น้ำของหรือแม่น้ำโขง แม่น้ำนานาชาติสายใหญ่ และมี ความสำคัญอย่างมาก เปรียบดังเส้นเลือดใหญ่ของ 6 ประเทศ ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชาและไหลสู่มหาสมุทรแปซิฟิกที่ประเทศเวียดนาม มีความยาวประมาณ 4,350 กิโลเมตร โดยมีระยะทางความยาวที่ไหลผ่าน ในประเทศลาวโดยประมาณ 1,900 กิโลเมตร ความเร็วของปริมาณน้ำ 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในฤดูแล้ง และความเร็วประมาณ 67,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในฤดูน้ำหลาก แต่หลังจากมีการสร้างเขื่อน ผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศจีนทำให้เกิดกระทบต่อระดับน้ำในประเทศ ร่วมสายน้ำเป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่งเมืองหลวงพระบางเคยถูกกระแสน้ำป่า รวมกับน้ำจากแม่น้ำโขงนี้ท่วมเมื่อปลายปี ค.ศ.1965 หากท่านใดที่ได้ไป เยือนเมืองนี้แล้วแทบจะไม่เชื่อว่าหลวงพระบางเมืองนี้จะเคยถูกน้ำท่วม ลองคิดเล่นๆ ว่าจะมีปริมาณน้ำมากขนาดเท่าไรจะยังผลให้เมืองที่มี ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 700 เมตร แห่งนี้ท่วมได้ ข้าพเจ้าออกเดินทางจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต) โดยรถโดยสารปรับอากาศพิเศษในเวลา 19.00 น. มุ่งตรงสู่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย นั่งรถไป 1 คืน พอฟ้าสางก็ถึงเชียงของพอดี สำหรับผู้ที่ มีความประสงค์จะไปหลวงพระบางจะไม่มีเวลาเอ้อระเหยลอยชาย หรือเดินนวยนาด เพราะเรือโดยสารขนาดกลางที่ไปเมืองหลวงพระบาง มีเที่ยวเดียวคือเวลา 9 โมงเช้า ส่วนเรือลำอื่นๆ จะไปยังเส้นทางอื่น หรือไปไม่ถึง ฉะนั้น จึงต้องรีบข้ามเรือไปด่านตรวจคนข้ามแดนที่ท่าเรือ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาวให้เร็วที่สุดเท่าที่จะรีบได้ หากพลาดเรือลำนี้คงต้องค้างคืนที่นี่เพื่อรอเรือในวันรุ่งขึ้น แล้วข้าพเจ้า ก็ไม่ประสงค์เหมาเรือเร็วที่จะต้องสวมหมวกนิรภัยนั่งเรือเท่าไรนัก…? เพราะกลัว อนึ่งข้าพเจ้าอยากนั่งชมบรรยากาศสองฝั่งโขงมากกว่าการ นั่งตัวเกร็งด้วยความเร็วของเรือประมาณ 7-9 ชั่วโมงถึงหลวงพระบาง โชคดีที่เช้านี้ข้าพเจ้ามาทันเวลาและเรือมีที่ว่างสำหรับข้าพเจ้า แดดระคนผิวน้ำเรื่อระยิบยับพราวพรายเรือล่องไปตามแม่น้ำโขง สองฝั่งของแม่น้ำบริเวณห้วยทรายของ สปป.ลาวกับฝั่งเชียงของของไทยมีความแตกต่างทางทัศนวิสัยเพียงเล็กน้อย แต่พอเรือแล่นออกมาสัก 10 นาที ความแตกต่างระหว่าง 2 ฝั่งมีให้เห็นอย่างชัดเจนโดยฝั่งไทยจะเป็นหาด ส่วนทางฝั่งลาวจะเริ่มเป็นหน้าผา แบ่งเขตแดนประเทศตามธรรมชาติ ระหว่างไทยกับลาวอย่างเห็นได้ชัด เรือค่อนข้างแออัด เพราะมีสินค้าจำนวนมากที่พ่อค้าชาวลาว มาซื้อจากฝั่งไทยเพื่อนำกลับไปขาย ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภค เช่น ผงซักฟอก ยาสระผม สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น บางคนมาจากหลวงพระบาง หรือตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ระหว่างทาง บนเรือมีพ่อค้ากับผู้โดยสาร ชาวลาว 10 คน ชาวไทย 5 คนและที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป ข้าพเจ้าได้ที่นั่งทางริมซ้าย จึงได้สัมผัสธรรมชาติของขุนเขากับ สายน้ำอย่างไม่ต้องมีใครมานั่งบังทัศนียภาพ ทำให้สามารถถ่ายภาพ บรรยากาศแม่น้ำโขงมาได้หลาย ส่วนหนุ่มชาวลาวที่นั่งมาข้างๆ รู้จักกัน เมื่อเรือแล่นมาได้สักครู่ใหญ่ คือ สหายพอนไซ เขาเล่าให้ฟังว่าเขาต้อง เทียวไปเทียวมาระหว่างห้วยทรายกับหลวงพระบางเดือนละ 2 ครั้ง เพราะต้องมาหาซื้อเครื่องค้า ไปขายที่ลาวจะไม่เรียกสินค้าว่า “ของ” เพราะอีกนัยจะหมายถึงสิ่งที่มีติดตัวมาโดยเฉพาะแม่ค้าถ้าใช้คำว่า “ขายของ” จะมีความหมายไปในทางไม่ดี ดังนั้นจึงเรียกว่า “ค้าเครื่อง” การสนทนาของข้าพเจ้ากับพอนไซเริ่มออกรสเมื่อผ่านดีกรีของ เบียร์ลาวที่แก่งผาได แก่งหินหรือโขดหินชาวลาวจะเรียกว่า “ผา” ที่ผาไดนั้น เป็นจุดสิ้นสุดของเส้นแบ่งเขตแดน ตามธรรมชาติไทย-ลาว และ ต่อไปนี้ทั้งสองฝั่งโขงคือประเทศลาว สองฝั่งของแม่น้ำโขงในประเทศลาวจะเต็มไปด้วยแก่งและ ผาหินเล็กๆ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับการเดินเรือ ในบางครั้งน้ำลงมาก จนเรือไม่สามารถเดินทางผ่านไปได้ต้องจอดรอให้น้ำขึ้นหรือบางทีต้องจอด แวะขนย้ายสัมภาระบางส่วนลงจากเรือแบกของเดินตามเรือจนพ้นช่วงที่ น้ำตื้นไปก่อน การเดินทางครั้งนี้เป็นช่วงน้ำหลาก… จึงไม่ต้องลำบากขนย้าย สัมภาระเดินตามเรือ และเมื่อมีน้ำมากระหว่างสองฝั่งโขงจึงมีน้ำตกน้อยๆ ให้ชมบรรเทาความเมื่อยขบจากการนั่งนานๆ เรือจอดแวะให้ผู้โดยสารขึ้นลงเป็นระยะตามท่าเรือใหญ่บ้าง เล็กบ้างจนดูเอ้อละเหยลอยชาย ทำให้การเดินทางดูไม่เร่งรีบเท่าที่ควร เรือที่ข้าพเจ้านั่งไปเป็นเรือขนาดกลางสามารถเดินไปมาได้ แต่ขยับวนไปวนมาในบริเวณจำกัดเท่านั้น เพราะมีทั้งกระเป๋า สัมภาระ สินค้า วางระเกะระกะ เต็มไปหมด ข้าพเจ้าจึงได้แค่ลุกเดินไปยังห้องน้ำ เท่านั้น และการสนทนากับพอนไซก็ดูจะออกรสมากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งก็ คุยเรื่องเฮฮาชวนหัวและเรื่องส่วนตัว จนข้าพเจ้าไม่ได้พะวงกับการมุ่งหน้า ไปหลวงพระบางเท่าที่ควรจะเป็น ขณะที่เรือกำลังเดินทาง ข้าพเจ้านึกถึงหนังสือที่เคยอ่านสมัยเด็กเรื่องหนึ่งของ Samuel L. Clemens ผู้มีนามปากกาว่า Mark Twain ที่มีประโยคกินใจคนทั้งโลกว่า “A person who won’t read has no advantage over one who can’t read.” คนที่ไม่อ่านหนังสือ ไม่ได้เหนือนว่าคนที่อ่านหนังสือไม่ออก หนังสือเล่มนั้นคือ Huckleberry Finn เรื่องราวการผจญภัยของฮัคเกิลเบอร์รี่กับทอม ซอเยอร์ โดยมีแม่น้ำโขงเป็นฉากหลังเสมือนอยู่ในแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ และกำลังจะย้อนกาลเวลาสู่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ... รู้สึกตื่นเต้นจนอธิบายไม่ได้ สหายพอนไซเล่าให้ฟังว่าเขาเป็นคนอุดมไซ มาได้เมีย ที่หลวงพระบางมีลูกชาย 1 คน เขาเล่าให้ฟังว่ารัฐบาลลาวมีนโยบาย ส่งเสริมทางด้านการศึกษาเป็นการเร่งด่วน สำหรับเด็กที่ไปโรงเรียน จะได้เบี้ยเลี้ยง โดยโรงเรียนส่วนใหญ่จะตั้งให้ติดถนนใหญ่เพื่อให้การ เดินทางไปโรงเรียนได้สะดวก รัฐบาลลาวต้องการพัฒนาประชากรที่เป็น อนาคตให้มีความรู้ โดยงบประมาณที่จะมาจัดสรรให้กับการพัฒนา ทางการศึกษานั้นมีจำนวนมากกว่างบประมาณด้านอื่นๆ ของประเทศ จากการที่ได้นั่งสนทนากับพอนไซมาค่อนวัน ข้าพเจ้าสังเกตลักษณะ การเจรจาของพอนไซเป็นคนอ่อนน้อม ถ่อมตน สุภาพ อัธยาศัยดี ไม่นาน เขาก็ยื่นหมูแดดเดียวทอดแบ่งให้แกล้มกับเบียร์ ตามกำหนดการเย็นนี้เรือของเราจะหยุดพักที่บ้านปากเบง ซึ่งเป็นเมืองท่าเป็นจุดที่แม่น้ำเบงไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง มีเรือนักท่องเทียวและเรือบรรทุกสินค้าหยุดพักค้างคืนที่นี่หลายลำ ข้าพเจ้า ได้จับจองบริเวณที่พักในเรือ ซึ่งเป็นห้องโถงแบ่งกันนอนได้หลายคนในอาณาเขตเล็กๆ สำหรับยืดแข้งยืดขาเพียงเล็กน้อย แต่พอเรือเทียบท่า พอนไซก็ชักชวนให้ลงไปหาทำเลเหมาะๆ ปูเสื่อ ก่อกองไฟเล็กๆ พอได้ ไออุ่น ตั้งวงที่บนเนินเหนือหาด พอนไซบอกข้าพเจ้าว่าจะทำอาหารแบบหลวงพระบางแท้ๆ ให้ข้าพเจ้าลองชิม พลางเดินเข้าไปในดงไผ่กอใหญ่ริมหาด ไผ่ลำเขื่องถูกตัดและแบ่งเป็นปล้องๆ แบ่งกันไปตามกลุ่มที่ตั้งวงก่อไฟเพื่อหลามข้าวเหนียว พอนไซเดินกลับไปที่เรือหยิบเครื่องครัวและถุงยาง (ถุงยาง หมายถึง ถุงพลาสติก) เครื่องเทศแล้วกลับมาหั่นเครื่องปรุงต่างๆ ข้าพเจ้านึกถึงกวีบทหนึ่งที่ว่า “ดื่มด่ำน้ำหินซับ ตามไต้จับกบกุ้งหอย ผักกูดกำน้อยน้อย กับดอกเห็ดเลือกเด็ดมา เรียงหินสามเส้าไว้ ก้มเป่าไฟเตรียมหุงหา ตั้งหม้อรอเวลา ร่วมอิ่มหนำในค่ำคืน” พักพล จาก ใบไม้ที่หายไป โดย จีระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ ปากเบงเป็นเมืองท่าเล็กๆ มีประชากรอาศัยอยู่ไม่มากนัก มีอาคารปลูกถาวรไม่กี่หลังคาเรือน อาชีพส่วนใหญ่จะเป็นชาวประมง เกษตรกร และค้าของป่า และเมื่อมีเรือมาเทียบแม่ค้าพ่อค้าจะหาบคอนผักหรืออาหารพื้นถิ่น บ้างจะหิ้วปลาตัวโตๆ ยืนบอกราคาให้แก่ผู้เดินทาง รอนแรม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวลาวที่ซื้อไปทำอาหารริมน้ำโขง เช่น ต้มปลา หรือไม่ก็ทาเกลือห่อใบตองปิ้งเป็นมื้อค่ำคู่กับข้าวเหนียว เมื่อแม่ค้าเดินมาถึงกองไฟของเรา พอนไซเดินไปเลือกวัตถุดิบที่ต้องใช้ ต่อรองราคากันอย่างคุ้นเคย “เอาะหลาม อ้ายเคยกินบ่” แน่นอนครับไม่เคยกิน แค่คำว่า “เอาะหลาม” ก็ยังต้องถามหลายรอบเพราะใจหนึ่งคิดถึงแต่คำว่า “อ๋อหลาม” หรือ “ข้าวหลาม...” เอาะหลาม คือ อาหารที่มีลักษณะข้น จะเป็นแกงก็ไม่ใช่ หมกก็ไม่เชิง เพราะวิธีปรุงและทำให้สุกโดยกรอกใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วนำไปเผาไฟ การทำเอาะหลาม คือ เอาหนังควาย (พอนไซซื้อเมื่อสักครู่เป็นมัดเล็กๆ คิดว่าเป็นเช่นนั้นเพราะได้ยินคำว่า ควาย) มาเผาไฟแต่พอนไซใช้วิธีโยนเข้าในกองไฟทั้งมัด เมื่อเกรียมแล้วขูดขนออกให้หมดโดนใช้ช้อนสแตนเลส หั่นพอคำ ต้มให้เปื่อยในหม้อใบเล็กที่มีเกลือเล็กน้อย ตะไคร้ แป้งนัว (ผงชูรส) ชาวลาวนิยมบริโภคผงชูรสเป็นส่วนใหญ่ ครั้นข้าพเจ้าจะทักว่าอย่าใส่ก็ไม่สมควรเดี๋ยวเขาจะว่าเสียรส น้ำดำปี๋จากเขม่าหนังที่ไหม้เกรียม (เมื่อชะโงกหน้าไปดู) ขณะเดียวกันก็ย่างหมูชิ้นเล็กๆ ไปพร้อมๆ กัน ระหว่างรอหมูย่างและหนังควายพองตัว พอนไซก็เตรียมเครื่องอย่างอื่น ข้าพเจ้าช่วยล้างผักบ้างที่ริมน้ำโขง ทั้งเอามาต้มทั้งอาบทั้งล้างในลำน้ำโขง มองไปไกลๆ เด็กน้อยเล่นน้ำ แม่ซักผ้า แล้วก็...อย่าไปคิดมากแต่ก็อดคิดไม่ได้ ข้าพเจ้าเริ่มถอดใจกับอาหารชิ้นนี้ตั้งแต่หนังควายแล้วน้ำในหม้อใบเล็กที่สีออกดำๆ ยิ่งทำให้ลังเลในไมตรีที่ได้รับ เพราะดูท่าทางพ่อครัวจะตั้งใจทำให้ข้าพเจ้าได้ลิ้มลอง ...คิดในใจว่าถ้าข้าพเจ้าไม่กินคงจะโดนมิใช่น้อย ต้องทำใจแล้วหละ ทำให้นึกถึงสำนวนไทยที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” เบียร์ลาวเปิดพอเป็นกำลังใจให้ข้าพเจ้าต้องน้อมรับไมตรีระหว่างรอหนังควายพองข้าพเจ้าขอตัวเดินดูบริเวณใกล้ๆ เมื่อหมูย่างสุกนำมาหั่นเป็นชิ้นๆ พอนไซนำข้าวเหนียวสุกไปจี่ไฟพอเกรียมแล้วเอามาทุบกลิ่นหอมมาก พอนไซเล่าว่าต่อไปเป็นขั้นตอนสำคัญมากห้ามทำพลาดและผิดขั้นตอน เพราะถ้าผิดจะเกิดรสที่แตกต่างออกไป เขาเดินไปจุดยาสูบริมน้ำโขงพร้อมล้างปล้องไผ่ลำโต ข้าพเจ้าเขี่ยไฟไม่ให้มอด เมื่อพอนไซกลับมา ใส่เครื่องเทศต่างๆ ที่พอรู้จักคือ ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม พริก แต่มีไม้ชนิดหนึ่งที่ไม่รู้จัก ถามได้ความว่าคือ สะค้าน (เป็นไม้เถา เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณนิ้วครึ่ง มีรสเผ็ด) ใส่มะเขือเปราะ มะเขือพวง นำไปบรรจุลงกระบอกไม้ไผ่ ใส่หนังควาย ชิ้นหมูย่าง พอนไซเทน้ำที่ต้มหนังควายใส่กระบอกแล้วเผา (หลาม) เมื่อสุก ก่อนยกออกมา ใส่ผักชีลาว ต้นหอม ใบแมงลัก ผักคราด พริกขี้หนูทุบพอประมาณ พอนไซบอกว่าจริงๆ ต้องใส่เห็ดเผาะจะอร่อยมาก แต่แม่ค้าไม่มีขาย มื้อเย็นวันนี้เป็นมื้อใหญ่พอสมควร พอนไซรู้จักกับคนเรือ เป็นอย่างดี เพราะเหตุที่เป็นพ่อค้าต้องเทียวไปเทียวมาอยู่เป็นประจำ จนรู้จักกับคนเรือ ในวงอาหารเย็นจึงมี สมาชิก 5-6 คน อาหารหลักจะเป็น ข้าวเหนียว ลาบปลาสับ ต้มผักหวาน ต้มปลา (คล้ายๆ กับต้มยำน้ำใส แต่ไม่เผ็ดมาก) แจ่วบองชามโต สารพัดผัก ชาวลาวจะนิยมรับประทาน ผักสด ในสำรับมื้อนี้ มีนานาผักเป็นจำนวนมากหลากหลายชนิดทั้งที่ ข้าพเจ้ารู้จักและไม่รู้จัก บางชนิดเคยได้ยินชื่อแต่ไม่เคยเห็นมาก่อน และเมนูพิเศษแบบหลวงพระบาง “เอาะหลาม” จากฝีมือพอนไซ มื้อนั้น ข้าพเจ้าร่วมวงอาหารเย็นกับชาวลาวเป็นครั้งแรก อย่างไม่มีการจัดฉาก หรือการจ้างวาน รสชาติของเอาะหลามนั้นอธิบายไม่ถูกจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร ท่านใดเคยชิมแกงอ่อมก็พอจะคุ้นรส หากแต่หอมกลิ่นหนังไหม้ไฟ ความเผ็ดปนหวานปะแล่มๆ ของเนื้อไม้สะค้าน ความข้นของน้ำที่มีความหวานของผักต่างๆ ผสมความหอมจากข้าวเหนียวจี่ทุบ... อย่างนี้นี่เอง หลังมื้อค่ำนั่งสนทนากันจนฟืนมอดไปหลายท่อน อากาศเย็นจนถึงเย็นจัดเริ่มคืบคลานเข้ามาแทนความอุ่นจากกองไฟ ข้าพเจ้าขอตัวกลับขึ้นเรือเพื่อพักผ่อน เสียงน้ำกระทบเรือดังตลอดทั้งคืน ท่ามกลางความหนาวเย็น การนอนบนเรือริมน้ำโขงช่างเป็นความรู้สึกที่เกินจะบรรยายได้ ทั้งความ เงียบเย็นที่พยายามแทรกผ่านผ้าห่มและเสื้อกันหนาวของข้าพเจ้า การนอนขดตัวคุดคู้ให้กระแสลมเย็นมาปะทะร่างน้อยที่สุดนั้นเป็น การนอนที่เมื่อยขบและแสนทรมานเอาการอยู่ แต่สุดท้ายข้าพเจ้าก็ ม่อยหลับ ภาพประกอบทั้งหมดโดย : ดวงจำปา (ผู้เขียน)