ที่เที่ยวบุรีรัมย์ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เยือน ปราสาทหินพนมรุ้ง อารยธรรมขอมโบราณ
ที่ท่องเที่ยวสำคัญประจำจังหวัด บุรีรัมย์ ที่ไม่ว่าใครไปเยือนก็ต้องนึกถึง และยังเป็นสัญลักษณ์ของสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีกด้วย นั่นก็คือ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง นั่นเองค่ะ นอกจากความสวยงาม เก่าแก่ของที่นี่ น่าอัศจรรยย์ใมากๆ เพราะในทุกๆ ปี จะมีช่วงวันที่พระอาทิตย์ขึ้น ส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บานพอดี เป็นภาพที่งดงาม น่าประทับใจ จนครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมาเห็นด้วยตาตัวเองให้ได้เลยทีเดียว
ที่เที่ยวบุรีรัมย์ ปราสาทหินพนมรุ้ง
ปราสาทขอมโบราณ หลายร้อยปี
ปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่ภายใน อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ซึ่งเป็นศาสนสถานโบราณบนยอดภูเขาไฟที่ดับแล้วค่ะ บริเวณที่ตั้งของปราสาทพนมรุ้งอาจเคยเป็นที่ตั้งของศาสนสถานพื้นถิ่นมาก่อนที่จะมีการก่อสร้างขึ้นเป็นปราสาท
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง แห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ซึ่งสันนิษฐานว่าก่อสร้างหลายยุคสมัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15-18 ทำให้มีความงดงามในด้านของสถาปัตยกรรมแบบขอมโบราณค่ะ ต้องบอกว่าถ้าเดินชมไป ฟังเรื่องราวของสถานที่ไป ภายในวันเดียวเที่ยวไม่ทั่วจริงๆ ค่ะ เพราะมีประวัติและเรื่องราวน่าสนใจมากมายจริงๆ
หากใครได้ไปเยือนจังหวัดบุรีรัมย์ เราแนะให้ลองไปเดินเที่ยวชมกันนะคะ เพราะด้วยเนื้อที่ที่กว้างขวาง และมีสิ่งสวยงามในอดีตที่ยังคงอยู่ให้เราชม พร้อมกับประติมากรรมชื่อดัง หนึ่งเดียวในโลกอย่าง ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ อีกด้วย
isarescheewin / Shutterstock.com
ปราฏการณ์แสงอาทิตย์ลอดผ่านประตู
CGN089 / Shutterstock.com
ปรากฎการณ์ธรรมชาติที่แสงอาทิตย์จะลอดผ่านประตูทั้ง 15 บานพอดีที่ปราสาทหินพนมรุ้งนั้น จะเกิดทุกๆ ปี ปีละ 4 ครั้ง ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 5-7 มีนาคม, 3-5 เมษายน, 8-10 กันยายน และ 5-7 ตุลาคม ค่ะ ทำให้เกิด งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ที่จัดขึ้นทุกๆ ปีอีกด้วยค่ะ โดยมีความเชื่อกันว่า การรับแสงอาทิตย์ที่พาดผ่านศิวลึงค์ซึ่งตั้งอยู่กลางปราสาท เป็นการเสริมพลังชีวิต และความเป็นสิริมงคลอีกด้วย
ประวัติปราสาทพนมรุ้ง
ปราสาทหินพนมรุ้งสร้างขึ้นเป็นโบสถ์พราหมณ์ใน ศาสนาฮินดูลัทธิไศวะ ซึ่งนับถือ พระศิวะ เป็นเทพเจ้าสูงสุด ดังนั้นเขาพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือน เขาไกรลาส ที่ประทับของพระศิวะนั่นเองค่ะ โดยสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-17
ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้หันมานับถือ ศาสนาพุทธนิกายมหายาน เทวสถานแห่งนี้ จึงได้รับการดัดแปลงเป็น วัดมหายาน
ชื่อ "ปราสาทพนมรุ้ง" เป็นชื่อดั้งเดิมของโบราณสถานแห่งนี้ คำว่า "พนมรุ้ง" ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ที่พบที่ปราสาทแห่งนี้จารึกพนมรุ้ง หลักที่ 2 หลักที่ 4 และ K10900 จารึกว่า พนมรุ้งเป็นชื่อเทวสถาน ที่มีขอบเขตกว้างขวาง มีที่ดิน หมู่บ้าน เมือง ปราสาทแห่งนี้รู้จักกันครั้งแรก ตามที่มีเอกสารที่มีการกล่าวถึงคือ บันทึก ของ Etienne Aymonier ชาวฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2428 ตีพิมพ์เป็นบทความใน พ.ศ.2445
ขึ้นทะเบียนโบราณสถานของไทย
BaLL LunLa / Shutterstock.com
ปี พ.ศ.2449 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาที่ ปราสาทพนมรุ้ง คราวเสด็จมณฑลอีสานและเสด็จอีกครั้งในปี พ.ศ.2472 กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพนมรุ้งเป็นโบราณสถานของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 และปี พ.ศ.2503-2504 ได้ดำเนินการสำรวจปราสาทพนมรุ้งอีกครั้ง
ต่อมาใน พ.ศ. 2514 ได้เริ่มดำเนินการบูรณะปราสาทพนมรุ้งด้วยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis คือ การนำชิ้นส่วนของปราสาทกลับเข้าสู่ตำแหน่างเดิม) เปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2531 โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน ค่ะ
การเดินทางไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
โดยรถยนต์ส่วนบุคคล เดินทางได้ 2 เส้นทางจากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ดังนี้ค่ะ
- เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 218 (บุรีรัมย์-นางรอง) ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (สีคิ้ว-อุบลราชธานี) ไปจนถึงหมู่บ้านตะโก ประมาณ 14 กิโลเมตร แล้วจึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ผ่านบ้านตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติอีกประมาณ 12 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งค่ะ
- เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 (บุรีรัมย์-ประโคนชัย) ระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร ถึงตัวอำเภอประโคนชัย จะเห็นทางแยกที่จะไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ใช้เวลาเดินทางอีกประมาณ 21 กิโลเมตร โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2075 และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งค่ะ
เดินทางโดยใช้บริการรถโดยสารจากขนส่งบุรีรัมย์
- ขึ้นรถโดยสารสายบุรีรัมย์-จันทบุรี พอถึงที่หมู่บ้านตะโก แล้วลงจากรถ จากนั้นจะมีรถสองแถววิ่งไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือสะดวกนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ได้ค่ะ
รถประจำทาง
- รถโดยสารจากกรุงเทพฯ – เขาพนมรุ้ง ลงที่เชิงเขาแล้วต่อรถสองแถวขึ้นปราสาท
- รถสายบุรีรัมย์ – นางรอง ลงสถานีนางรองแล้วต่อรถสองแถว
ข้อมูล อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
- ที่อยู่ : อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
- พิกัด : https://g.page/Panomrung?share
- เปิดให้เข้าชม : 07.00-18.00 น.
- ค่าเข้าชม : ชาวไทย 20 บาท / ชาวต่างชาติ 100 บาท / สำหรับรถยนต์ 50 บาท
- โทร : 0-4466-6251
- เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/Ensemble.of.Phanom.Rung
ที่เที่ยวบุรีรัมย์ ที่น่าสนใจอื่นๆ
- 12 ที่เที่ยวบุรีรัมย์ เที่ยวอีสาน ม่วนหลาย สไตล์แซ่บนัว
- ไหว้พระ 9 วัด บุรีรัมย์ ทำบุญสร้างกุศล ณ แดนอีสาน
- ที่เที่ยวบุรีรัมย์ เมืองสตึก บ้านเกิด ลิซ่า BLACKPINK บลิ้งค์ไทย ต้องตามไปเที่ยวแล้ว
ตามติดเทรนด์เที่ยว อัพเดทที่พักสวย
แชร์ทริปสุดชิล โพสต์ภาพสุดปัง ของคุณได้แล้วที่ แอปทรูไอดี
คลิกเลย >> TrueID Travel Community <<