เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับพระนางเรือล่มไหมคะ? ถ้าไม่เคย มาค่ะเราจะเล่าให้ฟัง เรื่องราวนี้ไม่ใช่เพียงตำนาน เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสมัยรัชกาลที่ 5 มีผสมความเชื่อของชาวบ้านพื้นถิ่นส่วนหนึ่ง พระนางเรือล่มหรือพระนามของพระองค์คือ "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์" พระราชธิดาลำดับที่ 50 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4) ประสูติแต่ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ภายใต้ร่มเศวตฉัตร ประสูติเมื่อ วันเสาร์ เดือน 12 ปีวอก จุลศักราช 1222 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2403 พระองค์ทรงเป็นพระธิดาลำดับที่ 3 ในจำนวน พระโอรส และ ธิดา รวม 6 พระองค์ร่วมพระชนกชนนี เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่4)สวรรคตซึ่งขณะนั้นพระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์มีพระชนมายุประมาณ 9 พระชันษา ได้ทรงอยู่ใต้ร่มโพธิ์ ร่มไทร ในอุปการะของพระเชษฐาธิราชต่างพระราชชนนีแทนในกาลต่อมา เนื่องจากองค์พระเชษฐาธิราชได้เถลิงถวัลย์ราชบัลลังก์ต่อจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ในพระนาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) และเมื่อพระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ เจริญพระชนมายุได้ 16 ปี ก็ได้ถวายพระองค์เป็นพระมเหสีฉลองพระเดชพระคุณต่อพระเชษฐาธิราช ซึ่งขณะนั้นล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 มีพระชนมายุได้ 21 พรรษา เนื่องด้วยเป็นทั้งพระขนิษฐาและพระภรรยาเจ้า จึงทำให้ได้รับพระเมตตาจากพระสวามีเป็นอย่างมากแม้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 จะมีพระกรณียกิจมากเพียงใดก็ยังทรงทำหน้าที่พระสวามีอย่างดีเยี่ยมมิขาดตกบกพร่อง ยิ่งเมื่อทรงเสกสมรสได้ไม่นาน พระองค์ก็ทรงพระครรภ์ยิ่งทรงได้รับพระเมตตาเป็นทวีคูณ ในพงศาวดารมีคำกล่าวถึง พระนางเจ้าสุนันทานารีรัตน์ว่าพระองค์ทรงมีรูปโฉมงดงาม ผิวพรรณผุดผาด และมีพระนิสัยสงบเสงี่ยมอ่อนน้อม พระองค์ทรงเป็นที่โปรดปรานและชื่นชมของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก สมเป็นอัครมเหสีคู่ปฐมราชินีคู่บรรลังก์โดยแท้แต่ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอันเป็นโศกนาฏกรรมขึ้นเสียก่อน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2423 ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้ 19 พรรษา 6 เดือนทรงเสด็จไปพระราชวังปางปะอิน โดยทางน้ำ โดยสารเรือพระที่นั่งล่องแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมด้วยพระธิดาวัย 2 พรรษา และพระโอรสในพระครรภ์ แต่เรือเก๋งพระที่นั่งของพระองค์ได้ล่มเสียกลางแม่น้ำเจ้าพระยา จากเหตุที่เรือปานมารุตที่ลากจูงเกิดอุบัติเหตุ เรือเก๋งพระที่นั่งล่มตรงบริเวณที่ตั้งของวัดกู้ในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงพยายามที่จะช่วยพระธิดาในนาทีที่เรือล่ม และเนื่องด้วยกฎมณเฑียรบาลห้ามให้ข้าราชบริพารชายแตะเนื้อต้องตัวพระมเหสีในพระมหากษัตริย์ทำให้ไม่มีใครสามารถเข้าช่วยเหลือพระองค์ได้ พระองค์ได้สิ้นพระชนม์จมน้ำภายใต้เรือนั้นเอง พร้อมกับกอดพระธิดาไว้แนบพระอุระ เหตุการณ์ในครั้งนั้นนำความโศกเศร้ามาสู่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก จนถึงกับทรงพระกรรแสงและได้มีการสร้างอนุสรณ์ศาลาไว้ที่วัดกู้ ซึ่งเดิม ศาลาอยู่ติดริมน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในศาลานี้ มีรูปหล่อของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทานารีรัตน์เป็นรูปหล่อสีทอง วิจิตรสวยงามมากค่ะ มีบทสวดเฉพาะพระองค์และที่นั่งให้ประชาชนได้เข้าไปสักการะ นอกจากนั้นภายในตัวศาลายังมีพระฉายาสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทานารีรัตน์ พระรูปของพระธิดา และพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 อยู่ด้วยค่ะ พระองค์ทรงพระสิริโฉมงดงามแบบไทยแท้จริง ๆ เราได้ถ่ายรูปมาแบ่งปันให้ชมกันด้วยแต่มุมอาจจะไม่ดีนักเพราะเราไม่กล้าที่จะแตะต้องสิ่งใดในศาลาแห่งนี้ค่ะ เลยได้แต่ถ่ายจากมุมห่าง ๆ ภายในศาลาแห่งนี้มีข้อมูลอื่น ๆ แสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทานารีรัตน์ให้ศึกษาอยู่ภายในด้วยค่ะ สามารถดูพระราชประวัติและบทกลอนที่ รัชกาลที่ 5 ได้บรรยายถึงความรักที่มีต่อพระองค์ได้ภายในศาลาได้เลยค่ะ ผู้มาสักการะหลายคนก่อนหน้าได้นำดอกกุหลาบสีชมพูที่เชื่อกันว่าพระองค์ทรงโปรด ชุดไทยและของเล่นเด็กผู้หญิงมาถวายให้เห็นภายในศาลามากมาย และแม้ว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์มาเป็นระยะเวลายาวนานมากแล้วแต่ก็มีเรื่องราวแปลก ๆ เล่าต่อกันมาอย่างสม่ำเสมอ บ้างว่ามีคนฝันถึงท่านให้มาสักการะท่านที่นี่แล้วจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่หวัง พอมาถึงคนในฝันมีพระพักต์เหมือนพระองค์ในพระฉายาสาทิสลักษณ์เป็นอย่างมากจนน่าฉงนใจ แต่ก็มีบางคนไม่เชื่อ บ้างก็ลบหลู่ บ้างก็ทำผิดแล้วมาสาบาน ทำให้มีอันเป็นไปด้วยเหตุทางน้ำเสียทุกรายไป ด้วยความรักในพระนางเจ้าสุนันทานารีรัตน์ รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างอนุสรณ์สถานไว้อีกหลายแห่งล้วนเป็นที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทานารีรัตน์ทรงโปรด เช่นที่ น้ำตกพริ้ว ที่สวนสราญรมย์ และ พระราชวังบางปะอิน เพื่อระลึกถึงความรักที่มีต่อพระมเหสีพระองค์นี้ ลองไปสักการะกันนะคะ ที่วัดกู้ ปากเกร็ด นนทบุรี นี้เอง นอกจากศาลาแห่งนี้ซึ่งเดิมเคยอยู่ริมน้ำก็จริง แต่กาลเวลาผ่านมีแผ่นดินงอกขึ้นมาเพราะตะกอนดินที่ทับถม ทางวัดก็ได้สร้างตำหนักริมน้ำไว้อีกแห่งอย่างยิ่งใหญ่ ด้านในบรรจุพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 5 และพระฉายาสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทานารีรัตน์กับพระธิดาในรูปแบบของหุ่นขี้ผึ้ง พระตำหนักริมน้ำดูหลังใหญ่อลังการมากค่ะเป็นตึก 2 ชั้น ด้านหลังมีท่าน้ำให้อาหารปลา เป็นเขตอภัยทาน วัดกู้มีอุโบสถหลังเก่าที่เป็นโบราณสถานให้ชมด้วยค่ะ ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูป ชื่อว่า "หลวงพ่อสมปรารถนา" สามารถขอพรได้ 1 อย่าง แล้วเชื่อกันว่าจะสำเร็จสมประสงค์ค่ะ ในวันที่ผู้เขียนไปสักการะ อุโบสถหลังนี้ได้มีการซ่อมแซมอยู่ค่ะ จริง ๆ วัดนี้มีขนาดใหญ่มากค่ะ อุโบสถหลังใหม่ก็หลังใหญ่มีสีขาวล้วนสวยงาม ด้านในมีหลวงพ่อสำเร็จ ประดิษฐานอยู่เป็นองค์ประธาน องค์ใหญ่ อยากให้ทุกท่านไปสัมผัสด้วยสายตาตนเอง มีป้ายเล่าถึงประวัติความเป็นมาของวัดกู้ อยู่ภายหลังพระอุโบสถหลังเก่า ว่าวัดนี้มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานอย่างไร หากได้ไป ลองเข้าไปในอุโบสถหลังเก่าและดูความงดงามที่ยังหลงเหลืออยู่ของประติมากรรมฝาผนังกันนะคะ อ่อ อีกหนึ่งอย่างที่ถ้าไปถึงแล้วอย่าพลาดคือ ด้านหลังพระนอนองค์ใหญ่ภายในวัดมีวิหารเรือ ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งที่เก็บกู้มาจากกลางแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาที่เกิดโศกนาฏกรรมอยู่ด้วยค่ะ คนนิยมไปสักการะอีกเช่นกัน เมืองไทยของเรายังมีสถานที่ที่สวยงาม แหล่งให้ความรู้ และน่าสนใจอีกมากมาย ให้เราได้ไปสัมผัสกันนะคะ วัดกู้ก็เป็นแห่งนึงที่เราอยากจะมาแนะนำให้รู้จักกัน เพราะตั้งอยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯ ลองไปเที่ยวกันนะคะ ไปสักการะสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทานารีรัตน์ ไปไหว้หลวงพ่อสมปรารถนา หลวงพ่อสำเร็จ แล้วเก็บมาเล่าให้เราฟังบ้างนะคะว่าคุณไปเห็นด้วยตาตนเองแล้วเป็นยังไง แล้วเจอกับเราอีกครั้งถ้าเราเจอเรื่องราวอะไรน่าสนใจเราจะมาแบ่งปันให้ทุกคนกันค่ะ แต่ตอนนี้ไปจริง ๆ แล้ว Bye Bye ค่ะ. ** ทุกรูปในบทความนี้ถ่ายโดยนักเขียนเอง เรื่องราวที่นำมาเล่าส่วนหนึ่งนำมาจากเนื้อหาที่มีแปะอยู่ในศาลาสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทานารีรัตน์ ส่วนหนึ่งมาจากความทรงจำของผู้เขียน ที่เรียนจบในสาขาวิชาประวัติศาสตร์โดยตรง เคยอ่านเรื่องราวของพระองค์มาอย่างละเอียด ได้นำเรื่องราวมาแบ่งปันความรู้ด้วยความยินดีเป็นอย่างสูงค่ะ **