เมืองเวสาลี (อินเดีย) เป็นเมืองที่สำคัญในประวัติพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ปรากฏในพระสูตรมากมาย มีรัตนสูตรเป็นต้น ซึ่งรัตนสูตรนี้เองนับว่าเป็นจุดต้นกำเนิดการทำน้ำพระพุทธมนต์ อีกทั้งเมืองนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการบวชภิกษุณีสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงจำพรรษาสุดท้ายและปลงพระชนมายุสังขารก่อนดับขันธปรินิพพานอีกด้วย ผู้เขียนจึงขอพาไปชมสถานที่สำคัญในเมืองเวสาลีที่มีเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในอดีต ว่าตอนที่ผู้เขียนเดินทางมาถึงมีสภาพเป็นอย่างไรรัตนสูตร ในประวัติพระพุทธศาสนา กล่าวถึงการเสร็จเมืองกรุงเวสาลีและทรงแสดง “รัตนสูตร”ไว้ ซึ่งผู้เขียนขอเล่าโดยสรุปคือ สมัยนั้น เมืองเวสาลีเกิดภัยและความเดือดร้อนหลายประการคือ ภัยเกิดจากความอดอยากเพราะฝนแล้ง ภัยเกิดจากอมนุษย์หลอกหลอนประชาชน และภัยเกิดจากโรคระบาดคืออหิวาตกโรค พระพุทธองค์ได้เสด็จมาที่นี่ ทรงแสดง “รัตนสูตร” แก่พระอานนท์ และรับสั่งให้พระอานนท์เรียนพระสูตรนี้และนำไปสวดทั่วทั้งพระนคร จากนั้นพระอานนท์ก็ถือบาตรศิลาของพระพุทธเจ้า พร้อมสวดสาธยายพระสูตรนี้ ประพรมน้ำในบาตรนั้นไปทั่วพระนครดังนี้แล้ว จากนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงรัตนสูตรและเมื่อจบพระธรรมเทศนา การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่สัตว์แปดหมื่นสี่พัน ภัยทั้งปวงแห่งเมืองเวสาลีก็ได้อันตรธานหายไปสิ้น เนื้อหาโดยสรุปในรัตนสูตรกล่าวถึงคุณแห่งพระรัตนตรัยวัดป่ามหาวัน ในอดีตสถานที่นี้เป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาประทับเป็นประจำเมื่อเสด็จมาที่เมืองเวสาลี นอกจากนั้น วัดนี้ยังเป็นที่กำเนิดภิกษุณีสงฆ์เป็นครั้งแรก ณ กูฏาคารศาลา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมี และบริวารบวชเป็นภิกษุณีสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ตอนที่ผู้เขียนเดินทางมาถึง ได้พบสถูปเก่าแก่ประดิษฐานอยู่ และมีเสาอโศกตั้งอยู่ ซึ่งเสาอโศกเสานี้นับว่ามีความสมบูรณ์และสวยงามที่สุดเสาหนึ่ง ซึ่งยังคงตั้งตระหง่านเหนือกาลเวลากว่าสองพันปีมาแล้ว ผู้เขียนเดินทางมาอินเดียก็หลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้มาเยือนเมืองนี้เลย การมาครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มาที่เมืองเวสาลี และนับว่าเป็นบุญตาจริงๆ ที่ได้มาเห็นเสาอโศกที่มีความสมบูรณ์เช่นนี้ด้วยตาของตนเองเสาอโศก ขอเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับเสาอโศกโดยย่อ พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จไปยังสถานสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าเพื่อน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณ พระองค์มีพระราชศรัทธาและพระราชดำริให้สร้างเสาหินขึ้นเพื่อถวายเป็นราชสักการะบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อระบุสถานที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา นับได้ว่ามีคุณูปการการอย่างยิ่งต่ออนุชนรุ่นหลัง ทำให้มีหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ที่สามารถยืนยันสถานที่สำคัญในพระพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจน กล่าวได้ว่า พระเจ้าอโศกมหาราชและคณะคือนักแสวงบุญกลุ่มแรก ที่เสด็จแสวงบุญด้วยพระราชศรัทธาไปกราบไหว้บูชาสถานที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนา จนถึงทุกวันนี้ จึงมีผู้แสวงบุญเดินทางไปในสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนามากมาย กล่าวได้ว่า พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นต้นแบบในการเดินทางแสวงบุญนั่นเองพระสถูปปาวาลเจดีย์ ในพุทธประวัติ กล่าวถึง พระพุทธเจ้าได้ทรงจำพรรษาสุดท้ายที่เวฬุวคาม ซึ่งอยู่ชานเมืองเวสาลีและได้ทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์ หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และได้เผยแผ่พระธรรมคำสอนเป็นระยะเวลา 45 ปี พระองค์ทรงปลงมายุสังขาร คือตั้งพระทัยว่า “ต่อแต่นี้ไปอีก 3 เดือน เราจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน” ซึ่งวันนั้นตรงกับวันมาฆบูชาในปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุ 80 พรรษา เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว หลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว กษัตริย์ลิจฉวีแห่งเมืองเวสาลีได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ จึงทรงให้สร้างสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่นี่ ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุได้ถูกนำไปประดิษฐานไว้ในพิพิธภัณฑ์ปัตนะ ตอนที่ผู้เขียนเดินทางมาถึง ได้พบโบราณสถานเก่าแก่ เหลือเพียงส่วนฐานขององค์สถูปปรากฏให้เห็นโครงสร้างรูปทรงกลม โบราณสถานนี้ถูกมุงครอบด้วยโดมสังกะสีสีเขียวภาพปกและภาพประกอบทั้งหมด โดยผู้เขียนบทความพิกัดจาก google maps วัดป่ามหาวันและเสาอโศก และ พระสถูปปาวาลเจดีย์แชร์ที่เที่ยวใหม่ๆ ไม่ว่าจะเที่ยวสายไหนก็มาแวะแชร์กับทรูไอดีคอมมูนิตี้ “เที่ยวไปให้สุด”