ใครเดินทางมาจากสี่แยกรินคำ ( แยกเมญ่า ) ไปทางอำเภอแม่ริม คงจะสังเกตเห็นวัดอยู่ซ้ายมือวัดหนึ่ง ด้านข้างติดถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เส้นเชียงใหม่ - ลำปาง ใกล้ ๆ กับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงใหม่ นั่นคือ โพธารามพระอารามหลวง หรือที่เรียกกันแบบบ้าน ๆ ว่า วัดเจ็ดยอด วัดนี้มีลักษณะแตกต่างจากวัดทั่วไปค่อนข้างชัดเจน นั่นคือ พระเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม ต่างจากเจดีย์ทั่วไปที่เป็นทรงโค้งมน พระเจดีย์ที่เห็นนั้นเป็นพระเจดีย์ประธานมียอดที่สูงที่สุด แล้วก็มีเจดีย์บริวารสูงราว 1 ใน 4 อีก 6 ยอดรายล้อม ลักษณะคล้ายพระมหาเจดีย์พุทธคยา เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย สาเหตุที่พระเจดีย์วัดนี้ต่างจากวัดอื่น ๆ เนื่องจากว่า เป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นโดยนายช่างชาวอินเดีย ที่เสนาบดีในสมัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายลำดับที่ 10 ได้ให้ไปหาช่างมาสร้างไว้ที่นี่ เมื่อพ.ศ.1998 สถาปัตยกรรมจึงเป็นแบบอินเดียชัดเจน ลายปูนปั้นโดยรอบพระเจดีย์ เป็นกลุ่มเทวดาในท่าต่าง ๆ และลายดอกไม้ มีลักษณะงดงาม อ่อนช้อยและน่าทึ่ง บ่งบอกถึงค่านิยมการแต่งกายของคนในยุคนั้นชัดเจน จะกล่าวว่าวัดนี้ มีความเชื่อมโยงกับอินเดียก็ไม่น่าจะผิดนัก หากวัดเชียงมั่นในเขตกำแพงเมืองเก่าเชียงใหม่ ถือว่าเป็นวัดสำคัญเพราะเป็นวัดแรกของการตั้งเมืองเชียงใหม่แล้ว วัดโพธารามแห่งนี้ในอาณาจักรล้านนาสมัยนั้น หรือประเทศไทยปัจจุบันนี้ ก็สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะเป็นวัดแรกและวัดเดียวที่ถูกคัดเลือกให้เป็นสถานที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 8 ของโลก ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญต่อพุทธศาสนานิกายเถรวาท นักประวัติศาสตร์ศาสนา และพุทธศาสนิกชนอย่างมาก เพราะการทำสังคายนานั้น ถือว่าเป็นกระบวนการสำคัญในการทบทวนรักษา และสืบต่อพระพุทธศาสนา ผ่านการท่องพระไตรปิฏกพร้อม ๆ กัน ทำให้พระพุทธศาสนายังคงอยู่สืบต่อ และแผ่ขยายไปในดินแดนล้านนาและใกล้เคียงตั้งแต่พ.ศ. 2020 เป็นต้นมา นอกจากนั้น วัดโพธารามแห่งนี้ยังถือว่าเป็นวัดแรก ที่มีการก่อสร้างพระเจดีย์พุทธคยาจำลองเลียนแบบพระเจดีย์พุทธคยาของจริงที่ประเทศอินเดีย จนปัจจุบันในประเทศไทยมีพระเจดีย์พุทธคยาจำลองไม่ต่ำกว่า 15 แห่งทั่วประเทศ และยังเป็นสถานที่ก่อสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าติโลกราช พร้อมกับรูปหล่อพระองค์ท่าน ซึ่งถือว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่ง ในการทำนุบำรุงรักษาและสนับสนุนกิจกรรมของคณะสงฆ์ในสายลังกาวงศ์ตั้งแต่ในอดีต ให้แผ่ขยายไปทั่วพระราชอาณาจักรด้วย สำหรับไฮท์ไลท์ ที่น่าจะเป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ในด้านศิลปกรรมแบบล้านนาดั้งเดิม ซึ่งยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่อยู่ระหว่างการแต่งเติมวาดแต้ม ก็คือ การวาดลวดลายจิตรกรรมในแบบศิลปะล้านนาโบราณ ลงบนฝาผนังด้านในพระวิหาร 700 ปี ที่สร้างขึ้นใหม่นั่นเอง ไม่ใช่ว่าใครที่มาเที่ยวหรือมาทำบุญที่วัดเจ็ดยอด จะมีโอกาสได้เห็นทุกคนนะครับ มีน้อยคนมากที่จะได้เข้าไปดูงานเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่พระวิหารแห่งนี้ ซึ่งถือว่ามีความละเอียดงดงาม และอลังการมาก เพราะคนส่วนใหญ่เห็นแค่ต้นโพธิ์ พระเจดีย์เจ็ดยอดเก่าแก่ สัตตมหาสถาน พระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิ และรูปปั้นพระเจ้าติโลกราชเท่านั้น ก็ต้องวัดดวงนะครับว่า เวลาเข้าไปที่วัดแล้ว จะได้ชมด้านในพระวิหารหรือไม่ ใจผมอยากให้ลองไปดูสักครั้งหนึ่ง แม้ว่าเรื่องบุญ ดวง และจังหวะนี่อาจจะคาดเดาได้ยาก แต่ถ้าไม่ลองแล้วจะรู้เหรอครับ ที่ตั้ง : 90 ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ สิ่งที่น่าสนใจ : ต้นโพธิบัลลังก์/พระเจดีย์เจ็ดยอด/สัตตมหาสถาน/พระอุโบสถ/พระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิและรูปปั้นพระเจ้าติโลกราช/จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหาร 700 ปี เวลาเปิดปิด: 06.00-18.00 น. ภาพประกอบโดยผู้เขียน : อนุญาตให้ใช้ประกอบเพื่อการศึกษาได้ฟรี