ภาพโดยผู้เขียน เวลาพูดถึง วัดตะเคียน นนทบุรี คนส่วนใหญ่จะนึกถึง “ตลาดต้องชม” หรือตลาดน้ำวัดตะเคียนเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเราไปที่นั่นจริง ๆ แล้ว เราจะพบเห็นศาสนวัตถุ วัตถุทางเชื่อ พิธีกรรมศาสนาอันแสดงถึงความเป็นพุทธแบบไทย ๆ ที่น่าสนใจหลายอย่าง วันนี้ผู้เขียนอยากเสนอในอีกมุมมองหนึ่งในด้านเรื่องของขลัง อาคมที่เกี่ยวกับเรื่องเสือ เพราะเมื่อเราเข้าไปในวัดตะเคียน แล้วเดินสำรวจรอบ ๆ วัด เราจะเห็นรูปปั้นเสือจำนวนมากที่ทางวัด จัดวางเรียงรายตามจุดต่าง ๆ เราลองมาแสวงหาคำตอบ และไขข้อข้องใจกันว่า “ทำไมที่วัดตะเคียนแห่งนี้จึงเลือกรูปปั้นเสื้อจัดวางไว้อย่างนั้น” ภาพโดยผู้เขียน ณ วัดตะเคียน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี แห่งนี้นับว่า เป็นวัดที่เก่าแก่ มีอายุนับร้อยปี และมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับหลวงปู่แย้ม การศึกษาประวัติของหลวงปู่จึงเป็นเริ่มต้นของเรื่องราวเกี่ยวกับรูปปั้นเสือที่ปรากฏอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของวัดนั่นเอง หลวงปู่แย้ม ชื่อและสกุลเดิมคือ "แย้ม ปราณี" มีชาติภูมิเดิมอยู่ที่ ต.เจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีจึงได้อุปสมบทตามประเพณี และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้มารดาที่ล่วงลับไปแล้ว ที่วัดหลักสองบำรุงราษฎร์ ในพรรษาที่ ๒ ปรากฏว่าหลวงปู่อาพาธหนัก จึงกลับรักษาตัวที่บ้านด้วยยาต้มแผนโบราณ หลังจากหายดีแล้ว หลวงปู่ได้สนใจศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณในที่สุดก็มีความแตกฉานในศาสตร์แขนงนี้ และได้นำความรู้ช่วยรักษาชาวบ้านจนมีชื่อเสียงโด่งดัง ภาพโดยผู้เขียน ประมาณพรรษาที่ ๑๐ หลวงปู่ก็สนใจเรื่องคาถาอาคม จึงเดินทางไปเรียนกับหลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้อง จ.สมุทรสาคร และใช้เวลาเรียนไม่นานนักโดยเลือกเรียนวิชาทำตะกรุดจากวิชาอาคมที่มีอยู่มากมายหลากหลายเวลานั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าเอาไว้ป้องกันตัวจากภยันตรายต่างๆ ต่อมาหลวงปู่ได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดตะเคียนซึ่งสมัยก่อนเป็นป่าสวนส้มเขียวหวานเกือบทั้งหมด ถนนหนทางไม่สะดวกสบาย ท่านก็เริ่มพัฒนาวัด เผยแผ่ธรรมะ และช่วยเหลือชาวบ้านตามความรู้ที่ท่านได้เล่าเรียนมา จนชาวบ้านที่ชุมชมวัดตะเคียนมีความเคารพศรัทธาหลวงปู่เป็นอย่างมาก ภาพโดยผู้เขียน ทีนี้เมื่อเรากล่าวถึงเรื่องคาถาอาคมของหลวงปู่แย้มที่ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนมานั้น วัตถุประสงค์ของท่านก็เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้คน ดังนั้น วัตถุมงคลจึงถูกสร้างขึ้นมาจำนวนหนึ่ง และที่มีชื่อเสียงได้แก่ ตะกรุดคอหมา ตระกุดเสือปืนแตก ตะกรุดคลองตะเคียน เป็นต้น โดยท่านได้จารยันต์ คาถาพระเจ้า ๕ พระองค์ หรือเรียกว่า "แม่ธาตุใหญ่" ซึ่งมีพุทธคุณเหนือยันต์ทั้งปวงลงในตะกรุดเหล่านั้น นอกจากนั้น ยังมียันต์อีกตัวหนึ่ง เรียกว่า เป็นยันต์เฉพาะตัวของหลวงปู่แย้ม คือ "ยันต์มหาเบา" ที่ท่านศึกษาจากตำราหลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้อง กับ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ภาพโดยผู้เขียน เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมดดังที่ที่กล่าวมาแล้ว จะพบว่าเหตุที่วัดตะเคียนมีรูปปั้นเสือนั้นเชื่อมโยงกับวัตถุมงคลของหลวงปู่ การเลือกเสือมาเป็นวัตถุมงคล เครื่องรางของขลังนั้นโดยเลือกลักษณะเด่นของเสือ 2 ข้อ คือ ข้อที่ 1 ลักษณะเด่นทางมหาอำนาจและอยู่ยงคงกระพัน เหตุของการสร้างตะกรุดที่เกี่ยวข้องกับหนังเสือเป็นเพราะมีลูกศิษย์มาสอบถามและต้องการมีตะกรุดของท่านไว้บูชา ท่านจึงทำเป็นตะกรุดหนังเสือซึ่งเป็นหนังเสือโคร่งที่มีลูกศิษย์ที่มีฐานะนำมาถวาย หลวงปู่ได้อธิบายว่าเสือเป็นสัตว์ที่มีตบะ มีบารมีหากนำมาทำเป็นเครื่องรางของขลังจะมีลักษณะเด่นไปในทางมหาอำนาจ และอยู่ยงคงกระพัน ข้อที่ 2 ลักษณะเด่นทางเมตตามหานิยม หลวงปู่มองว่าตะกรุดหนังเสือมีความเกี่ยวพันกับเรื่องเมตตาอยู่มากไม่ใช่มีแค่ทางมหาอำนาจอย่างเดียว โดยยกตัวอย่าง เวลาเราพูดถึงสวนสัตว์ แล้วถามเด็ก ๆ ว่าอยากดูสัตว์อะไร ส่วนใหญ่ก็จะตอบว่า อยากดูเสือ หลวงปู่อธิบายนรื่องเมตตามหานิยมของเสือด้วยเหตุอย่างนี้ การจัดวางรูปปั้นเสือไว้ในวัดตามลักษณะนี้ เพราะมีสเน่ห์อย่างหนึ่งที่ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาที่วัดตะเคียนนั่นเอง อ้างอิง: https://youtu.be/olkXpVEifIw https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/129147