พื้นที่ชายแดนใต้ มีเรื่องให้ชวนว้าว! หลายอย่างเลยล่ะ ไม่ว่าจะเป็นต้นสมพงยักษ์หลายคนโอบ หรือฝูงนกเงือกนับร้อยพากันเกาะกิ่งกินลูกไทรที่ต้นเดียวกัน เป็นต้น และนี่เลย พระเอกของ EP. กบยักษ์ แห่งป่าฮาลาบาลา กบยักษ์ มีเรียกหลายชื่อ “กบภูเขา” ก็เรียก “กบทูด” “เขียดแลว” ก็เรียก มีหลายนามอย่างนี้ แน่นอนว่า สามารถพบได้ทั่วไปในป่าดิบ แต่นั่นแหละ ป่าดิบในไทยแทบจะสุกจนเกรียมไปมากแล้ว ทำให้เมื่อมีภาพกบภูเขาปรากฏ จึงเกิดความตื่นเต้น เพราะกบชนิดนี้ มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 0.5 กิโลกรัม ไปจนถึง 5 กิโลกรัมเลยทีเดียว ใหญ่กว่ากบนา หรือกบเลี้ยงในฟาร์มหลายเท่า ซ้ำเนื้อยังแน่น อร่อย เนื่องจากอาศัยในป่าดิบ และภูเขา ต้องออกแรงเป็นนิจ สาเหตุที่เรา ไม่ค่อยได้เห็นกบภูเขาเหล่านี้บ่อย เพราะพวกมันชอบความชื้น หากอากาศแห้งจะทำให้ผิวหนังแห้งตามไปด้วย เมื่อผิวไร้น้ำไร้นวลมันก็จะตายในที่สุด ฉะนั้นหากป่าไม่สมบูรณ์จริงๆ ก็ยากจะเป็นพื้นที่อาศัยของพวกมัน แต่ถ้าคุณได้มาเยือน อ.เบตง จ.ยะลา สามารถ เซย์ไฮ กับกบภูเขาได้ เพราะพื้นที่ของป่าฮาลาบาลาอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง และชาวบ้านมักออกล่า จับมันมาขายอยู่เนืองๆ วันที่ผู้เขียนไปใช้บริการล่องเรือชมธรรมชาติ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 อ.ธารโต จ.ยะลา ขณะลงเรือ ได้ยินคนขับเอ่ยว่า ต้องรีบกลับไปนำกบภูเขาส่งตลาด ได้ยินเพียงนั้น จึงรีบบอก ‘ขอตามไปด้วย’ เพราะตัวเองก็ไม่ค่อยได้เจอเจ้ากบยักษ์ชนิดนี้บ่อยนัก กบภูเขาถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจในพื้นที่ เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งไทย และมาเลเซีย ตอนที่เขียนเล่าเรื่องนี้ ราคาขายส่ง ตกอยู่ที่ 300 บาท ต่อกิโลกรัม แต่พวกมันถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองครับ ‘สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้’ คือ ถึงคุ้มครองก็ยังสามารถเพาะพันธุ์เพื่อการค้าได้ ประมาณนั้น กบภูเขานอกจากขนาดใหญ่กว่ากบทั่วไปแล้ว ตัวผู้ยังมีเขี้ยวอีกด้วย แต่ไม่ต้องกลัวมันจะกระโดดงับคอหรอกครับ ถึงแม้จะออกหากินตอนกลางคืนก็เถอะ เพราะพวกมันกินไส้เดือน ตัวอ่อนแมลง ลูกกุ้ง ลูกปลา เป็นอาหาร หลังจากเซลฟี่กับกบภูเขา ชนิดที่อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าแอบจุมพิตสักฟอด มันจะกลายเป็น เจ้าหญิงกบไหมนะ แฮ่! ผู้เขียนก็กลับมาค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน กรมประมงมีโครงการขยายพันธุ์และสนับสนุนเกษตรกรให้เลี้ยงจำหน่ายด้วย แต่ไม่ได้ขิงนะครับ ความตื่นเต้นในรูปสัมผัสนั้น ยังไงก็ต้องยกให้ กบภูเขาของ อ.เบตง เขาล่ะ ถึงกระนั้นก็อยากให้มีการอนุรักษ์ขยายพันธุ์ งดล่าจากธรรมชาติ เพราะมิเช่นนั้น ต้องสูญพันธุ์เข้าสักวัน ต่อให้มันจะออกไข่ครั้งละ 700 – 1,500 ฟองก็เถอะ สามารถอ่านเรื่องน่าเที่ยวของ จ.ยะลา ได้จากบทความเหล่านี้ของผู้เขียนครับ เที่ยวสุขใจ ชายแดนใต้ EP.4 อร่อยปลากระโดด หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 เมนูพื้นบ้านแต่เด็ดดวง เที่ยวสุขใจ ชายแดนใต้ EP.2 ยักษ์เจ้าถิ่น ใจดี ทวารบาลนาม “พ่อท่านเจ้าเขา” วัดหน้าถ้ำ ยะลา ขดพญานาคดำสระแก้ว แห่งเมืองยะลา เปิดความพร้อมเบตง น่าเที่ยวมาก (ยิ่งขึ้น) รีวิวมินิบัส หาดใหญ่ - สนามบิน สะดวกราคาประหยัด แท็กซี่เบนซ์ การโดยสารสุดคลาสสิก ชายแดนใต้ อ้างอิงภาพ ภาพประกอบทั้งหมดโดย Anusorn Srikhamkhwan ช่องทางติดตามอื่นๆ Facebook Youtube อัปเดตบทความท่องเที่ยวตามสถานที่อันหลากหลาย โหลดเลยที่ App TrueID ฟรี !