“กาดกองเก่า” หรือที่รู้จักกันว่า “ถนนสายวัฒนธรรมเมืองแพร่” ตั้งอยู่ที่ถนนคำลือ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ สำหรับใครที่ยังนึกไม่ออก ก็ต้องบอกว่า อยู่แถวๆ “บ้านวงศ์บุรี” หรือ “วัดพระนอน” นั่นเองค่ะ ภาพถ่ายโดยนักเขียน กาดกองเก่า เป็นชื่อภาษาเหนือ โดยคำว่า “กาด” เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ตลาด และ “กอง” แปลว่า ถนน ซึ่งรวมกันก็คือ ตลาดบนถนนในบรรยากาศเก่าๆ นั่นเอง ตัวกาดจะมีทุกวันเสาร์ โดยเริ่มตั้งแต่ 4 โมง ยาวไปถึงประมาณ 2 ทุ่ม โดยคนจะเยอะในช่วงแดดร่มลมตก คือประมาณ 6 โมงเย็น บางคนก็เรียกว่าเป็นคนถนนคนเดิน บางคนก็เรียกกาด เพราะเป็นที่ที่ให้ความรู้สึกทั้งเป็นถนนคนเดินที่ขายของทั่วไป และเป็นกาด ที่พ่อค้าแม่ขาย ล้วนแต่เป็นคนในชุมชน อีกทั้งยังแต่งกายด้วยเสื้อหม้อห้อมอันเป็นเสื้อเอกลักษณ์ของแพร่ ให้บรรยากาศเป็นกันเอง ภาพถ่ายโดยนักเขียน ภาพถ่ายโดยนักเขียน ลักษณะเด่นของถนนสายนี้คือ จะเป็นเส้นย่านเมืองเก่า ที่มีบ้านไม้แบบสมัยก่อนซึ่งมีคนอาศัยอยู่จริงๆ เรียงรายยาวไปทั้งถนน มีการจัดแสดงภาพถ่าย เรื่องราวของเมืองแพร่เป็นบางครั้ง ให้นักท่องเที่ยวสามารถได้ไปเรียนรู้ มีมุมถ่ายรูปให้ถ่ายภาพเช็กอิน ความจริงถนนเส้นนี้เป็นที่ตั้งของกาด 2 กาดติดกันคือ กาดกองเก่าและกาดพระนอน เมื่อมาเที่ยวก็สามารถเดินยาวไปได้เลยทั้งสองกาด ภาพถ่ายโดยนักเขียน ภาพถ่ายโดยนักเขียน ภาพถ่ายโดยนักเขียน ภาพถ่ายโดยนักเขียน สินค้าที่ขายภายในกาด จะเป็นมีเอกลักษณ์เด่นคือ เป็นอาหารพื้นเมือง หากินได้เฉพาะในภาคเหนือ และจังหวัดแพร่ เช่น ไข่ป่าม กล้วยส้มปิ้ง ข้าวพัน ห่อนึ่งไก่ ต้ม ผัด แกง ทอด ขนมพื้นบ้านต่างๆ รวมทั้งพืชผักพื้นบ้านตามฤดูกาล สินค้าพื้นเมือง เสื้อผ้า ของที่ระลึก ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่ เช่น ผ้ามัดย้อมคราม เสื้อหม้อห้อม ฯลฯ นักท่องเที่ยวสามารถซื้ออาหารการกิน มานั่งกินที่ตะไม้ที่จัดไว้ให้ พร้อมกับฟังดนตรีพื้นเมืองร่วมสมัยไปเพลินๆได้อีกด้วย ภาพถ่ายโดยนักเขียน หรือหากอยากจะนั่งร้านชิลล์ๆ ก็สามารถทำได้ บ้านไม้ในกาดกองเก่า ต่างก็ปรับเปลี่ยนบ้านของตนเองให้เป็นร้านอาหาร ร้านนั่งชิลล์ ให้คนสามารถมาสั่งอาหารรับประทาน พร้อมกับมองบรรยากาศถนน ผู้คนสัญจรไปด้วยในตัว หากใครได้มีโอกาสมาเที่ยวในจังหวัดแพร่ ในวันเสาร์ ก็อยากให้ลองแบ่งเวลามาเที่ยวกาดกองเก่า มาสัมผัสมนต์เสน่ห์ของถนนเส้นนี้ดู แม้จะเป็นถนนที่ไม่ยาวมาก แต่กลับอันแน่นไปด้วยความน่ารัก และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ไม่มีที่ไหนเหมือนเลยค่ะ เรื่องและภาพ : ชานาพิ้ง