เบื้องหน้าคือโตรกผาและหุบเหวที่ซ้อนเยื้องก่อริ้วรอย ลวดลาย ไกลใกล้ เป็นชั้น ๆ สีเขียว น้ำตาล เหลือง ส้ม เจือผสม บางเบา หนักเข้ม เมื่อกระทบกับแสงที่สาดลงมากลายเป็นเหลือบส้มมลังเมลือง โดยมีท้องฟ้าสีเข้ม และเมฆขาวลอยฟูเป็นฉากหลัง คำว่า Grand ที่ใส่นำหน้า Canyon กลายเป็นชื่อที่ตรงไปตรงมา เพื่อเน้นย้ำว่า โตรกผา และหุบเหวที่นี่ ขนาดความสูง กว้าง ยาว เป็นที่สุดเหนือกว่าที่อื่น จริงไหม ? หากเป็นก่อนหน้าที่จะได้มาสัมผัสสถานที่จริง จินตนาการคำว่า Grand คงหยุดที่ขนาดความใหญ่โต แต่เมื่อมาหยุดอยู่เบื้องหน้า คำว่า “Grand” ครอบคลุมไปไกลเกินกว่าคำว่า ‘ขนาด’ หากเลยไปถึง รูปทรง ริ้วรอย ลวดลาย สีสัน ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก การกัดเซาะของสายน้ำ การพัดเพของสายลมและแสงแดดที่ลูบไล้ยาวนานต่อเนื่องนับล้าน ๆ ปี กลายเป็นผลงานศิลปะที่ไม่มีวันสิ้นสุด ที่สำคัญศิลปินไม่เคยหยุดนิ่งที่จะลงฝีแปรง แม้ขณะที่ยืนมองภาพสร้างสรรค์นั้น ท้องฟ้า แสงแดด กลุ่มเมฆยังแปรเปลี่ยนภาพที่เห็นเบื้องหน้าให้ไม่เหมือนกันสักขณะเวลา คู่รักสูงวัยบนม้าหินในศาลานั่งมองโตรกผากับหุบเหวที่อยู่เบื้องหน้าผ่านกรอบหน้าต่างที่ไร้กระจก ทั้งคู่เบือนหน้าหันมายิ้มให้กับพวกเราที่ดูวุ่นวาย เดินหามุมโน้น มุมนี้ พยายามจะถ่ายภาพให้ได้ดังใจ รอยยิ้มที่สงบนั้นทำให้ฉันชะงักไปชั่วขณะ ... เออ เราควรจะซึมซับกับธรรมชาติเบื้องหน้าหรือเปล่าหนอ แล้วทำไมเราถึงได้วุ่นวายขนาดนี้ ฉันแก้เขินด้วยการทักคู่รักสูงวัยนั้นด้วยคำพูดที่เชยเสียเหลือเกิน “แกรนด์แคนยอนสวยมาก ๆ” “ใช่สวย” คุณลุงกับคุณป้าตอบรับคำทักเราแบบไม่ให้เขิน “เราสองคนนั่งตรงนี้ตั้งแต่เช้าแล้ว ไม่ได้ไปไหนเลย นั่งดูแค่นี้ก็สวยมาก ๆ แล้ว แกรนด์แคนยอนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเลยสังเกตเห็นไหม” เหมือนผู้ใหญ่ปรามเด็ก ๆ ที่ไม่ได้เด็กแล้ว ไม่ให้หยุกหยิก นั่นทำให้หันไปมองภาพโตรกผากับหุบเหวเบื้องหน้าอีกครั้ง เมื่อไม่ขยับตัวเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อเปลี่ยนมุมมอง ภาพหุบเหวกับหน้าผาควรจะเหมือนเดิมกลับไม่ใช่ แสงที่สาดกระทบเปลี่ยนองศาเพียงนิดเดียว มิติของภาพก็แปรเปลี่ยน ท้องฟ้า คลื่นเมฆ และแสง ทำให้แกรนด์แคนยอนไม่เหมือนกันสักขณะเวลา คนนำทางกิตติมศักดิ์ของเราเคยไปแกรนด์ แคนยอนมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่หนุ่ม ๆ จนสูงวัย กระนั้นเมื่อรู้ว่าเราอยากไปแกรนด์ แคนยอน ความกระตือรือร้นที่จะพาพวกเราไปยังคงล้นเหลือ นั่นเป็นเพราะแม้จะเคยไปมาแล้วหลายครั้งแต่ยังไปไม่ครบทุกจุด ทุกที่ที่อยากไปสักที แม่น้ำโคโลราโดที่เลื้อยไหลกัดเซาะพื้นที่จนกลายเป็นร่องลึก แบ่งพื้นที่ในอุทยานออกเป็นสองฟากฝั่งเหนือ (North Rim) และฝั่งใต้ (South Rim) ระยะห่างระหว่างสองฝั่ง หากขีดเส้นตรง ๆ ประมาณ 16 กิโลเมตร ถ้าใช้คำศัพท์ตามอุทยานจะบอกว่าห่างกันประมาณ16 กิโลเมตรตามระยะการบินของนกเรเวน (Raven) เข้าใจเปรียบ แต่ชอบการเปรียบของเว็บไซต์อีกแห่งที่เปลี่ยนจากนกเรเวนเป็นแร้งแคลิฟอร์เนียมากกว่า นอกจากจะเห็นภาพแล้ว ยังเป็นการโฆษณาทางอ้อมให้รู้ว่าแร้งแคลิฟอร์เนียที่ว่าพบตัวได้ยากเย็นน่ะ พบเจอได้ง่าย ๆ ที่นี่ และ... สมกับการเปรียบเปรยที่นำมาใช้ พวกเราได้เจอแร้งแคลิฟอร์เนียบินวนโชว์ตัวชัด ๆ ที่จุดชมวิวแห่งหนึ่งในอุทยานจริง ๆ การข้ามฟากจากฝั่งเหนือไปฝั่งใต้ที่ห่างกันแค่ 16 กิโลเมตรนั้นน่าจะเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ไม่เป็นแบบนั้น เพราะหุบเหวของแกรนด์ แคนยอนนั้นลงไปลึกชนิดที่บางจุดชะโงกก้มลงไปมองดูแล้วยังหาจุดสิ้นสุดแทบไม่เจอ อีกทั้งความกว้างของขอบเหวของทั้งสองฝั่งเองก็กว้างมากๆ ทำให้วิธีที่สะดวกที่สุด ในการข้ามจากฝั่งเหนือมายังฝั่งใต้ คือการขับรถอ้อมซึ่งต้องใช้เวลาเกือบหนึ่งวันเต็ม ๆ และนั่นเป็นเหตุผลให้คนนำทางกิตติมศักดิ์ของเรา วางแผนที่จะพาเราสำรวจอุทยานแกรนด์แคนยอนสามวัน โดยวันแรกไปทางฝั่งเหนือ วันที่สองและวันที่สามค่อยสำรวจฝั่งใต้ แล้วทำไมเริ่มต้นที่ฝั่งเหนือก่อนล่ะ ? คำตอบเท่ห์ ๆ Cool ๆ คือ โตรกผาด้านนี้สูงกว่าฝั่งใต้ไง...อากาศก็จะปรวนแปรสักหน่อย และเข้าถึงยากกว่า นั่นทำให้ฝั่งเหนือดูลี้ลับ และน่าสนใจ เราขับรถไปตามเส้นทางเรียบขอบผา แวะตามจุดชมวิวต่าง ๆ ตั้งแต่ Point Imperial ที่เป็นจุดชมวิวที่สูงสุดในตัวอุทยาน ที่ระดับความสูง 2,684 เมตร จากระดับน้ำทะเล แวะพักปิคนิคทานอาหารที่จุดพัก Vista Encantada และชมวิวที่ Roosevelt Point ที่ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีธีออดอร์ รูสเวลท์ ที่เป็นผู้ผลักดันให้พื้นที่แกรนด์แคนยอนเป็นอุทยานแห่งชาติ และสุดท้ายแวะที่ Bright Angle Point ที่ทิวทัศน์แปลกตากว่าจุดอื่น เพราะหน้าผาที่สูงชันบริเวณนั้นมีช่องโหว่กว้างละม้ายคล้ายช่องกระจกจนเรียกว่า Angels Window อากาศแปรปรวน เดี๋ยวฝน เดี๋ยวแดด แล้วเดี๋ยวฝนน่ะทั้งกระหน่ำ ทั้งปรอยปราย เมฆ หมอกเลยหยอกเย้ากันสนุก แต่พลันฝนหยุดตก แดดออก ฟ้าแจ่มพรึ่บขึ้นทันที เผยให้เห็นชั้นหินของหน้าผาสูงชันสลับสีตามอายุการทับถมชัดเจน ซึ่งหากเทียบระหว่างฝั่งเหนือกับฝั่งใต้แล้ว ทางฝั่งเหนือจะเห็นลำดับของชั้นหินชัดเจนกว่าทางฝั่งใต้ นั่นคงเป็นเพราะหน้าผาที่ตั้งชันตระหง่านนั้นค่อนข้างชิดติดกับจุดชมวิว แล้วชั้นหินของแกรนด์แคนยอนที่ทับถมน่ะมีด้วยกันถึง 12 ชั้น สีสันสลับกันเหมือนมีคนมาป้ายสี อายุหินระหว่างชั้นห่างกันหลายร้อยล้านปี ขณะที่ชั้นล่างอายุประมาณ 1,840 ล้านปี ชั้นบนสุดอายุอ่อนเยาว์ประมาณแค่ 270 ล้านปีเท่านั้น ระยะเวลาในการสร้างสรรค์ที่ยาวนาน ทำให้ประธานาธิบดีรูสเวลท์เอ่ยถึงที่นี่ไว้ว่า ปล่อยให้กาลเวลาทำหน้าที่ในการสร้างสรรค์ของเขาไปเถอะ มนุษย์อย่างพวกเราไม่ต้องไปยุ่ง เพราะมีแต่จะสร้างความเสียหาย ขอแค่ช่วยกันรักษาไว้เพื่อให้ลูกหลานรุ่นต่อไปได้เห็นผลงานมหัศจรรย์ของธรรมชาติแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว จากฝั่งเหนือ สองวันถัดมาเราจึงสำรวจด้านฝั่งใต้ นักท่องเที่ยวทางฝั่งใต้มีจำนวนมากกว่าฝั่งเหนืออย่างเห็นได้ชัด สิ่งอำนวยความสะดวกนั้นพร้อมพรัน ทั้ง Visitor Center ที่ด้านในจัดนิทรรศการย่อม ๆ ให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ได้อย่างน่าสนใจ ร้านค้า ร้านอาหาร ที่พัก และยังมีรถชัทเทิลให้บริการ 3 สาย นำนักท่องเที่ยวไปยังจุดต่าง ๆ ภายในอุทยานอย่างทั่วถึง ช่วยลดความคับคั่งของการจราจร เราเริ่มการสำรวจฝั่งใต้ด้วยการขับรถชมวิวไปตามเส้นทาง Desert View Drive และขึ้นหอคอยชมวิวที่เป็นจุดชมวิวที่สูงที่สุด หอคอยสร้างขึ้นแบบผสม ๆ เลียนแบบหอคอยของชาวอเมริกันพื้นเมืองกลุ่มต่าง ๆ ในเขตรัฐอริโซนา และ นิวเม็กซิโก การเดินขึ้นหอคอยที่สูงสี่ชั้นนับเป็นการเบรกทัศนียภาพที่คุ้นชินจากวันแรกให้เปลี่ยนเป็นสนุกกับการเดินขึ้นหอคอยที่ตบแต่งด้วยภาพวาดบนฝาผนังเล่าเรื่องราวตำนานความเชื่อ และลวดลายที่ลอกเลียนจากภาพประดับบนข้าวของเครื่องใช้ของแต่ละชนเผ่า จนถึงชั้น 4 ค่อยเป็นจุดชมวิวที่เห็นภาพแกรนด์แคนยอนในมุมที่กว้างกว่าด้านฝั่งเหนือ จากนั้นเปลี่ยนไปใช้บริการรถชัทเทิลของทางอุทยานชมวิวตามเส้นทาง Hermit Road ที่จุดชมวิวแต่ละจุดช่างใกล้กันเหลือเกิน นั่งบนรถชัทเทิลไม่ถึง10 นาทีก็ถึงจุดจอดให้ลงชมวิวแล้ว และไหน ๆ มาแล้วลงมันซะทุกจุดเลยแล้วกัน น่าทึ่งที่ทุกจุดชมวิวทัศนียภาพของแกรนด์แคนยอนด์ในองค์รวมนั้นละม้ายก็จริง หากรายละเอียดมากมายของรูปทรงและชั้นหิน ยังคงสร้างความแปลกตาได้ตลอด ทำให้สิ่งกังขาและชวนกังวลว่าจะเบื่อไหม ถูกปัดตกอย่างไม่ใยดี แกรนด์แคนยอนยังคงเอาเราอยู่ หลังจากชมวิวในหลาย ๆ จุดทางฝั่งใต้ เริ่มแลเห็นความต่างระหว่างสองฟาก ทัศนียภาพด้านฝั่งใต้นั้นแลเห็นหุบเหวและขอบผาในมุมที่กว้างกว่าฝั่งเหนือ เห็นเส้นร่างยาว ๆ ของแม่น้ำโคโลราโดที่ดูเล็กกระจ้อยร่อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับโตรกเขาที่ห้อมล้อม นั่นทำให้จุดชมวิวหลาย ๆ แห่งต้องทำป้ายชี้ชวนให้เห็นแม่ผู้ให้กำเนิดภูมิทัศน์นี้ มิฉะนั้นแล้ว อาจจะไม่ทันเห็นและมองข้ามไป นอกจากป้ายชี้ชวนให้เห็นแล้วยังให้ข้อมูลอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า แม่ที่ตัวเล็ก ๆ แบบนี้ให้กำเนิดทัศนียภาพที่ช่าง Grand อย่างที่เห็นได้อย่างไร ถัดจากแม่น้ำแลเห็นขอบผาจากใกล้ไปจนไกล ซ้อนสลับไปจนสุดขอบท้องฟ้าอีกด้าน ชั้นหินที่ทับถมแม้เห็นไม่ชัดเท่าด้านเหนือ หากเห็นรูปทรงที่หลากหลายกว่า มีทั้งรูปทรงโค้งมนคล้ายโรงละครโบราณยุคกรีกและโรมัน และบางจุดรูปทรงเหมือนวิหารโบราณในอินเดียทำให้นักธรณีวิทยาตั้งชื่อตาม เช่นที่จุดชมวิว Yaki Point มีชั้นหินที่ถูกตั้งชื่อว่าวิหารพระวิษณุ และตรงจุดชมวิวที่ Mohave Point ตั้งชื่อว่าวิหารพระศิวะ 3 วันที่วนเวียนอยู่กับโตรกผาและหุบเหวของแกรนด์แคนยอน ความหนักแน่น และรายละเอียดมากมายของชั้นหิน รูปทรง สีสันที่ก่อร่าง สร้างตนเป็นเวลายาวนานนับล้าน ๆ ปี ชวนให้นึกถึงคำของประธานาธิบดีรูสเวลท์จริง ๆ ... ปล่อยให้กาลเวลาทำหน้าที่ในการสร้างสรรค์ของเขาไปเถอะ มนุษย์อย่างพวกเราไม่ต้องไปยุ่ง เพราะเราไม่มีปัญญาสร้างสรรค์งานอะไรที่มันวิเศษมหัศจรรย์ได้ขนาดนี้ มีแต่จะสร้างความเสียหาย แค่ช่วยกันรักษาไว้ก็เพียงพอแล้ว ภาพประกอบบทความทั้งหมดโดย "วันอาทิตย์" เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !