใหม่จนกลายมาเป็นรูปแบบจังหวัดจนถึงปัจจุบัน



ที่มาของชื่อ จังหวัดฉะเชิงเทรา

 

 

     ที่มาของชื่อ ฉะเชิงเทรา อาจมาจากภาษาเขมร “สตึงเตรง” หรือ “ฉทรึงเทรา” ที่แปลว่า แม่น้ำลึก หรือ คลองลึก เพราะในสมัยโบราณ ผู้คนอาจเรียกแม่น้ำบางปะกงว่า คลองลึก หรือ คลองใหญ่ จนเพี้ยนกลายเป็น ฉะเชิงเทรา อย่างที่เรียกกันปัจจุบันก็เป็นได้ แต่เมืองนี้ก็มีอีกชื่อหนึ่ง ซึ่งก็คือ แปดริ้ว โดยมีการสันนิษฐานที่มาของชื่อถึงสองทางด้วยเช่น อย่างแรกคือ เนื่องจากที่นี่เป็นแหล่งปลาช่อนชุกชุม แถมตัวโตจนสามารถนำมาแร่ได้ถึง 8 ริ้ว จึงกลายเป็นชื่อ เมืองแปดริ้ว นับแต่นั้น แต่อีกกระแสก็ได้อ้างอิงถึงนิทานพื้นบ้านเรื่อง พระรถเมรี ว่ามียักษ์ฆ่านางสิบสองแล้วชำแหละศพออกเป็นชิ้น ๆ รวมแปดริ้ว จากนั้นก็ทิ้งลอยไปตามลำน้ำท่าลาด ฟังแล้วก็ดูเป็นที่มาที่น่าสยดสยองน่าดู แต่นี่เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้นค่ะ 



คำขวัญ จังหวัดฉะเชิงเทรา

 

“แม่น้ำบางปะกงแหล่งชีวิต พระศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโสธร พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย อ่างฤๅไนป่าสมบูรณ์”

 

 

ที่เที่ยวที่น่าสนใจ จังหวัดฉะเชิงเทรา

 

Worrathanawat / Shutterstock.com

 

 

     ความจริงแล้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นที่ตั้งของวัดดังมากมาย โดยเฉพาะ วัดโสธรวรารามวรวิหาร ที่เปรียบเสมือนเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทุกคน เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานของ หลวงพ่อโสธร พระพุทธรูปหล่อสำริดปางสมาธิที่สวยงามมาก จึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองฉะเชิงเทรามาจนถึงปัจจุบันค่ะ นอกจากนี้ก็ยังมีวัดสวยๆ อีกหลายแห่ง เช่น วัดปากน้ำโจ้โล้ ที่ตั้งของพระอุโบสถสีทองสุดวิจิตรตระการตา วัดโพรงอากาศ วัดสมานรัตนาราม ที่ประดิษฐานองค์พระพิฆเนศที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย วัดบางปรงธรรมโชติการาม และวัดหงษ์ทอง เป็นต้น

 

jack_photo / Shutterstock.com

 

     นอกจากวัดวาอารามแล้ว ฉะเชิงเทรา ยังมีที่เที่ยวเชิงเกษตรที่เหมาะแก่การไปพักผ่อนหย่อนใจ ชมวิวท้องไร่ท้องนา และศึกษาวิถีการเกษตร เช่น มินิมูร่าห์ ฟาร์ม (Mini Murrah Farm) ฟาร์มควายนมเชิงท่องเที่ยวแห่งเดียวในประเทศไทย บ้านสวน เมล่อน พิกัดสำหรับคนรักรสชาติหอมหวานของเมล่อนทุกคน และ สวนปาล์มฟาร์มนก ฟาร์มนกแก้วหลากสีที่น้องๆ หนูๆ ไม่ควรพลาดมาชม และถ่ายรูปสวยๆ ค่ะ

 

 

Pongsak14 / Shutterstock.com

 

 

     ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ฉะเชิงเทรา ยังมีตลาดเก่าแก่ที่ยังคงกลิ่นอายของวิถีชีวิตของชุมชนในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็น ตลาดเก่าคลองสวน 100 ปี ตลาดน้ำวัดบางกระเจ็ด และ ตลาดบ้านใหม่ร้อยปี เมืองแปดริ้ว ให้ทุกคนได้ไปช็อปปิ้งของอร่อย และสัมผัสบรรยากาศสุดวินเทจราวกับได้ย้อนเวลากลับไปในอดีตเลยค่ะ

 

Credit :

 

 

ตามติดเทรนด์เที่ยว อัพเดทที่พักสวย
แชร์ทริปสุดชิล โพสต์ภาพสุดปัง ของคุณได้แล้วที่ แอปทรูไอดี
คลิกเลย >> TrueID Travel Community <<