สวัสดีเจ้า ทริปนี้จะพาทุกคนมาแอ่วเมืองเหนือชมวัดงามโบราณแบบล้านนาแต้ๆกันนะเจ้า วัดนี้อาจเคยผ่านตาของทุกคนหลายครั้งหลายหนกันมาแล้วในละครดังแนวพีเรียตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น รอยไหม เพลิงพระนาง รากนครา กลิ่นกาสะลอง โห๊ะ! ดูจากชื่อละครแล้ว ต้องขอบอกว่าวัดนี้ไม่ธรรมดาแน่นอนเจ้า จะต้องมีความพิเศษโดดเด่นมากจึงถูกใช้เป็นฉากถ่ายละครหลายครั้งหลายหน วัดที่จะพาทุกคนมาชมแบบย้อนรอยไปในวารวันนี้ คือ วัดต้นเกว๋น หรือ วัดอินทราวาส อยู่ที่ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่นั่นเอง ไปชมกันเลยเจ้า วัดต้นเกว๋น หรือ วัดอินทราวาส ตั้งอยู่ที่ ซอย 3 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ (ใกล้กับอุทยานหลวงราชพฤกษ์เลย) วัดต้นเกว๋นเป็นวัดเก่าแก่ที่มีลักษณะงดงาม บรรยากาศภายในวัดร่มรื่นแวดล้อมไปด้วยต้นตาลดูขลังแบบโบราณมากเลยทุกคน ต้นตาลสูงใหญ่มากๆคงปลูกมาเนินนานแล้ว บรรยากาศวัดโบราณกับมีต้นตาลใหญ่ๆแวดล้อมแบบนี้ ทำให้วัดต้นเกว๋นมีสเน่ห์แบบล้านนาโบราณแท้ๆ ไม่แปลกใจที่ถูกใช้เป็นฉากถ่ายละครหลายครั้งหลายหนนะ สถาปัตยกรรมในวัดต้นเกว๋น เล่าลือกันว่าเป็นสุดยอดของสถาปัตยกรรมล้านนาที่งดงามสมบูรณ์ที่สุด การันตีความงามวิจิตรของสถาปัยกรรมวัดนี้ได้จากการที่สมาคมสถาปนิกสยามประกาศให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นเมื่อปี พ.ศ. 2532 นั้นเองเจ้า วัดแบบล้านนาดั่งเดิม มีมนต์เสน่ห์ของสถาปัตยกรรมล้านนาที่ได้ชื่อว่า ร่ำรวยไปด้วยความปราณีตงดงามเจ้า เพราะในอดีตเมืองเชียงใหม่ หรือนพบุรีศรีนครพิงค์นี้เคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา ที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม เป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด เชียงใหม่เป็นดินแดนที่สืบทอดความยาวนานทางวัฒนธรรมมากว่า 700 ปี ทำให้มีความมั่นคงทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งวิถีชีวิต ภาษา และศิลปกรรม โดยเฉพาะทางด้านสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เด่นชัดกว่าศิลปกรรมด้านอื่น ร่องรอยของอดีตกาลนี้ยังปรากฏให้เราเห็นมาจนถึงปัจจุบัน สะท้อนมาในความงดงามของสถาปัตยกรรมของวัดต่างๆในเชียงใหม่นั่นเอง มีมากมายหลายวัดเลยที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากมาย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบล้านนา วัดต้นแกว๋น เป็นวัดสำคัญและเป็นวัดเดียวในล้านนาที่มีการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมสมัยเก่าแก่งดงามเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นที่สุด สามารถเก็บสิ่งก่อสร้างเดิมที่เป็นส่วนสำคัญไว้ได้หมดแม้จะผ่านการบูรณะมาแล้วก็ตาม ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมล้านนาแบบโบราณของวัด มีความสมบูรณ์ที่สุดและเป็นแบบล้านนาแท้ๆที่มีความงดงามวิจิตรมาก อายุอานามวัดก็ไม่ใช่น้อยนะทุกคน เก่าแก่กว่าร้อยปีเลยทีเดียวถือได้ว่าเป็นวัดที่งดงามเหนือกาลเวลาจริงๆ ประวัติของวัด วัดต้นเกว๋น มีอายุที่ผ่านกลาวเวลามาเป็นร้อยปีแล้วนะ สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2399-2412 สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เป็นเจ้าหลวงปกครองนครเชียงใหม่ ที่มาของของชื่อวัดต้นเกว๋น มาจากต้นเกว๋น” หรือ “ต้นมะเกว๋น” เป็นคำเมืองล้านนาที่ใช้เรียก “ต้นตะขบป่า” ซึ่งมีอยู่ภายในวัด จึงได้ชื่อวัดครั้งแรกว่า “วัดต้นเกว๋น” ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดอินทราวาส” มาจากชื่อของเจ้าอาวาสที่สร้างวัดผสมกับคำว่าเจ้าอาวาส (อินทร์ + อาวาส) ปัจจุบันวัดนี้ไม่มีพระจำพรรษานะทุกคน เข้าไปในวัดอย่าแปลกใจว่าทำไมฉันไม่เห็นตุ๊เจ้าสักองค์เลย ถึงไม่มีพระจำวัด แต่วัดนี้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษาสภาพแวดล้อมให้สวยงามอยู่เสมอ ที่แปลกและแตกต่างจากวัดอื่นที่พบในประเทศไทยเพียงไม่กี่วัดอีกอย่าง คือ วัดนี้ไม่มีองค์พระเจดีย์หรือที่คนล้านนาเรียกว่า พระธาตุ เพราะเป็นวัดที่สร้างขึ้นเป็นกรณีพิเศษเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่แห่มาจากพระธาตุศรีจอมทองนั้นเอง ความสำคัญของวัด ตามที่กล่าวมาข้างบนว่า วัดต้นเกว๋น เป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของขบวนช้าง ขบวนม้า จากขบวนพระบรมธาตุศรีจอมทองมาที่นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ซึ่งในอดีตถือเป็นประเพณีของเจ้าหลวงเชียงใหม่ที่ต้องอัญเชิญขบวนมาในทุกปี และวัดต้นเกว๋นเป็นวัดที่กระบวนแห่ฯ ต้องแวะพักประดิษฐาน พระธาตุ ณ ศาลาจตุรมุขนี้ เนื่องจากในอดีตการเดินทางต้องใช้เวลานาน เพราะการคมนาคมยังไม่สะดวก กระบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ จึงต้องหยุดพักที่ศาลาจตุรมุข และถือโอกาสให้ชาวบ้านในละแวกนี้ได้สักการะ สรงน้ำสมโภชองค์พระธาตุกัน ก่อนที่จะอัญเชิญพระบรมธาตุไปประทับยังวัดสวนดอกและวัดพระธาตุดอยสุเทพไปตามลำดับ ปัจจุบันประเพณีนี้ไม่มีแล้วจ้า จะจัดขึ้นในโอกาสครบรอบสถาปนาเวียงเชียงใหม่ตามวาระเท่านั้นที่เป็นโอกาสพิเศษจริงๆ พิธีแห่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในพ.ศ. 2559 ในโอกาสครบรอบ 720 ปี 60 รอบนักษัตรสถาปนาเวียงเชียงใหม่จ้า เอกลักษณ์และความงดงามวิจิตร ที่ถูกกล่าวถึงกันมาก คือ โครงสร้างของศาลาจตุมุข และวิหารแบบล้านนา ที่สร้างด้วยเครื่องไม้ โดยใช้ระบบเสาและคานในการรับน้ำหนัก โครงสร้างที่ถ่ายทอดน้ำหนักแบบนี้เรียกว่า ทางเหนือจะเรียกว่า ระบบม้าต่างไหม เราจะพบเห็นได้ทั่วไปในวัดเชียงใหม่ จัดป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของศิลปะล้านนาที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่น่าภูมิใจ มณฑปแบบจตุรมุข สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัด มณฑปแบบจตุรมุขหรือศาลาจตุรมุขที่พบภายในวัดเป็นศิลปกรรมล้านนา จากที่เล่ามาในข้างบนแล้วว่าในอดีตสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประดิษฐานพระบรมธาตุชั่วคราว มณฑปแบบจตุรมุขนี้เราพบเพียงหลังเดียวเท่านั้นในภาคเหนือเลยนะ หาดูยากมาก กรมศิลฯถูกใจสิ่งนี้ ศาลาจตุรมุขเป็นศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมล้านนาแบบโบราณที่กล่าวกันว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดและเป็นแบบล้านนาแท้ๆด้วย สร้างด้วยไม้และมุงกระเบื้องดินขอเผาแบบล้านนาโบราณที่เป็นเอกลักษณ์มาก กระเบื้องที่เราเห็นในภาพนั้นแหละเขาเรียกกระเบื้องดินขอจ้า ลักษณะจะเป็นกระเบื้องแบบโบราณแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าปั้นด้วยดินเหนียวแล้วเอามาเผาไฟ เป็นแผ่นเล็กๆปลายตัดเรียงซ้อนกัน กระเบื้องแบบนี้ดูแลยากพอสมควรนะ บางปีที่พายุเข้าเชียงใหม่กระเบื้องบนหลังคาจะถูกพายุพัดตกหล่นเสียหายต้องคอยบูรณะซ่อมแซมกันตลอด และกระเบื้องเก่าแบบนี้ทำยากด้วยไม่มีผลิตแล้ว ทางวัดต้องหาซื้อดินเก่ามาใช้ การจ้างช่างทำก็ต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษถึงจะอนุรักษ์หลังคาแบบนี้ไว้ได้ ในส่วนบนของหลังคาจะมีช่อฟ้าและหงส์ประดับอยู่เหนือราวหลังคา ช่อฟ้าของหลังคาหลังนี้ช่างโบราณได้ออกแบบให้ดูเหมือนเป็นนกที่มาเกาะอยู่บนหลังคาได้อย่างลงตัวเลย เก่งจังเนาะคนโบราณช่างทำ ส่วนลักษณะของศาลาเป็นศาลามีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ที่กลางสันหลังคาจะมีซุ้มมณฑปเล็ก ๆ ทางภาคเหนือเราเรียกซุ้มแบบนี้ว่า "ปราสาทเฟื้อง" รูปแบบของปราสาทเฟื้องเป็นการจำลองคติจักรวาล เขาพระสุเมรุ ที่มักจะปรากฎในศิลปทางล้านนาเป็นส่วนใหญ่ มณฑปแบบจตุรมุขนี้จึงเป็นศาลาไม้ที่ทรงคุณค่ามากเพราะสะท้อนความงามที่ช่างล้านนาโบราณได้สร้างสรรค์ขึ้นมา วิหารทรงพื้นเมืองล้านนา วิหารของวัดต้นเกว๋นก็มีความวิจิตรงดงามมากไม่แพ้วัดใดในล้านนาเลย โดยเฉพาะทรวดทรงของวิหารและลวดลายแกะสลักไม้ที่ประดับตกแต่งวิหารที่มีความอ้อนช้อยสวยงาม วิหารหลังนี้สร้างขึ้นจากไม้ทั้งหลัง ส่วนตัวฐานวิหารจะมีการเทปูนเพื่อรองรับตัวไม้ ลักษณะของวิหารด้านหน้าเป็นหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น และด้านหลังซ้อน 2 ชั้นเป็นเอกลักษณ์การสร้างแบบล้านนา ราวบันไดที่ทอดสู่ตัววิหารเป็นประติมากรรมประดับรูปมกรคายนาคที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นนาคมีหงอนและมีเกล็ด ด้านหน้าวิหาร บริเวณหน้าบันจะประดับตกแต่งด้วยการแกะสลักลาย โครงสร้างภายในเปิดให้เห็นหลังคาซึ่งมุงด้วยกระเบื้องดินขอ โครงสร้างของหลังคาเป็นงานฝีมือที่มีความประณีตและพิถีพิถัน เป็นโครงสร้างไม้แบบม้าต่างไหม มีบันทึกอักษรไทยยวน(ตั๋วเมือง) ที่เพดานที่ระบุวันที่สร้างพระวิหารไว้ เชื่อกันว่าพระวิหารถูกสร้างขึ้นในพ.ศ. 2401 และมีการปั้นลวดลายปูนปั้นที่หน้าแหนบพร้อมกันด้วย ถ้าดูจากช่วงเวลาการสร้างแล้วตัววิหารคงถูกสร้างขึ้นหลังจากศาลาจตุรมุขนะ ศาลาจตุรมุขน่าจะมีอายุเก่าแก่กว่าแต่ช่วงอายุคงไม่ห่างกันมาก เดินมาด้านหน้าวิหาร ลองชมลวดลายแกะสลักไม้ที่ทำโดยช่างฝีมือล้านนากัน ลวดลายอ่อนช้อยสวยงามมากกกกก จะตกแต่งด้วยไม้แกะสลักลวดลายเครือดอก โดยเฉพาะส่วนปลายของปั้นลมซึ่งแกะสลักเป็นรูป มกรคายนาค ลําตัวนาคและนมนาคเป็นลวดลายเครือดอก ประดับด้วยกระจกสีอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันลายละเอียดบางชิ้นได้หลุด และผุหายไปตามกาลเวลาบางแล้ว เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ล้วนเป็นสัจธรรมของทุกสิ่งจริงๆ ก่อนเข้าไปภายในวิหาร เราจะพบราหูอมจันทร์ประจำประตูวิหาร คนล้านนามีความเชื่อกันว่า ราหูมีหน้าที่คอยปกปักรักษาและป้องกันภยันตรายให้กับวิหารและผู้อยู่ภายในวิหาร จึงติดราหูไว้ที่หน้าประตูวิหาร มาดูโครงสร้างของวิหารกัน ภายในวิหารเป็นโครงสร้างเสาและคานมีผนังปิดล้อมโดยรอบ ส่วนฐานก่ออิฐฉาบ ปูน เสาทั้งหมดเป็นเสาไม้มีลวดลายวิจิตรแบบลายคำ ลายคำนี้ เป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมแบบล้านนาเลยจ้า คือ การลงรักปิดทองคำเปลวให้มีลวดลายสีทองบนพื้นสีแดงหรือพื้นสีดำนั้นเอง จุดเด่นของวิหารนี้อีกอย่างคือ การสร้างนั้นอาศัยการเข้าเดือยโดยไม่ใช่ตะปูแม้แต่เพียงดอกเดียว เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่นมากค่ะ คนสมัยโบราณเก่งจังเนาะ ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยให้เราได้ไหว้สาบูชากัน พระประธานในวิหารไม้ประดิษฐานอยู่บนชุกชีเป็นลายรูปปั้นดอกกูดสวยงามแบบล้านนา และจากความงดงามของวิหารนี้ ได้เป็นแรงบันดาลใจให้สถาปนิกใช้เป็นต้นแบบในการออกแบบหอคำหลวง ซึ่งตั้งอยู่กลางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เชียงใหม่ที่ใครมาแล้วมักไปเช๊คอินกันนั้นเอง พาชมวัดต้นเกว๋นกันจุใจแล้ว เป็นวัดที่ยังคงอัตลักษณ์แห่งความงามวิจิตรโบราณแบบล้านนาไว้ได้แบบสมบูรณ์มากเลยนะทุกคน ความเก่าแก่ทรงคุณค่าเช่นนี้ ใครมาเที่ยวเชียงใหม่ควรแวะมาทำบุญและเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณแท้ๆกันนะเจ้า นำชุดพื้นเมืองมาใส่ถ่ายรูปก็เข้ากับบรรยากาศ จะได้มีรูปสวยๆแบบย้อนไปในวารวันเก็บไว้เป็นที่ระลึก แถมยังได้ฟินเหมือนได้ตามรอยละครเรื่องดังหลายเรื่องให้เก็บไว้เป็นความทรงจำดีๆด้วย ขอมงคลทั้งหลายจงบังเกิดแก่ทุกท่านที่รับชมทริปเจ้า 30 วัดสวยในไทย ไปเที่ยว ไหว้พระ และ ทำบุญ ถ่ายรูปสวยๆ Unseen Thailand Cr. ภาพทั้งหมดจากผู้เขียน ข้อมูลบางส่วนนำมาจาก Readme.me จาก ไปแอ่วกัน Funtrip เป็นคนเดียวกับผู้เขียนค่ะ ขอบขอบคุณข้อมูลวัดบางส่วนจาก www.topchiangmai.com/trip/วัดต้นเกว๋น-อินทราวาส/ ขอขอบคุณข้อมูลสถาปัตยกรรมวัดต้นเกว๋น จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://cmuir.cmu.ac.th/bitstream/6653943832/20642/9/arc30355pp_app.pdf เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !