ใครเคยไปเที่ยวเชียงใหม่จะรู้ว่าเชียงใหม่มีที่เที่ยวเยอะมาก ที่พักเยอะมาก บางแห่งไปแล้วก็ยังอยากไปอีก บางแห่ง ต้องใช้เวลาหลายวันในการเก็บรายละเอียด เราเอง แม้จะไปจังหวัดเชียงใหม่หลายครั้ง แต่ก็ยังเก็บรายละเอียดแต่ละแห่งไม่หมด รอบนี้ก็เลยขอเก็บรายละเอียดเบา ๆ ที่แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เราไปถึงเชียงใหม่ประมาณ 4 ทุ่ม มีเพื่อนมารับแล้วพาไปส่งที่พักชื่อ Warisa Apartment ห้องพักดี สะอาดสะอ้าน มีระบบคีย์การ์ดดีงาม ราคาก็น่ารักแค่ 500 บาท ถึงห้องพักแล้วก็อาบน้ำอาบท่านอนเก็บเรี่ยวเก็บแรงไว้เที่ยวพรุ่งนี้ เช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อนๆ ที่นัดหมายกันไว้ก็มารับที่หน้าที่พัก เสร็จแล้วเราก็พากันเข้าเมืองหาอะไรกิน รอบนี้เราตั้งใจไปกินไข่กระทะ แต่พอเห็นเมนูก็เลยเปลี่ยนใจสั่งข้าวต้ม กับกาแฟเวียตนาม มากินแทน พออุ่นสบายท้อง ก็ออกเดินทางต่อ คืนนี้เราจะไปนอนสโลว์ไลฟ์ ที่หมู่บ้านผาปู่จอม อำเภอแม่แตง ดังนั้น ทริปในวันนี้ก็ควรจะเป็นทริปแถว ๆ อำเภอแม่แตง เราดูแผนที่และรีวิวหลายที่ก็เลยตกลงใจไปแช่น้ำพุร้อนโป่งเดือด ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอแม่แตงประมาณ 40 กม. กว่า ๆ ระหว่างดูทางก็แอบสงสัยกันนิดหน่อยว่าระยะทางแค่นี้ทำไมใช้เวลานานจัง พอถึงแยกแม่มาลัยเลี้ยวซ้ายไปได้สักพักก็ถึงบางอ้อ ว่าถนนค่อนข้างคดเคี้ยว พอให้คนเคยชินกับการขับรถทางราบได้ตื่นเต้นเล็กน้อย โชคดีที่มี GPS ทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น ก่อนที่จะไปถึงน้ำพุร้อน เราเจอร้านกาแฟน่ารักข้างทาง ชื่อร้าน Bamboo Grove ที่นี่มีบริการเครื่องดื่มร้อนเย็น และบริการที่พัก แถมยังมีจุดให้ถ่ายรูปเยอะแยะ จิบกาแฟและถ่ายรูปจนเป็นที่พอใจแล้วเราก็ออกเดินทางต่อ เราไปถึงน้ำพุร้อนโป่งเดือดราว ๆ สิบเอ็ดโมง นอกจากการเดินป่าชมน้ำพุร้อน และกิจกรรมแช่น้ำพุร้อน ที่นี่มีร้านอาหารบริการนักท่องเที่ยว แต่จะเป็นอาหารจานเดียวง่าย ๆ เราก็เลยตั้งใจว่าจะหาอะไรเบา ๆ รองท้อง แช่น้ำอุ่นให้สบายใจแล้วค่อยออกไปหาอะไรกินข้างนอกดีกว่า พวกเราเดินไปดูน้ำพุร้อน ผ่านเส้นทางศึกษาธรรมชาติ แต่อาจจะเพราะมันเป็นปลายฤดูร้อนแล้ว ทำให้ต้นไม้ไม่ค่อยเขียวชะอุ่มเท่าที่ควร แต่ถึงกระนั้นที่นี่ก็ยังอากาศดี เย็นสบายกว่าอากาศด้านนอกพอสมควร พอไปถึงน้ำพุร้อน เราก็ทำการลวกไข่ จับเวลา 3 นาทีเพื่อให้ได้ไข่ออนเซ็นเป็นยางมะตูม แปลกเหมือนกันที่ไข่ลวกในน้ำพุร้อน (เดือด ๆ ) นี่จะรสชาติดีกว่าไข่ต้มทั่ว ๆ ไป รึเพราะเราหิวก็ไม่รู้นะ ไข่ลวก 6 ฟอง สำหรับผู้หญิงหิวโซ (โดยเฉพาะคนเขียน) จึงเป็นอาหารชั้นเลิศที่หมดไปอย่างรวดเร็ว กินไข่ลวกเสร็จแล้วก็มาลวกคนต่อ เราซื้อบัตรสำหรับแช่น้ำพุร้อนในราคา 50 บาท/คน เพราะเลือกแบบห้องแยก ถ้าใครอยากแช่บ่อรวมที่แยกชายหญิง ก็จะราคาถูกกว่านี้ แล้วก็ไม่ต้องกังวลใจว่าเราไม่ได้เตรียมผ้าผ่อนท่อนสไบไปเปลี่ยนจะแช่ไม่ได้ ที่นี่มีบริการผ้าเช็ดตัว ผ้านุ่ง ให้เช่าแช่น้ำด้วยค่ะ แช่น้ำอุ่นขับไล่ความปวดเมื่อย ดำผุดดำว่ายสบายใจแล้ว ก็ออกมานั่งพักผ่อนแล้วก็เดินทางต่อ เราออกจากน้ำพุร้อนไปอีกประมาณ 6-10 กม. เจอร้านอาหารข้างทาง หน้าร้านมีรถตู้จอดอยู่หลายคัน โชคดีที่ไปถึงเป็นช่วงที่ลูกทัวร์ของรถตู้เหล่านั้นกินกันอิ่มเรียบร้อย กำลังเช็คบิลอยู่ พอเราไปถึงก็มีโต๊ะว่าง และร้านก็พร้อมให้บริการเราทันที อาหารที่มีขายที่นี่มีหลายรายการ แต่เราเลือกสั่งข้าวซอยมากินแกล้มกับน้ำแตงโมปั่นชื่นใจ อิ่มแล้วก็เดินทางไปบ้านผาปู่จอม อำเภอแม่แตง ต่อไป ระหว่างทางไปบ้านผาปู่จอม เรานึกว่าจะใกล้ ๆ กับถนนใหญ่ ที่ไหนได้ ขับเข้าป่า เข้าเขา ผ่านทุ่งนา ป่าไม้ สวนส้ม และสวนผลไม้ ก็ยังไม่ถึง สำคัญคือ ถนนเริ่มแคบ และเริ่มชัน เราขับขึ้นเขากันนานโข กลัวหลงก็กลัว ดีที่มีป้ายบอกทางเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งถึงซุ้มประตูที่คนสายตายาวอย่างผู้เขียนจะอ่านไม่ทัน ได้ยินแว่ว ๆ ว่าปู่จอม ๆ อะไรสักอย่าง ก็คาดว่าเราคงมาใกล้ถึงที่หมายแล้ว เมื่อลอดซุ้มโขงไปได้สักประมาณ 500 เมตรก็เริ่มเป็นทางลงเขา และเริ่มมองเห็นแปลงกระหล่ำปลีขนาดใหญ่สุดลูกหูลูกตา ทราบภายหลังว่าจะมีรถมารับไปส่งที่ตลาดไท กรุงเทพฯ ปริมาณที่ส่งไปขายในแต่ละรอบนั้นประมาณ 5 ตัน/คันรถ ก็นับว่าเป็นแหล่งอาหารขนาดใหญ่เลยทีเดียว ขับรถลัดเลาะเลียบเขาไปเรื่อย ๆ ตามป้าย แอบเห็นป้ายหน้าแปลงกระหล่ำว่ามีค่าบริการเข้าไปถ่ายรูปด้วยหล่ะ แต่มองจากที่เราพักกับแปลงกระหล่ำแล้ว คาดว่าเราคงไม่สามารถเดินจากที่พักมาถ่ายรูปในแปลงกระหล่ำได้แน่นอน เรามาถึงที่พักเวลาบ่ายแก่ ๆ ทำพิธีการเข้าห้องพักเรียบร้อย ก็ไปที่เต๊นท์ที่เราจองเอาไว้ ราคาประมาณ 1,600 บาท รวมเตียงเสริม หารกันสามคนก็ไม่ได้สูงมาก แถมเราได้โปรโมชั่นหมูกะทะ ที่มีเงื่อนไขว่า เมื่อเชคอินแล้วแชร์หน้า Facebook แท็กเพื่อนคนไหนก็ได้ เราจะได้กินฟรี 1 ชุด เราจัดการแชร์และแท็กเรียบร้อย พร้อมกับไปแสดงสิทธิ์ให้กับทางที่พักรับทราบ คืนนี้กินหมูกะทะฟิน ๆ กันไปเลยค่ะ สำหรับที่พักของเรา ถึงเป็นเต๊นท์กระโจม แต่ก็มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบ ไม่ว่าจะเป็นแอร์ เครื่องทำน้ำอุ่น ทุกอย่างมีให้บริการครบถ้วน แต่สำหรับคืนนี้ อากาศประมาณ 20 องศาก็คงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศให้เปลืองพลังงาน แต่ข้อเสียของการนอนเต๊นท์ก็มีคือความไม่เป็นส่วนตัวเท่าที่ควร เพราะเต๊นท์ไม่เก็บเสียง เผอิญโชคร้ายของคนมาพักใกล้ ๆ เค้าอาจจะลืมไปว่ามันไม่เก็บเสียงเลยคุยกันดังไปนิด และเลยเวลานอนไปหน่อย ความที่เราและทีมง่วงมากแต่ไม่สามารถนอนได้เพราะคนคุยอยู่ข้าง ๆ สุดท้ายก็เลยต้องลุกขึ้นมาโวยวายเล็กน้อย เพื่อให้คนข้าง ๆ รู้ตัวว่าเขาไม่ได้อยู่กันเพียงลำพัง ซึ่งเขาก็น่าจะรู้ตัวนะ เพราะสักพักก็เงียบเสียงคุย แต่มีเสียงกรนมาแทน … เราตื่นกันประมาณตีห้ากว่า ๆ เข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัวเสร็จ ก็ออกไปนั่งรอรถมารับเราไปดูพระอาทิตย์ขึ้น เผอิญว่าคนขับสงสัยจะกะเวลาผิดไปหน่อย ทำให้เราไปถึงจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ก็ขึ้นแล้ว ทำให้เราไม่สามารถหามุมถ่ายรูปได้ทัน ก็เลยเซ็ง ๆ นิดหน่อย ถ่ายๆ รูปแล้วก็เลยขึ้นรถกลับ ระหว่างทางก็สัมภาษณ์คนขับไปด้วย ทราบว่าที่นี่มีประวัติว่า มีพรานชื่อลุงปู่จอม ไปหาน้ำผึ้งอยู่ในถ้ำในป่า ลุงปู่จอมเกิดตาลายเห็นเชือกกลายเป็นงู ก็เลยเอามีดตัดเชือกทำให้ตัวเองตกลงไปตาย เล่านิทานโบราณเสร็จ คนเล่าก็ตบท้ายว่า ก็ไม่รู้ใครกลับมาเล่านะครับ .. จังหวะนั้น รู้สึกเหมือนจะซิทคอมนิดนึงในรถ เผอิญเรากำลังนึกสงสัย เลยถามคนเล่าว่าตกลงลุงปู่จอม แกเป็นลุง หรือเป็นปู่ หรือแกชื่อ ปู่จอม คนเล่าก็มีอาการเขินเล็กน้อย บอกว่าชื่อ “จอม” เฉย ๆ กลัวคนขับจะเขินไปกว่านั้นเลยเปลี่ยนเรื่องคุย เป็นสัมภาษณ์ข้อมูลทางกายภาพสถานที่แทน ไกด์ของเราก็เลยเล่าว่าชาวบ้านแถบนี้จะปลูกกระหล่ำปลีปีละครั้ง น้ำที่ใช้ในการเกษตรเป็นน้ำแร่จากภูเขา ซึ่งไกด์ของเราก็เคลมว่าน้ำแร่ที่นี่สะอาด ถูกหลักอนามัย สะอาดกว่าน้ำปะปาในเมืองอีกว่ายังงั้น นอกจากไร่กระหล่ำปลี ชาวเขาที่นี่ก็ยังมีไร่ส้ม เสียดาย เรามาช้าไปหน่อยชาวเขาเก็บส้มหมดแล้ว เหลือติดต้นหรอม ๆ แหรม ๆ เจ้าของโฮมสเตย์บอกพวกเราว่าให้กลับมาซ่อมใหม่ในช่วงเดือนตุลาคม และระหว่างทางกลับไปที่โฮมสเตย์เราขอให้ไกด์พาแวะถ่ายรูปที่แปลงกระหล่ำ เขาก็ใจดีจอดให้ประมาณ 5 นาที หลังจากนั้นก็บึ่งพาเรากลับที่พัก เพื่อกินอาหารเช้ากัน ที่นี่มีบริการอาหารเช้าแบบง่าย ๆ คือข้าวต้มหมู ใส่เห็ดหอม กาแฟ โอวัลติน และขนมปังปิ้ง เรากินทุกอย่างเสร็จสบายท้องแล้วก็ไปอาบน้ำ เก็บของเดินทางต่อ ออกจากบ้านผาปู่จอมเวลาประมาณ 9 โมง เราไม่ได้ออกทางเก่าที่เข้ามา แต่เลือกที่จะขับไปทางปางช้างแม่แตง เพื่อไปไร่ชาลุงเดช เห็นมีคนรีวิวเอาไว้น่าสนใจ ระหว่างทางเราเจอป้ายคาเฟ่ช้าง ชื่อ จังเกิ้ล เดอ คอฟฟี่ ซึ่งมีกิจกรรมให้เลือกหลายกิจกรรมและน่าสนใจอย่างมาก เราแวะเข้ไปชมด้านในปรากฎว่าที่นี่กาแฟหลักสิบ วิวหลักล้านจ้า ร้านกาแฟแห่งนี้ติดกับแม่น้ำแม่แตง ที่ไหลเอื่อย ๆ อย่างสงบเสงี่ยม และสวยงาม แดดช่วง 9 โมงที่ทอแสงประกายลอดต้นไม้มากระทบกับลำน้ำ เป็นภาพที่สวยงาม บวกกับอากาศที่ค่อนข้างเย็นทำให้การจิบกาแฟที่ จังเกิ้ล เดอ คอฟฟี่ ฟินขึ้นไปอีก จิบกาแฟสบายใจแล้ว เราก็เดินทางต่อไปที่ไร่ชาลุงเดช ความที่เราอ้อมมาทางด้านหลัง ซึ่งปกติควรใช้เส้นทางถนน แยกแม่มาลัย-ปาย ไปที่ไร่ชาจะง่ายกว่า แต่เราเผอิญอ้อมมาจากอีกฝั่ง ทำให้เส้นทางที่มาค่อนข้างคดเคี้ยว แต่ก็สวยงาม GPS พาเราไปถึงด้านหลังของไร่ชาแบบงง ๆ เราก็เถียงกับสิริตั้งนานสองนาน ไม่ชนะ ก็เลยขับวนมาอีกด้าน เห็นป้ายบอกทาง เห็นทางขึ้นแล้วก็เลยฝากรถไว้ด้านล่างแล้วเดินขึ้นไปดีกว่า ไร่ชาลุงเดชมีขนาดไม่ใหญ่มาก เหมือนเป็นไร่ชาของชาวบ้านขนาดใหญ่นิดนึง ที่นี่ผลิตชาขาว และชาเขียว มีบริการอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งที่พักที่ราคาไม่แพง บ้านพักหลังคะ 800 บาทเอง เสียดายว่าตอนที่เราไปถึงบ้านพักมีแขกพักครบทุกหลังเลยไม่ได้เข้าชมห้องพัก แต่ก็หมายใจไว้ว่าถ้ามีโอกาสก็จะมาพักผ่อนอีก เราเดินเล่นถ่ายรูป แล้วแวะไปทักแม่อุ๊ยที่เดินเก็บใบชาอยู่ขอถ่ายรูป แม่อุ๊ยเลยอธิบายเรื่องใบชาว่า ยอดที่เป็นใบที่ 1 ของยอดจะใช้สำหรับการทำชาขาว (ก็ยอดอ่อนมันจะออกไปทางขาวมากกว่าเขียวอ่ะเนอะ) ส่วนชาเขียวจะใช้ใบที่ 2-4 มิน่า ชาขาวจึงรสชาติดีและราคาแพงกว่าชาเขียว ที่ไร่ชาลุงเดชมีบริการเครื่องดื่ม และอาหารด้วย ไหน ๆ ก็มาถึงด้วยความยากลำบากแล้วก็ต้องลองให้ครบ เราสั่งชาร้อนมา 1 กา และชาเขียวปั่นมาลองกัน ส่วนอาหารมีเมนูยำแซลมอน (กระป๋อง) ใบชาชุบแป้งทอด กระหล่ำทอดน้ำปลา กับอะไรอีกอย่างหิวจนหน้ามืด วันนี้กินข้าวเบิ้ลไปสองจานถึงจะเอาอยู่ พอมีเรี่ยวมีแรง ก็เดินถ่ายรูปเก็บรายละเอียดเล็กน้อย ก่อนเดินทางต่อไป ความที่เวลามีน้อย เราก็เลยเก็บรายละเอียดเฉพาะเขต แม่แตง ฝั่งทิศตะวันตก ไว้มีโอกาสคราวหน้าจะกลับไปเก็บตกแม่แตง และเมืองอื่น ๆ ของเชียงใหม่เอามาเล่าสู่เพื่อน ๆ ฟังโอกาสต่อไปค่ะ เรื่องและภาพ โดยผู้เขียน