รีเซต

ส่องประวัติความเป็นมา จังหวัดชัยนาท เมืองทางผ่าน ลองแวะดูแล้วจะหลงรัก

ส่องประวัติความเป็นมา จังหวัดชัยนาท เมืองทางผ่าน ลองแวะดูแล้วจะหลงรัก
nukkpidet
30 มิถุนายน 2564 ( 12:11 )
10K

     แม้ว่าที่ จังหวัดชัยนาท นั้น จะเป็นเมืองทางผ่านเล็กๆ ไม่ได้ใหญ่มากนัก แต่ก็มีความเป็นมาตั้งแต่ในสมัยสุโขทัยแล้วนะคะ ลองมาดู ประวัติจังหวัดชัยนาท นี้กันดีกว่า ว่ากว่าจะมาเป็นจังหวัดแบบที่เราเห็นในวันนี้ เมื่อก่อนนั้นเป็นมาอย่างไรกันบ้าง 

 

 

เปิดประวัติ จังหวัดชัยนาท ก่อนจะมาเป็นชัยนาททุกวันนี้

 

จุดเริ่มต้นของ จังหวัดชัยนาท

     จังหวัดชัยนาท ถือได้ว่าเป็นเมืองเก่ามาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เพราะเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงสุโขทัยที่มีชื่อว่า “เมืองชัยนาท” นั่นเองค่ะ โดยในราวๆ ปี พ.ศ.1890 ปีที่พระเจ้าลิไทยขึ้นครองราชย์ ทางกรุงสุโขทัยมีความไม่สงบเกิดขึ้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงกรีฑาทัพไปยึดเอาเมืองชัยนาท 

 

 

     ต่อมาเมื่อทางสุโขทัยสงบเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าลิไทยเลยแต่ตั้งทูตไปเจรจาขอเมืองชัยนาทคืน ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนครอินทราชา ทรงเห็นว่าทางกรุงสุโขทัยอ่อนแอและเสื่อมลง กลัวจะไม่มีเชื้อพระวงศ์สุโขทัยปกครองต่อไป เลยให้ราชโอรสไปครองเมืองต่างๆ ซึ่ง ราชโอรสองค์ที่ 3 “เจ้าสามพระยา” ก็ได้ไปครองเมืองชัยนาทบุรี ซึ่งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา และน่าจะเป็นบริเวณหมู่ที่ 6 ของตำบลชัยนาท เพราะว่ามีปูชนีย์สถาน อย่าง บรมธาตุเก่าแก่ ที่ วัดบรมธาตุวรวิหาร นั่นเองค่ะ

 

     พอมาในสมัยที่ สมเด็จพระราชาธิราชที่ 2 ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.1994 พระเจ้าติโลกราชก็ได้ยกกองทัพมาตีเมืองกำแพงเพชรและส่งกำลังมากวาดต้อนครัวเรือนถึง เมืองชัยนาท ทำให้เมืองชัยนาทน่าจะถูกให้ทิ้งร้างตั้งแต่คราวนั้นเป็นต้นมา ต่อมาในปี พ.ศ.2094 ในสมัย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ได้มีการแต่งตั้งเมืองชัยนาทขึ้นใหม่ ทางฝั่งตรงกันข้ามกับตัวเมืองเดิม คาดว่าน่าจะเป็นบริเวณของบ้านแหลมยางหมู่ที่ 2 ในตำบลบ้านกล้วย

 

 

จังหวัดชัยนาท สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึง ปัจจุบัน

     จนมาถึงใน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวเมืองชัยนาท ก็ได้ถูกย้ายมาตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นบริเวณของหมู่ที่ 4 ตำบลบ้านกล้วย ตอนหัวแหลม ตามประวัติศาสตร์จะเรียกที่นี่ว่า “แหลมตาอินโชติ” นั่นเองค่ะ และในปี พ.ศ. 2445 กรมทหารราบที่ 16 ได้ย้ายไปอยู่จังหวัดนครสวรรค์  เลยทำการย้ายตัวศาลากลางจังหวัดมาตั้งอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันนี้ ทำให้อำเภอบ้านกล้วยก็ต้องย้ายตามมาด้วย และได้สร้างที่ว่าการอำเภอใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2472 และเปลี่ยนชื่อมาเป็น อำเภอเมืองชัยนาท ณ ปี พ.ศ.2481 มาจนทุกวันนี้ค่ะ

 

คำขวัญ จังหวัดชัยนาท

 

ตราประจำจังหวัดชัยนาท

     ตราประจำจังหวัดชัยนาท จะเป็นรูปของ พระธรรมจักรรองรับด้วยพญาครุฑ ด้านหลังก็จะเป็นแม่น้ำและภูเขา โดยรูปธรรมจักรนั้น มาจากฝ่าพระหัตถ์ข้างขวาของหลวงพ่อธรรมจักร ที่ประดิษฐานที่วัดธรรมามูลวรวิหาร ซึ่งชาวชัยนาทนั้น มีความศรัทธาและเคารพนับถือกันอย่างมาก ส่วนรูปพญาครุฑก็หมายถึงว่า พญาครุฑนั้นซาบซึ้งในพระธรรมจักรอันเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของพระศาสนานั่นเองค่ะ และสุดท้ายแม่น้ำกับภูเขา ก็หมายถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดชัยนาทที่สมบูรณ์ค่ะ

 

 

คำขวัญจังหวัดชัยนาท

“หลวงปู่ศุขลือชา เขื่อนเจ้าพระยาลือชื่อ นามระบือสวนนก ส้มโอดกขาวแตงกวา”

     หลวงปู่ศุขลือชา หมายถึงพระครูวิมลคุณากร หรือ หลวงปู่ศุข เกสโร เป็นที่เคารพบูชาของชาวชัยนาทค่ะ และที่จังหวัดชัยนาทนั้นก็เป็นที่ตั้งของ เขื่อนเจ้าพระยา เป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย ส่วนที่เที่ยวชื่อดังอย่าง สวนนกชัยนาท ก็ถือว่าเป็นทั้งท่องเที่ยวและสถานอนุรักษ์พันธุ์นก ที่โด่งดังและตั้งขึ้นมานาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 แล้ว ส่วนสุดท้ายคือ ส้มโอดกขาวแตงกวา นั้น เป็นพันธุ๋ส้มโอที่ขึ้นชื่อของชัยนาทเลย โดยจะมีการจัดงาน งานวันส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทขึ้นทุกปีอย่างยิ่งใหญ่เลยค่ะ

 

 

สถานที่ท่องเที่ยวใน จังหวัดชัยนาท

     พอพูดจังหวัด ชัยนาท หลายคนอาจจะไม่ได้นึกถึงที่เที่ยวกันสักเท่าไหร เพราะส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดที่เป็นทางผ่านไปจังหวัดใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ถ้าพูดถึงที่เที่ยวดัง ก็ต้อง สวนนกชัยนาท ที่โด่งดังและมีมาอย่างยาวนานแล้ว รวมไปถึง เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนทดน้ำเขื่อนแรกของไทย ที่มีวิวทิวทัศน์สวยงาม แต่ถ้าพูดถึงวัดสวย ก็เยอะเลยค่ะ เพราะมีทั้ง วัดธรรมามูลวรวิหาร วัดปฐมเทศนาอรัญวาสี (เขาพลอง) วัดมหาธาตุ วัดปากคลองมะขามเฒ่า เป็นต้น รวมถึงที่เที่ยวชุมชนอย่าง ชุมชนสรรพยา ชุมชนห้วยกรด ก็น่าสนใจมากทีเดียวค่ะ

 

อ้างอิง https://district.cdd.go.th/ , http://www.oic.go.th/ , https://www.m-culture.go.th/ , https://www.chainatlocal.go.th/ 

 

ตามติดเทรนด์เที่ยว อัพเดทที่พักสวย
แชร์ทริปสุดชิล โพสต์ภาพสุดปัง ของคุณได้แล้วที่ แอปทรูไอดี
คลิกเลย >> TrueID Travel Community <<