รีเซต

วันมาฆบูชา 2566 ประวัติวันมาฆบูชา วันจาตุรงคสันนิบาต วันเพ็ญ เดือน 3

วันมาฆบูชา 2566 ประวัติวันมาฆบูชา วันจาตุรงคสันนิบาต วันเพ็ญ เดือน 3
เอิงเอย
1 มีนาคม 2566 ( 10:58 )
24.4K
1

        สำหรับ วันมาฆบูชา 2566 ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 6 มีนาคม 2566 ค่ะ เป็น วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่ในทุกๆ ปี ชาวพุทธศาสนิกชน จะมาทำบุญ เวียนเทียน และรำลึกถึงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าค่ะ และวันนี้ เราจะพาไปรู้จักถึง ที่มา ประวัติวันมาฆบูชา วันเพ็ญ เดือน 3 อีกหนึ่งวันสำคัญของพุทธศานิกชนกัน

ประวัติ วันมาฆบูชา มาฆปูรณมีบูชา
วันจาตุรงคสันนิบาต วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

 

        มาฆบูชา นั้นมาจาก มาฆปูรณมีบูชา ซึ่งหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ หรือ มีนาคม ในทุกๆ ปีค่ะ

 

 

       เหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชาก็คือ เมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน พระพุทธเจ้า ทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส

 

อีกทั้งในครั้งนั้นยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ

  1. พระภิกษุ 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย
  2. พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
  3. พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6
  4. วันดังกล่าว ตรงกับวันเพ็ญเดือน 3

       ทำให้พุทธศาสนิกชน เรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 นั่นเองค่ะ

 

วันมาฆบูชาในประเทศไทย

 

 

        วันมาฆบูชาในประเทศไทย นั้น มีการประกอบพิธีมาฆบูชาเริ่มในพระบรมมหาราชวัง ก่อนในสมัยรัชกาลที่ 4 ค่ะ โดยวันมาฆบูชาในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี

      สมัยต่อมามีการเว้นบ้าง เช่น รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาส หัวเมืองบ่อยๆ ทำให้เสด็จออกประกอบพิธีได้ไม่ทุกปี หากวันมาฆบูชาตรงกับคราวที่พระองค์เสด็จไปประพาสบางปะอิน หรือพระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชา ในสถานที่นั้นๆ ซึ่งต่างหากจากในพระบรมมหาราชวังค่ะ

 

 

       โดยในพระบรมมหาราชวัง จะมีพิธีการพระราชกุศลในเวลาเช้า พระสงฆ์ วัดบวรนิเวศวิหารและวัดราชประดิษฐ์ 30 รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และ เวลาค่ำ ในหลวงจะเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่อง มนัสการ

      พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเสร็จ และสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ สวดมนต์จบ ทรงจุดเทียนรายตามราวรอบ พระอุโบสถ 1,250 เล่ม มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนา โอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์ เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย เครื่องกัณฑ์ มีจีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึง และขนมต่างๆ เทศนาจบพระสงฆ์ ซึ่งสวดมนต์ 30 รูป

       ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกัน
ทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้
ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา

       สำหรับพุทธศาสนิกชน ในวันมาฆบูชา จะนิยมร่วมงานมาฆบูชาโดยการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด ฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถพร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยค่ะ

 

ประวัติวันมาฆบูชา

 

กิจกรรมวันมาฆบูชา กับ ครอบครัว


       กิจกรรมที่ครอบครัวควรทำในวันมาฆบูชา เช่น การทำความสะอาดบ้าน จัดแต่งที่บูชาประจำบ้าน ชักชวนครอบครัวไปทำบุญตักบาตร ฟังศีล ฟังธรรม บำเพ็ญกุศล ปฏิบัติธรรม รวมทั้งควรศึกษาหลักธรรมคำสั่งสอน และความสำคัญของวันมาฆบูชาด้วย

 

กิจกรรมวันมาฆบูชา กับ สังคม


        ภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็น วัด มูลนิธิ สมาคม สื่อมวลชน สนามบิน สถานีรถไฟ ฯลฯ ควรช่วยกันประชาสัมพันธ์ความสำคัญของวันมาฆบูชา โดยการให้ความรู้ จัดให้มีการเข้าร่วม กิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม ช่วยกันรณรงค์ให้เลิกอบายมุข โดยรณรงค์ให้ช่วยกัน ทำประโยชน์ต่อสังคมแทน อาจช่วยกันปลูกต้นไม้ ทำความสะอาดที่สาธารณะ เป็นต้น

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมการศาสนา และ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

 

ทริปไหว้พระ 9 วัด ที่น่าสนใจอื่นๆ