เทคนิคจัดเป้ฉุกเฉินสไตล์ญี่ปุ่น Bousai Bag กระเป๋าเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ

พูดถึงเรื่องภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด สิ่งที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมากก็คือ กระเป๋าเป้ฉุกเฉิน หรือ Bousai Bag (防災バッグ) ซึ่งเปรียบเสมือนกล่องเครื่องมือที่พร้อมจะหยิบคว้า และวิ่งหนีได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ชาวญี่ปุ่นมองว่ากระเป๋าใบนี้เป็นเหมือนหลักประกันความปลอดภัยขั้นพื้นฐานสำหรับชีวิตเลยก็ว่าได้ การเตรียมการเลยไม่ใช่แค่การยัดของลงไปสุ่มๆ แต่เป็นการวางแผนอย่างรอบคอบ มีหลักการ และมีรายละเอียดที่น่าสนใจครับ
เทคนิคจัดเป้ฉุกเฉินสไตล์ญี่ปุ่น Bousai Bag
กระเป๋าเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ
ทำไมต้องมีเป้ฉุกเฉิน?
ลองจินตนาการว่าไฟฟ้าดับทั้งเมือง การสื่อสารล่ม ขาดแคลนน้ำ และอาหาร การจะรอความช่วยเหลือจากภาครัฐอาจต้องใช้เวลาหลายวัน เป้ฉุกเฉินจึงถูกออกแบบมาเพื่อให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างน้อย 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงเวลาวิกฤตที่สุดหลังเกิดภัยพิบัติ ชาวญี่ปุ่นจึงเรียกว่า Bousai Bag (防災バッグ) โบไซแบ็ก หมายถึง กระเป๋าเป้ฉุกเฉินสำหรับรับมือภัยพิบัติ นั่นเอง
หลักการจัดกระเป๋าแบบญี่ปุ่น : พกแค่สิ่งที่จำเป็นที่สุด
การจัดกระเป๋าฉุกเฉินของคนญี่ปุ่นจะเน้นที่ความกะทัดรัด น้ำหนักเบา และหยิบใช้งานได้ง่าย สิ่งของแต่ละชิ้นถูกคัดสรรมาอย่างดี และถูกจัดเป็นหมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา
หมวดที่ 1: สิ่งของยังชีพ
- น้ำดื่ม อย่างน้อย 500 มล. จำนวน 4 ขวด
- อาหารที่เพียงพอสำหรับ 1 วัน (3 มื้อ) อาหารกระป๋องที่กินได้ทันที (แบบไม่ต้องอุ่น) หรืออาหารพลังงานสูงอื่นๆ ควรเลือกแบบที่เก็บได้นาน
- อาหารกินเล่น เครื่องดื่มเยลลี่ ขนมปังกรอบ อาหารแห้งอัดแท่ง
- ยารักษาโรค ยาประจำตัว ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ชุดช้อน-ส้อมแบบพับได้
หมวดที่ 2: สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน
- ของใช้ในห้องน้ำ
- ม้วนกระดาษชำระ (เอาแกนออกเพื่อให้ขนาดเล็กลง)
- ผ้าเช็ดตัว
- น้ำยาบ้วนปาก ชุดแปรงสีฟัน
- กระดาษเปียกสำหรับเช็ดตัว เช็ดก้น
- ถุงพลาสติกไว้ห่อสิ่งต่างๆ
หมวดที่ 3: สิ่งที่ต้องใช้ในการรวบรวมข้อมูล
- ไฟฉาย แบบชาร์จด้วยมือหมุน (ไม่ต้องใช้ถ่าน) หรือแบบพกพาขนาดเล็กพร้อมถ่านสำรอง
- วิทยุพกพา พร้อมถ่านสำรอง เพื่อรับฟังข่าวสาร และคำแนะนำจากทางการ ถ้าเป็นแบบที่ใช้มือหมุนเพื่อชาร์จได้ยิ่งดี
- แบตเตอรี่สำรอง (Power Bank)
- นกหวีด สำหรับส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
- มีดอเนกประสงค์
- ถุงมือสำหรับหนีภัย
- เสื้อกันฝน
- หน้ากาก เจลล้างมือ
หมวดที่ 4: สิ่งที่เราไม่อยากให้หาย (เก็บในถุงซิปล็อกกันน้ำ)
- สำเนาใบขับขี่ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาหนังสือเดินทาง
- รูปครอบครัวพร้อมข้อมูลติดต่อ
- เก็บเงินสดไว้ในถุงแบนๆ ที่สามารถเก็บไว้ข้างในเสื้อผ้าได้
หมวดที่ 5: สิ่งของอื่นๆ ที่อาจจำเป็นสำหรับครอบครัว
- เสื้อผ้าสำรองอย่างน้อย 1 ชุด (เลือกแบบที่แห้งง่าย)
- ผ้าอ้อม นม อาหารทารก สำเนาสมุดแม่ และเด็ก
- ของใช้จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ
เคล็ดลับ ในการจัดเป้ฉุกเฉิน
- ใส่ของมีค่า (เงิน เอกสารส่วนตัว) ไว้ข้างในสุดของเป้ ไว้ในที่ที่หยิบออกมายาก
- การจัดกระเป๋า ให้เริ่มจากใส่ของเบาๆ เช่นผ้าเช็ดตัว เสื้อคลุม ถุงพลาสติก หน้ากาก และอื่นๆ ลงไปในกระเป๋าก่อน ต่อมา วางของใช้ในห้องน้ำไว้เป็นลำดับต่อมา หรือที่ที่หยิบใช้ได้ง่าย แล้วเอาของหนักๆ เช่น ขวดน้ำ อาหาร ไว้ตรงที่จะอยู่ใกล้หลังของเรา จะช่วยให้รู้สึกว่าเวลาแบกกระเป๋าจะเบาขึ้น
- ถ้าในกระเป๋ามีพื้นที่เหลือ ใส่เสื้อผ้าเข้าไปเพิ่มได้ หรืออาจจะเป็นน้ำอีกขวด อาหารอีกที่ เป็นต้น อย่าลืมพิจารณาเรื่องน้ำหนักให้ดี ต้องแน่ใจว่าเราหิ้วไหว
- ตำแหน่งในการเก็บกระเป๋าฉุกเฉิน ให้เก็บในตู้ที่อยู่ใกล้ทางเข้าบ้าน เช่น ตู้รองเท้า หรือวางในตำแหน่งที่อยู่ใกล้ประตูทางออกวางโดยหันสายสะพายไว้ด้านหน้า เพื่อจะได้หยิบง่าย
เคล็ดลับเพิ่มเติมจากชาวญี่ปุ่น
- จัดให้เป็นชุดสำเร็จรูป : นอกจากเป้ใหญ่แล้ว ชาวญี่ปุ่นมักจะจัดชุดเล็กอีกชุดไว้ในรถยนต์หรือที่ทำงาน เพื่อพร้อมใช้งานได้ทันทีไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นที่ไหน
- หมั่นตรวจสอบ และอัปเดต : ควรนำเป้ออกมาตรวจสอบวันหมดอายุของอาหาร และยาอย่างน้อยปีละครั้ง หรือทุกครั้งที่ฤดูกาลเปลี่ยน เพื่อให้ของในกระเป๋ายังคงใช้งานได้จริง
- ทำสมุดบันทึกฉุกเฉิน : ใส่ข้อมูลสำคัญ เช่น เบอร์โทรฉุกเฉินของคนในครอบครัว แผนที่จุดนัดพบ หรือข้อมูลทางการแพทย์ส่วนตัว เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเอง และคนอื่นได้หากโทรศัพท์ใช้การไม่ได้
การเตรียมเป้ฉุกเฉินไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่เป็นเรื่องที่สะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อตัวเอง และคนในครอบครัว และเตือนใจเสมอว่าเราพร้อมที่จะรับมือกับทุกสถานการณ์ ไม่ใช่แค่การไปเที่ยวในที่สวยงาม แต่คือการเดินทางในชีวิตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การจัดเตรียมกระเป๋าใบนี้จึงไม่ได้ให้แค่ “ความพร้อม” แต่ยังมอบ “ความอุ่นใจ” ที่ประเมินค่าไม่ได้อีกด้วย
====================