ภาพปกโดยผู้เขียน วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่พี่อยู่ในเมืองยอกยาการ์ตา เมืองแห่งศิลปะและวัฒนธรรม แห่งเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย และแน่นอนสำหรับการมาเยือนยอกยาการ์ตาสิ่งที่พลาดไม่ได้คือ "บุโรพุทโธ" วันนี้พี่เดินทางมาบุโรพุทโธด้วยรถเมล์ และต่อด้วยบิซอน (bison) หรือรถตู้เล็ก ซึ่งมีผู้ใหญ่ใจดีที่นี่พามาส่ง และสุดท้ายต่อด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กว่าจะมาถึง หลายต่อเลยทีเดียว555 มาถึงแล้วพี่ไม่รอช้า กินก่อนเลยอันดับแรก 555 เดี๋ยวไม่มีแรงเดินกันพอดี บริเวณลานจอดรถก่อนถึงทางเข้าบุโรพุทโธ มีร้านค้า ร้านอาหารเรียงรายกันอยู่มากมาย พี่ไม่รอช้าพุ่งตัวอย่างไวไปที่ร้าน บักโซ (Bakso) ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมของชาวอินโดนีเซีย บักโซ คือลูกชิ้นทำจากเนื้อเสิร์ฟมาพร้อมกับซุป เส้นก๋วยเตี๋ยว ผัก และเต้าหู้ ดูคล้ายกับก๋วยเตี๋ยวบ้านเรา แต่รสชาติต่างกันที่ซุป และตัวลูกชิ้น ปรุงรสด้วยพริกสดตำละเอียด หรือจะไม่ปรุงเลยก็ได้ พี่เห็นคนที่นี่กินกันรสจัดมาก นอกจากเติมพริกในชามแล้ว ยังกินพริกสด ๆ เคียงอีกด้วย!!! ภาพประกอบโดยผู้เขียน เมื่ออิ่มแล้วก็พร้อมลุยต่อ พี่ซื้อตั๋วแบบแพ็คเกจมาจากที่พรัมบานัน วันนี้พี่เลยไม่ต้องไปต่อแถวซื้อตั๋วกับชาวบ้านเขา555 เดินเข้าไปจะมีสองฝั่ง สำหรับคนอินโดนีเซีย และสำหรับนักท่องเที่ยว พี่เดินไปทางฝั่งนักท่องเที่ยว ไปถึงก็ยื่นตั๋วให้เจ้าหน้าที่ แล้วก็เดินชมกันเลยจ้า ภาพประกอบโดยผู้เขียน "บุโรพุทโธ" พุทธสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1293 - 1393 ในช่วงสมัยของราชวงศ์ไศเลนทรา ซึ่งเป็นช่วงที่พุทธศาสนารุ่งเรืองมากในอินโดนีเซีย รูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ นิกายมหายาน ตัวอาคารสร้างจากหินภูเขาไฟขนาดใหญ่ เป็นรูปทรงพีระมิด 8 ชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้นแรกเป็นทางขึ้น ฐานสี่เหลี่ยม ประดับผนังทางเดินด้วยหินสลักเล่าเรื่องราวในพุทธศาสนา แต่ละชั้นมีซุ้มพระพุทธรูป เรียงรายตามทางเดิน และอีก 3 ชั้นบนมีฐานเป็นวงกลม แต่ละชั้นมีเจดีย์ทรงระฆังเรียงกัน ล้อมรอบมหาสถูป ซึ่งประดิษฐานอยู่บนชั้นสุดท้าย ภาพประกอบโดยผู้เขียน ลักษณะการวางผังของบุโรพุทโธแต่ละชั้นสื่อความหมายถึง กิเลสของมนุษย์ เมื่อเราเดินขึ้นไปที่ละชั้น ชั้นแรกเราจะเห็นการเล่าเรื่องที่เป็นทางโลกของมนุษย์ ยังมีกิเลส มีทุกข์ รัก โลภ โกรธ หลง เรื่องราวที่ผ่านภาพหินสลักประดับผนังเล่าเรื่องทางโลก และวิถีชีวิตคนทั่วไป ภาพประกอบโดยผู้เขียน เมื่อเดินวนขึ้นไปพ้นจากชั้นแรกไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ชั้น 2-5 ในแต่ละชั้นสื่อความหมายของมนุษย์ที่เริ่มหลุดจากความยึดติด แต่ยังมีความผูกพันทางโลก ประดับด้วยหินสลักเป็นเรื่องราวในพุทธศาสนา มีซุ้มพระพุทธรูปประดับเป็นระยะตามทางเดิน ภาพประกอบโดยผู้เขียน ภาพประกอบโดยผู้เขียน ภาพประกอบโดยผู้เขียน และเมื่อเดินขึ้นมาจนหลุดจากชั้นที่ 5 จะพบกับชั้นที่เป็นฐานกลมประดับด้วยเจดีย์ทรงระฆัง ล้อมรอบมหาสถูป ชั้นนี้จนถึงบนสุด สื่อความหมายถึงการหลุดพ้นจากกิเลส ไม่ผูกพัน ไม่ยึดติดกับสิ่งใด หรือตามศาสนาพุทธเรียกว่า "นิพพาน" นั่นเอง ภาพประกอบโดยผู้เขียน เจดีย์ทรงระฆังเรียงรายรอบมหาสถูป ภายนอกเจดีย์ฉลุลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ภายในบรรจุพระพุทธรูป ภาพประกอบโดยผู้เขียน มหาสถูปประดิษฐานอยู่บนยอดสูงสุด ภายในสถูปไม่บรรจุสิ่งใด มีแต่ความว่างเปล่า เปรียบดั่งนิพพานและการหลุดพ้น ภาพประกอบโดยผู้เขียน พี่เดินชมสถาปัตยกรรมไป พลางคิดไปว่าคนสมัยนั้นเก่งมาก สามารถสร้างสิ่งที่ใหญ่โต มหัศจรรย์ได้ยิ่งใหญ่ได้ด้วยความศรัทธา ทั้งที่สมัยนั้นไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัยเหมือนตอนนี้ น่าทึ่งมากจริง ๆ พี่เดินอยู่สักพักฝนก็เริ่มตกลงมาอีกแล้ว ยังเดินชมไม่สาแก่ใจเลย ต้องรีบเผ่นซะแล้ว!!! ภาพประกอบโดยผู้เขียน สำหรับใครที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ ที่นี่ สำหรับข้อมูลการเดินทางในยอกยาการ์ตา และข้อมูลอื่น ๆ สามารถเข้าไปดูได้ ที่นี่