รีเซต

ลอยกระทง 2565 เชียงใหม่ ประวัติประเพณียี่เป็ง ลอยกระทงแบบชาวล้านนา

ลอยกระทง 2565 เชียงใหม่ ประวัติประเพณียี่เป็ง ลอยกระทงแบบชาวล้านนา
Muzika
15 ตุลาคม 2565 ( 14:10 )
89.7K
1

     ทุกๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับการ ลอยกระทง ในแบบปกติกันดีอยู่แล้ว แต่ถ้าลองไปที่ จังหวัดเชียงใหม่ แล้วล่ะก็ ที่นี่เขาจะมีความพิเศษกว่าที่อื่นๆ ด้วย นั่นคืองาน ประเพณีเดือนยี่เป็ง งานลอยกระทง เชียงใหม่ ที่เราจะเห็นภาพการปล่อยโคมลอยมากมาย นับร้อยนับพันโคมอย่างตื่นตาตื่นใจ

ประวัติประเพณียี่เป็ง หรือ ประเพณีเดือนยี่
ลอยกระทง เชียงใหม่ 

 

     คำว่า ยี่เป็ง เป็นภาษาล้านนา แยกได้สองคำคือคำว่า ยี่ ที่หมายถึงเดือนที่สอง หรือเดือนยี่ตามที่คนล้านนาใช้เรียกเดือนพฤศจิกายนของทุกปี และคำว่า เป็ง ที่หมายถึงพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ โดยจะจัดงานเป็นเวลา 3 วัน ได้แก่

  • วันขึ้น 13 ค่ำหรือ วันดา จะเป็นวันเตรียมข้าวของสำหรับทำบุญที่วัด
  • วันขึ้น 14 ค่ำ จะพากันไปทำบุญ ถือศีล ฟังธรรมกันที่วัด และมีการทำกระทงใหญ่ไว้ที่ลานวัด และนำของกินมาใส่กระทงไว้ เพื่อเป็นการทำทานให้แก่คนยากจน
  • วันขึ้น 15 ค่ำก็จะนำกระทงใหญ่นั้น และกระทงเล็กๆ ส่วนตัวไปลอยในแม่น้ำ

 

puwanai / Shutterstock.com

 

ว่าว หรือโคมลอยในวันยี่เป็ง

 

 

     ปัจจุบันที่เราเรียกกันอย่างคุ้นปากว่า โคมลอย นั้น ชาวล้านนาเขาจะเรียกกันว่า "ว่าว" ครับ ซึ่งว่าวในภาษาล้านนา หมายถึง เครื่องเล่นชนิดหนึ่งทำด้วยกระดาษ สำหรับปล่อยให้ลอยไปตามลม คล้ายกับบอลลูน ตามวัฒนธรรมของล้านนา ในช่วงยี่เป็งจะมีการปล่อยว่าว 2 แบบ คือ

 

  1. ว่าวฮม (ว่าวลม) หรือ ว่าวควัน เป็นรูปแบบของโคมลอยที่เราเห็นกันเป็นปกติ ใช้ควันไฟที่มีความร้อนอัดเข้าไปในตัวว่าว เรียกว่า ฮมควัน เพื่อให้พยุงให้ลอยขึ้นไปในอากาศ มักจะผูกสายประทัดติดที่หางว่าว และจุดเมื่อปล่อย นิยมปล่อยในช่วงกลางวัน ในภาษากลางเรียกว่า "โคมลอย"

  2. ว่าวไฟ ใช้หลักการเดียวกันกับการทำว่าวฮม แต่ใช้กระดาษน้อยกว่า และอาศัยความร้อนจากลูกไฟที่ผูกติดกับแกนกลาง ทำให้ว่าวลอยขึ้นสู่อากาศ ลูกไฟที่ผูกติดแกนกลางในอดีตนั้น ใช้ขี้ย้าหล่อเป็นแท่ง ปัจจุบันนิยมใช้กระดาษชำระชุบขี้ผึ้งเทียน นิยมจุดในตอนกลางคืน ในภาษากลางเรียกว่า "โคมไฟ"

 

    อย่างไรก็ตาม การปล่อยโคมลอยก็ค่อนข้างอันตราย ทางจังหวัดเชียงใหม่จะกำหนด และควบคุมการปล่อยโคมลอยในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้สนามบิน เพื่อไม่ให้โคมลอยเข้าไปติดในเครื่องบิน หรือลอยเข้าไปตกตามชุมชน นอกจากนั้น ควรระมัดระวังในการปล่อยโคมลอยไม่ให้ไฟลุกลามไปโดนวัตถุไวไฟ ต้องมั่นใจว่าโคมที่ปล่อยมีความร้อนมากพอที่จะลอยขึ้นไปได้ จากนั้นปล่อยขึ้นทางตรง ไม่ปล่อยโคมเอียงไปด้านข้างเพราะโคมอาจลอยไปติดต้นไม้ หรืออาคารใกล้เคียงจนเกิดไฟไหม้ได้

 

ล่องสะเปา ลอยกระทงฉบับล้านนา

 

ประเพณียี่เป็ง 2565 เชียงใหม่

 

     สำหรับชาวล้านนาเขาจะมีกระทงในรูปแบบเฉพาะ ที่เรียกว่า สะเปา หรือ ไหลเรือสำเภา (การลอยกระทงนั้นรับมาจากภาคกลางในยุคหลัง) โดยชาวบ้านจะไปทำสะเปาร่วมกันที่วัด เสร็จแล้ววางลงบนแพไม้ไผ่ และนำสะตวง (สิ่งของพิธีกรรมของจาวภาคเหนือล้านนา) พร้อมด้วยข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ส่ลงไปในสะเปา ช่วงหัวค่ำของวันยี่เป็ง จึงพากันหามสะเปาปลอยที่แม่น้ำ เมื่อสะเปาลอยไปได้ระยะหนึ่ง จะมีคนยากจนคอยดักรอสะเปากลางแม่น้ำ เพื่อนำเอาของอุปโภคต่างๆ มาใช้ เป็นการบริจาคทานแบบหนึ่ง

 

     ประเพณียี่เป็งของชาวล้านนานั้น นับว่าอยู่บนฐานความเชื่อเดียวกับประเพณีลอยกระทงในภูมิภาคอื่นๆ วัตถุประสงค์สำคัญคือการขอขมาแม่พระคงคา และบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเองรวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวล้านนาด้วย

 

 

กำหนดการงานประเพณีเดือนยี่เป็ง เชียงใหม่ 2565

 

ประเพณียี่เป็ง 2565 เชียงใหม่ ลอยกระทง

 

     เทศบาลนครเชียงใหม่ เผยกำหนดการ การจัด งานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2565 "ความสุขแห่งสายน้ำ ปิงนครามหานที" ระหว่างวันที่ 7 - 9 พฤศจิกายน 2565 โดยปีนี้ไฮไลท์สำคัญคือการประกวดกระทงใหญ่ชิงถ้วยพระราชทาน ซึ่งจะกลับมาในรูปแบบขบวนแห่รวมกว่า 20 ขบวน

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลนครเชียงใหม่

====================