รีเซต

เที่ยว มะละกา รู้จัก ชาวเปอรานากัน บ้าบ๋า-ย่าหยา ที่มาเลเซีย

เที่ยว มะละกา รู้จัก ชาวเปอรานากัน บ้าบ๋า-ย่าหยา ที่มาเลเซีย
เอิงเอย
28 กันยายน 2558 ( 05:07 )
6.9K

      มะละกา เป็นเมืองท่าสำคัญของ มาเลเซีย ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 600 ปี ในฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าระหว่างตะวันออก และตะวันตกบนช่องแคบมะละกาค่ะ ที่นี่จึงเป็นที่รวมของพ่อค้าจากหลากหลายเชื้อชาติมากมาย มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย จึงไม่แปลกที่เสน่ห์แห่งโลกตะวันตกและตะวันออก มารวมตัวกันอยู่อย่างหนาแน่น ณ ที่นี่ค่ะ ความน่าค้นหานี้ทำให้เราอดใจไม่ได้ที่จะไปเยี่ยมเยียนที่นี่สักครั้ง ว่าแล้ว ตามเราไปสัมผัสกับเมืองมะละกา รู้จัก ชาวเปอรานากัน หรือ บ้าบ๋า-ย่าหยา กันค่ะ  

 


 

     อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้มะละกาในทุกวันนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เปี่ยมไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมที่สวยงามก็เพราะในอดีตที่นี่เคยอยู่ใต้อิทธิพลของโปรตุเกส ดัตช์ และอังกฤษนานกว่าครึ่งศตวรรษนั่นเองค่ะ ทำให้สิ่งที่หลงเหลือจากอดีตยังคงมีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นอาคารเก่าแก่ที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันตกกับตะวันออกของโปรตุเกส ดัตช์ และมาเลย์ และอาคารเหล่านี้ได้รับการยกย่องให้เป็นนครประวัติศาสตร์บนช่องแคบมะละกาจากองค์การยูเนสโกในปี ค.ศ. 2008 อีกด้วย

 


 

     เอ่ยถึงชาวเปอรานากัน กันบ้างค่ะ คนที่พอคุ้นเคยคงจะพอรู้จักกันอยู่ในชื่อว่า “บ้าบ๋า-ย่าหยา” จากซีรีส์ฮิตทางจอแก้ว ที่เป็นคำเรียกชายหญิงในกลุ่มคน “ลูกครึ่งจีน–มลายู” นั่นเอง ในยุคที่ชาวจีนล่องเรือมาค้าขายกับชาวต่างถิ่นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน กระทั่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานบนด้ามขวานทองไปจรดปลายแหลมมลายู นีเองจึงเป็นจุดกำเนิดของชาวเปอรานากัน และชาวเปอรานากันแท้ๆ นั้นต้องสืบเชื้อสายมาจากชาวจีน และคนของปลายแหลมมลายูเท่านั้นค่ะ 

มะละกา มาเลเซีย

 

     ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งที่เป็นตัวบ่งบอกถึงความเป็นคนเปอรานากันของมะละกา คงหนีไม่พ้นเรื่องอาหารที่มีแห่งเดียวในโลกนี้เท่านั้น ก็คือ อาหารเปอรานากัน ค่ะ และคนที่นั่นเรียกกันว่า “เลิฟ ฟู้ด” (Love Foods) ฟังดูโรแมนติกใช่ไหมล่ะคะ เพราะเมืองนี้เลยมีคนสองสัญชาติ คือเคนจีนไม่กินเนื้อ และคนมลายูที่ไม่กินหมู แต่ทั้งสองวัฒนธรรม สองศาสนา ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่มีปัญหา จึงกลายเป็นที่มาของอาหารแห่งความรักนั่นเอง หรือ อาหารเปอรานากันค่ะ เพราะเมื่อสาวจีนต้องแต่งงานกับหนุ่มมลายู หรือสาวมลายูต้องแต่งงานกับหนุ่มจีน จะอยู่จะกินกันได้ ทั้งสองฝ่ายก็เลยคิดค้นเมนูอาหารขึ้นมาร่วมกันนั่นเอง 

     อาหารเปอรานากัน นี้จึงเป็นอาหารที่ไม่มีทั้งเนื้อหมู และไม่มีทั้งเนื้อวัว บทสรุปทั้งหลายจึงมาลงที่กินอาหารซีฟู้ด อาหารทะเลประเภท กุ้ง หอย ปู ปลาแทน แล้วก็ขยายไปถึงสิงคโปร์ จนถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ของบ้านเราค่ะ

 

มะละกา มาเลเซีย 

 

     นอกจากความน่าสนใจในวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างจีนมลายูแล้ว การเดินชมเมือง เดินเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั้ง ดัทช์สแควร์ อดีตย่านที่อยู่ของชาวฮอลันดา อาคารสตัดฮิวส์ น้ำพุวิคตอเรีย โบสถ์คริสต์ หรือวิวสวยๆ ของช่องแคบมะละกาจากเนินเขาเซนต์ปอล แวะไปสักการะรูปปั้นนักบุญเซนต์ฟรานซิสซาเวียร์อันศักดิ์สิทธิ์ ที่วิหารเซนต์ปอล ชมป้อมปืนใหญ่ เอฟาโมซา หนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองมะละกา การล่องเรือแม่น้ำมะละกา หรือชมเมืองด้วยรถสามล้อที่มีเสน่ห์เอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทั้งสีสัน การตกแต่งด้วยสารพัดดอกไม้ และเสียงเพลงที่เปิดดังลั่นถนนตอนพานักท่องเที่ยวชมเมืองถือเป็นอีกสีสันหนึ่งของการมาเที่ยวที่นี่อีกด้วย

 

 

     ในย่านถนนยองเกอร์ สตรีท ก็เป็นไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดที่มะละกา ร้านค้าเรียงรายกันในบรรยากาศที่ผสมผสานกลิ่นอายของอดีต และยุคสมัยใหม่มีเสน่ห์ดึงดูดใจ รวมไปถึง ในยามค่ำคืนถนนสายนี้จะเปลี่ยนเป็นถนนคนเดิน เป็นสีสันในการได้มาเที่ยวที่นี่ค่ะ  

รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/friendofmalaysia

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และภาพจาก การท่องเที่ยวมาเลเซีย ประจำประเทศไทย