นอกจากความแปลกที่เป็นพระพุทธรูปมีเพียงครึ่งองค์ไม่เหมือนที่ใดในโลกแล้ว บรรดาพระอริยะสงฆ์ที่คนนับถือระดับประเทศหลายรูปเคยมาบำเพ็ญภาวนาที่นี่ และเรื่องปาฎิหาริย์ที่ช่างทำทางรถไฟสายเหนือไม่สามารถระเบิดหินได้แม้แต่ก้อนเดียว จนถึงกับที่พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีรับสั่งให้หยุด เป็นเหตุให้มาอำเภอตาคลีแล้วไม่แวะไปวัดนี้ไม่ได้เลยทีเดียว วัดเขาภูคาจุฬามณี บางคนก็เรียกว่า วัดเขาภูคา, วัดถ้ำเขาภูคา ตั้งอยู่เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเขาโภคา ภูเขาหินปูนขนาดย่อมลูกเดียวโดด ๆ ท่ามกลางไร่สวนโดยรอบ ห่างจากทางรถไฟสายเหนือด้านทิศตะวันออกราว 800 เมตร หากมองไปที่ยอดเขาดี ๆ จะเห็นเศียรของพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมาให้เห็นที่ปลายอดไม้ชัดเจน ปัจจุบันมีพระภักดี ปภาโส เป็นเจ้าอาวาส พื้นที่โซนด้านล่างบริเวณเชิงเขา ไม่ต่างจากวัดอื่นทั่วไปนัก จุดที่น่าสนใจเริ่มต้นที่บันไดพญานาคคู่ 7 เศียรสีเงินและสีทอง ตรงกลางมีพระพุทธรูปปางนาคปรกสีทองให้ได้กราบไหว้ ก่อนที่จะเป็นทางเดินเท้าและบันไดปูนขึ้นไปบนยอดเขาโภคากว่า 70 เมตร สูงขึ้นมาอีกหน่อยเป็นถ้ำขนาดกลางที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต หลวงปู่บุดดา หลวงปู่โง่น หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่โอภาสี หลวงพ่อเดิม หลวงปู่สงฆ์ และหลวงปู่บุดดา เป็นต้น เคยมาบำเพ็ญภาวนา มี 2 ชั้น เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ และปางตรัสรู้ รวมถึงรูปเคารพของพระอริยะสงฆ์และอุบาสิกานักปฏิบัติธรรมชื่อดังที่สายบุญสายบารมีรู้จักกันดีคือคุณแม่บุญเรือน โตบุญเติม ออกจากถ้ำ เดินขึ้นเขาไปเรื่อย ๆ พร้อมกับชมวิวทิวทัศน์ระหว่างทาง เมื่อถึงยอดเขาสิ่งที่สะกดสายตาทุกคู่ให้มองนั่นคือพระพุทธรูปองค์ใหญ่ นามว่า “พระพุทธเกศแก้วจุฬามณี” เป็นพระพุทธรูปสร้างด้วยคอนกรีตครึ่งองค์ ตั้งแต่พระอุระขึ้นมา ล้อมรอบด้วยปูนปั้นดอกบัวสีชมพู เหมือนโผล่มาจากใต้ภูเขาหิน ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ถ้าสร้างเต็มองค์นี่จะสูงใหญ่ขนาดไหน เมื่อเดินไปด้านหลังพระพุทธรูป จะมีรูปปั้นช้างตัวใหญ่ตรงต้นทางเดินไปและเดินกลับแยกกัน เพื่อไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาทพระสิทธัตถะ ซึ่งเป็นพระพุทธบาทที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกแผ่นดิน ขนาดกว้าง 82 ซ.ม. ยาว 2 ม. 21 ซ.ม. มีลักษณะเหมือรอยเท้ายุบลงไปอยู่ในก้อนหิน เหมือนเราเดินเหยียบโคลนแล้วทิ้งรอยไว้ ข้าง ๆ มีพระพุทธบาทหินจำลองอีกหนึ่งรอยไว้ให้ได้กราบไหว้และปิดทอง ทั้งหมดถูกครอบด้วยมณฑปขนาดใหญ่ศิลปะแบบอินเดีย สำหรับผมแล้ว พื้นที่ของวัดทั้งหมดตั้งแต่เชิงเขามาถึงด้านบน ถือว่าเป็นผืนดินในส่วนที่เป็นร่างกายพระพุทธรูปท่อนล่าง ทำให้เวลาเดินกลับหรือจะคิดอะไร ๆ มีความสำรวมและมีความสงบมากขึ้น กุศโลบายของหลวงปู่หลวงพ่อครูบาอาจารย์เช่นนี้ คนที่เป็นสายวัดสายบุญสายเที่ยวควรต้องมีความตระหนักมากยิ่งขึ้นเวลาไปวัดต่าง ๆ เพราะนั่นคือ การภาวนาอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราละตัวตนได้อย่างชัดเจน สิ่งที่น่ารู้ 1. เขาโภคา มีความหมายว่า ภูเขาอันเป็นโภคสมบัติของแผ่นดิน ตำนานท้องถิ่นเล่าว่าพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงโปรด ให้สร้างทางรถไฟสายเหนือ นายช่างที่คุมการก่อสร้างได้เห็นว่ามีภูเขาหินอยู่ใกล้ คิดจะเอาหินมาใช้ พยายามระเบิดสักเท่าไรก็ไม่สำเร็จ เมื่อความนี้ได้ทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องแปลก จึงสั่งให้ยุติ 2. พระพุทธเกศแก้วจุฬามณี เป็นพระพุทธรูปปริศนาธรรมที่หลวงปู่สงฆ์ พรฺหมฺสโร ได้นิมิตและให้สร้างเหมือนผุดขึ้นในดอกบัวบานครึ่งองค์ มีความหมายว่า “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” 3. พระพุทธรูปหันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ ผิดจากธรรมเนียมการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ทั่วไป 4. รอยพระพุทธบาท กรมศิลปากรพิสูจน์แล้วปรากฏว่าถูกต้องตามพุทธลักษณะ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกแผ่นดินว่าเป็น “รอยพระพุทธบาทหินเป็นตามธรรมชาติ” พิกัดที่ตั้ง : วัดเขาภูคาจุฬามณี ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ การเดินทาง : ไปตามถนนสายตาคลี-หัวหวาย(3329) ถึงโรงเรียนบ้านหนองพังพวย เลี้ยวขวาไปตามทางอีก 3 กิโลเมตร สังเกตเห็นเป็นภูเขาด้านทิศตะวันออก วันเวลาเปิดปิด : 07.00-17.00 น. ภาพประกอบทั้งหมดถ่ายโดยผู้เขียน : อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ฟรี