สถานีรถไฟบ้านปินเป็นสถานีรถไฟประจำตำบลบ้านปิน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เปิดเดินรถครั้งแรกวันที่ 15 มิถุนายน 2457 เป็นการสร้างทางรถไฟสายเหนือ ระยะทาง 13 กิโลเมตร ระหว่างห้วยแม่ต้า - บ้านปิน โดยมีพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเป็นผู้บัญชาการ มีนายช่าง เอ มิล ไอเซนโฮเฟอร์ ผู้ควบคุมการก่อสร้างชาวเยอรมัน สถานีรถไฟบ้านปิน เป็นสถานีรถไฟแห่งเดียวในประเทศไทยที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมบาวาเรียนทิมเบอร์เฟรมเฮาส์ หรือแบบโครงไม้ แบบเดียวกับที่ได้รับความนิยมในแคว้นบาวาเรียน ประเทศเยอรมนีผสมกับสถาปัตยกรรมแบบไทย ก็คือ เรือนปั้นหยา สถานีรถไฟบ้านปินสวยงามขนาดไหน ผู้เขียนขอพาทุก ๆ ท่านไปชมกันค่ะ เริ่มต้นที่ด้านหน้าสถานีรถไฟบ้านปินจะมีมุมถ่ายรูปน่ารักให้นักท่องเที่ยวแวะมาถ่ายรูป ถัดมาจะเจอกับหอประแจ หรือหอพม่า ที่เรียกเช่นนี้เพราะสร้างตามแบบอย่างของพม่าค่ะ หอนี้จะใช้ในการติดต่อสื่อสารเมื่อสมัยก่อนแต่ปัจจุบันเลิกใช้งานแล้ว ด้านข้างของสถานีจะมีหอเติมน้ำสำหรับรถจักรไอน้ำ ปัจจุบันก็เลิกใช้งานแล้วแต่ก็ยังคงรูปแบบตามเดิมและมีการทาสีใหม่ให้ดูสวยงาม นี่คืออาคารสถานีรถไฟสไตล์เฟรมเฮาส์ บาวาเรีย ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย อาคารยังดูสวยงามมากค่ะ แม้จะสร้างมาร้อยกว่าปีแล้ว ตัวอาคารมี 2 ชั้น ตัวอาคารประกอบด้วยไม้ หลังคาจั่วและปั้นหยา ตัวอาคารทาสีด้วยสีเหลืองตัดกับสีน้ำตาล หน้าต่างโค้งมีลายฉลุสวยงาม อาคารห้องประชุมสวยงามมากค่ะ ภายในจะมีการจัดแสดงภาพของสถานีบ้านปินตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภาพพระประวัติของพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บังคับบัญชาการรถไฟแห่งสยาม รวมถึงตัวอย่างลายผ้าซิ่นตีนจกของอำเภอลองด้วยค่ะ จุดช่องจำหน่ายตั๋วประดับด้วยไม้สักฉลุลายพรรณพฤกษาที่สวยงามก็เป็นของดั้งเดิมตั้งแต่สร้างสถานีบ้านปินค่ะ จุดนี้คือบ้านพักของพนักงานการรถไฟค่ะ เครื่องชั่งประจำสถานี อายุก็พอ ๆ กับสถานีแต่ยังใช้การได้ดีค่ะ (ผู้เขียนลองชั่งดูยังใช้งานได้ค่ะ) สถานีรถไฟบ้านปินทำให้ผู้เขียนได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติและความเป็นมาของสถานีรถไฟบ้านปินและได้ชมความสวยงามสถานีบ้านปินได้เห็นอาคารสถานีรถไฟสไตล์เฟรมเฮาส์ บาวาเรียที่ผู้เขียนต้องบอกว่าสวยงามมากค่ะ หากใครมีโอกาสมาจังหวัดแพร่ลองแวะมาสัมผัสความสวยงามกันดูนะคะ สถานีรถไฟบ้านปินอยู่ห่างจากถนน 1023 สายแพร่ - ลอง 1 กิโลเมตรและห่างตัวเมืองแพร่ประมาณ 45 กิโลเมตร เครดิตภาพ : ภาพถ่ายโดยผู้เขียน