ย้อนเวลา..ผ่านอุโมงค์แห่งสวนพุทธธรรม เวลามีเพื่อนมาเที่ยวเชียงใหม่..ถ้านึกถึงสถานที่ไหนไม่ออก ฉันก็จะพาเพื่อนๆไปไหว้พระ.. และถ้าจะไปไหว้พระ ก็คงต้องเป็นวัดที่ฉันรู้จักดี ไม่ไกลตัวเมือง และเป็นวัดที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น “วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม” เป็นวัดแรกที่ฉันจะนึกถึงเสมอ วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม เป็นวัดใกล้บ้าน ที่มีอุโมงค์เก่าแก่ติดกับฐานองค์เจดีย์ และภายในอุโมงค์ มีจิตรกรรมฝาผนังโบราณที่ลวดลายเริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา วัดอุโมงค์แห่งนี้ สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระยามังราย ผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านนา เดิมชื่อวัดเวฬุกัฏฐาราม สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 1839 ผ่านมา 724 ปีแล้ว ถือได้ว่าเป็นวัดที่เก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ หลังจากผ่านกาลเวลาไปกว่า 70 ปี ได้มีการบูรณะวัดอุโมงค์อีกครั้งในสมัยของพระเจ้ากือนาธรรมาธิราช ประมาณ พ.ศ. 1910 มีการบูรณะองค์เจดีย์ด้วยการพอกปูนทับด้านนอก และได้ทำการสร้างอุโมงค์ไว้ทางทิศเหนือของเจดีย์ โดยในอุโมงค์มีทางเดินเชื่อมกันทั้งหมด 4 ช่อง สามารถเดินทะลุถึงกันได้ และเชื่อมต่อมายังออกยังด้านหลังขององค์เจดีย์ หลังจากที่ราชวงศ์มังรายล่มสลายในปี พ.ศ. 2106 วัดอุโมงค์ขาดการดูแล และถูกทิ้งให้รกร้าง ปรักหักพัง เป็นวัดร้าง จนกระทั่ง “เจ้าชื่น สิโรรส” ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าอินทปัตย์ สิโรรส ได้มาพบ จึงดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ มีการสร้างกุฏิสำหรับพระภิกษุสงฆ์ และได้นิมนต์พระภิกษุปัญญานันทะจากสวนโมกข์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาจำพรรษา ซึ่งทำให้วัดอุโมงค์ได้รับการฟื้นฟูพัฒนาจนเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอันสวยงาม เงียบสงบ สำหรับจิตรกรรมฝาผนังด้านในอุโมงค์นั้น เราจะพบเห็นในอุโมงค์ได้เพียงสามด้าน ส่วนที่เหลือเลือนหายไปมากเนื่องจากภายในอุโมงค์มีความชื้นค่อนข้างสูง ในขณะนี้ ทางวัดได้จัดทำโครงการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังส่วนนี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยคัดลอกลายเส้นดั้งเดิมด้วยมือและวาดลงในคอมพิวเตอร์แล้วทำให้ออกมาเป็นภาพร่างสี ซึ่งทำให้เรายังพอมองเห็นความงดงามของช่างฝีมือล้านนาในอดีตได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากส่วนขององค์เจดีย์และอุโมงค์แล้ว ยังมีพื้นที่อื่นๆมากมายภายในวัดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการหาที่ปฏิบัติธรรม วัดอุโมงค์มีสำนักปฏิบัติธรรม หรือ ศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติ ซึ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสามารถติดต่อมาปฏิบัติธรรมได้ที่นี่ แต่จุดที่น่าสนใจกว่านั้น คือ ด้านหลังของวัดอุโมงค์ยังเป็นพื้นที่ที่เชื่อมกับ "ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเชิงดอยสุเทพ" ซึ่งถ้าเราเดินลัดเลาะไปทางด้านหลังของศาลาทองคำ (อยู่ใกล้ประตู 3 ที่เป็นทางเข้าวัด) จะมีประตูเข้าไปยังพื้นที่ป่าโบราณ หรือ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีวัดเก่าเก่าที่ยังไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่ด้านในอีก 3 วัดคือ วัดฤาษีชีวก วัดพระนอน และ วัดพระธาตุเถรจันทร์ หรือวัดพระธาตุแสงจันทร์ ซึ่งถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยตลอดเส้นทางที่เดินผ่านวัดทั้งสามแห่งไปนี้ จะได้พบเห็นสัตว์ป่าต่างๆ ทั้งวัวแดง เก้ง กวาง รวมทั้งนกชนิดต่างๆอีกเป็นจำนวนมาก เหมาะสำหรับคนรักสัตว์ป่าและชอบดูนกเป็นอย่างมาก ที่ปลายสุดของเส้นทางศึกษาธรรมชาติสายนี้ เราจะได้พบกับพระธาตุแสงจันทร์ ซึ่งอยู่ในเขตของวัดพระธาตุเถรจันทร์ ซึ่งได้ทำการบูรณะแล้วบางส่วน เป็นวัดที่มีความงดงาม สมบูรณ์ และสงบร่มเย็นเป็นอย่างมาก ใครอยากเดินป่าแบบเบาๆ เดินเรื่อยๆ เหนื่อยน้อยๆและได้ทำบุญเยอะๆ อีกทั้งยังได้เห็นสัตว์ป่านานาชนิดแบบชิดใกล้ ขอแนะนำเส้นทางนี้ เพราะอยู่ในเขตตัวเมือง ใกล้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางสะดวก เข้าถึงได้ง่าย และที่สำคัญเมื่อเดินกันจนเหนื่อยแล้ว ออกมาอีกเพียงไม่กี่สิบเมตรจากบริเวณวัด ก็จะมีร้านกาแฟเก๋ๆมากมายตลอดรายทางในซอยวัดอุโมงค์ให้เลือกชิม และถ่ายภาพกันได้อย่างจุใจอีกด้วย เรียกได้ว่า เป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ครบสมบูรณ์แบบและสะดวกที่สุดสายหนึ่งในการเดินทางมาเยือนเชียงใหม่เลยทีเดียว