รีเซต

ตามรอย วันทอง วัดป่าเลไลยก์ ไหว้หลวงพ่อโต เที่ยวสุพรรณบุรี บุกเรือนขุนช้าง

ตามรอย วันทอง วัดป่าเลไลยก์ ไหว้หลวงพ่อโต เที่ยวสุพรรณบุรี บุกเรือนขุนช้าง
เอิงเอย
12 มีนาคม 2564 ( 14:46 )
16.2K

       จากความแซ่บของ ละครดัง วันทอง 2021 ที่ได้ ใหม่ ดาวิกา มารับบท นางวันทอง หรือ นางพิมพิลาไลย จากนิทานพื้นบ้านชื่อดังของไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ทำให้วันนี้เราได้แรงบันดาลใจไป เที่ยวสุพรรณบุรี บุก เรือนขุนช้าง ตามหานางวันทองกันที่ วัดป่าเลไลยก์ วัดดัง สุพรรณบุรี ที่มีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวของ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตั้งแต่ต้นจนจบ รอบระเบียงคดของพระวิหาร กันค่ะ

 

Urvashi-A / Shutterstock.com


วัดป่าเลไลยก์ วัดดัง สุพรรณบุรี
ตามรอย วันทอง เรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน

 

       วัดป่าเลไลยก์ เป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ใน อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่มีอายุราวๆ 1,200 ปีมาแล้วค่ะ ทำให้ที่นี่เป็น วัดดัง สุพรรณบุรี ถ้าใครมาเที่ยวสุพรรณบุรี แล้วไม่ได้มาสักการะ หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ ก็เหมือนมาไม่ถึงสุพรรณเลยทีเดียว เพราะวัดป่าเลไลยก์เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของสุพรรณบุรีนั่นเอง อีกทั้ง ยังมีความเกี่ยวข้องกับวรรณคดีไทยชื่อดังคือ ขุนช้างขุนแผน อีกด้วย

 

adul24 / Shutterstock.com

 

สักการะ หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์

 

Panwasin seemala / Shutterstock.com


      นอกจากวรรณคดีไทย ขุนช้างขนแผน ที่ทำให้ชาวบ้าน และคนสุพรรณ มีความผูกพันใกล้ชิดกับวัดป่าเลไลยก์แล้ว ภายในวิหารยังประดิษฐาน หลวงพ่อโต ซึ่งเป็นที่สักการะบูชาของชาวบ้าน และภายในองค์พระพุทธรูปหลวงพ่อโตนั้นได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้อีกด้วย

       หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะสมัยอู่ทอง ประทับนั่งห้อยพระบาท และมีความสูงถึง 23.47 เมตร กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยทรงพระวินิจฉัยว่า พระพุทธรูปหลวงพ่อโตองค์นี้ อาจจะเก่าแก่กว่าสมัยอู่ทองขึ้นไปอีก อาจจะถึงสมัยลพบุรีและทวารวดี เลยทีเดียว

      แต่เดิมนั้นหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางประทานปฐมเทศนา เช่นเดียวกับพระพุทธรูปศิลาขาว หรือหลวงพ่อประทานพร วัดพระปฐมเจดีย์ ต่อมาได้มีการบูรณะและทำเป็นปางป่าเลไลยก์ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันค่ะ


เสภาขุนช้างขุนแผน และ วัดป่าเลไลยก์

 

เสภาขุนช้างขุนแผน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี

noiAkame / Shutterstock.com

 

      วัดป่าเลไลยก์ ปรากฏในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนที่ พลายแก้ว ได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้มาเรียนคาถาอาคม เทศน์มหาชาติ กับ สมภารมี แห่งวัดป่าเลไลยก์

 

Urvashi-A / Shutterstock.com

 

     รอบๆ วิหารหลวงพ่อโต จะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เล่าเรื่องราวของ ขุนช้าง ขุนแผน ตั้งแต่เริ่มเรื่อง จนถึงตอนสุดท้าย เป็นภาพที่สวยงามที่ถ่ายทอดเรื่องราวแต่ละตอนที่สำคัญของวรรณคดีได้อย่างครบถ้วน สอดแทรกประเพณีไทยไว้ในภาพอย่างประณีต เป็นอะไรที่หาชมได้ยากจริงๆ ค่ะ

 

เรือนขุนช้าง

 


       นอกจากนี้ ในบริเวณวัดยังมี เรือนขุนช้าง เรือนไทยแบบโบราณ ที่สร้างตามเรือนของขุนช้างในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนไว้อีกด้วย โดยแต่ละห้องบนเรือนนั้น มีการจัดแสดง ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในสมัยเก่าก่อนไว้ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้อีกด้วย


ที่มาของ นิทานพื้นบ้าน ขุนช้าง ขุนแผน

       เสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เป็นนิทานมหากาพย์พื้นบ้าน โดยเล่ากันมาปากต่อปากและสันนิษฐานว่า เป็นเรื่องราวที่มีอยู่จริงในสมัยกรุงศรีอยุธยาค่ะ เนื่องจากเรื่องราวของขุนช้างขุนแผน มีปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า แต่ฉบับที่เราๆ เคยได้ยืนได้ฟังได้อ่านกันนั้น เป็นการดัดแปลงเพิ่มเติมจนมีลักษณะคล้ายนิทานเพื่อให้เนื้อเรื่องสนุกสนานขึ้นนั่นเอง

 

Jesse33 / Shutterstock.com

 

      อีกทั้งในนิทานพื้นบ้านขุนช้างขุนแผน ยังมีรายละเอียดของวิถีชีวิตชาวบ้านในสมัยกรุงศรีอยุธยา ประเพณี ขนบธรรมเนียมต่างๆ ให้เราได้เห็นภาพต่างๆ ของยุคสมัยนั้นๆ อย่างชัดเจนขึ้นผ่านนิทานเรื่องนี้ จึงเป็นความสมบูรณ์ที่หาได้ยากในวรรณคดีไทยค่ะ

       ขุนช้างขุนแผน ที่เราได้อ่านกันอยู่ในฉบับปัจจุบันนี้ เป็นฉบับที่สมัยรัชกาลที่ 2 ได้โปรดเกล้าฯ ให้กวีในราชสำนัก และพระองค์เอง ร่วมกันแต่งและทรงพระราชนิพนธ์ ขุนข้าง ขุนแผน ขี้นใหม่เป็นวรรณคดีที่มีด้านความไพเราะและในลีลาการแต่ง มีการใช้ฉันทลักษณ์อย่างวิจิตร ตลอดจนเค้าโครงเรื่อง ที่สวยงามกว่านิทานต้นฉบับเดิมที่เกือบเลือนหายไปในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เนื่องจากไม่มีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเพียงนิทานเล่ากันปากต่อปาก

       แต่ด้วยความที่ขุนข้างขุนแผนนั้นเป็นเรื่องที่มีความนิยมสูง จึงมีผู้ที่จำเนื้อหาได้อยู่มาก และทำให้ถูกฟื้นฟูกลับมาได้ไม่ยาก ทำให้ขุนช้างขุนแผนในฉบับรัชกาลที่ 2 นี้ ถูกยกย่องว่าเป็นยอดของหนังสือประเภทกลอนเสภานั่นเองค่ะ

       มาถึงตรงนี้แล้ว ใครที่รู้จักเรื่องราวของขุนช้าง ขุนแผน และอยากไปตามรอย ก็สามารถมาเที่ยวที่วัดป่าเลไลยก์ ชมภาพจิตรกรรมฝาผนัง และแวะชมเรือนขุนช้าง ไหว้พระ ขอพร หลวงพ่อโต กันได้เลยค่ะ

       และสำหรับใครที่เป็นคอละครแล้วล่ะก็ ตามมาอัพเดทเรื่องราวตอนต่อไปเด็ดๆ ของ “วันทอง” ได้ที่นี่เลยค่ะ >> รวมช็อตเด็ด ละคร วันทอง 2021 <<

 

ข้อมูล วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี