ตำนาน 9 สัตว์หิมพานต์ สิ่งมีชีวิตวิเศษในวัดไทย มีอะไรบ้าง ?
สิ่งมีชีวิตตามตำนานต่างๆ ในเมืองไทยนั้น จะว่าไปแล้วก็อยู่ใกล้ตัวเราอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะตั้งแต่ยังเด็กแค่เข้าวัดก็จะเห็นแล้ว แต่น้อยคนที่จะรู้จักมากไปกว่า พญานาค หรือ พญาครุท วันนี้เรามาลองทำความรู้จักกับเหล่า สัตว์หิมพานต์ ในตำนานเหล่านี้ดีกว่า ว่ามีตัวอะไรอยู่ในวัดบ้าง
- เที่ยว 5 วัด ตามรอยน้อง หิมพานต์ Himmapan Project ไอ่ต้าวน่ารักกกก สุดคิ้วท์
- เปิดตำนาน บั้งไฟพญานาค ปรากฏการณ์ศรัทธาริมฝั่งแม่น้ำโขง
9 สัตว์หิมพานต์ สิ่งมีชีวิตวิเศษในวัดไทย
1. พญานาค
หนึ่งในสิ่งมีชีวิตโบราณที่เราพบเห็นได้ในทุกบันไดวัด พญานาคอาศัยอยู่บริเวณบาดาลใต้เขาหิมพานต์ มีอิทธิฤทธิ์มากมาย จำแลงกายได้ บางชนิดพ่นพิษ พ่นไฟได้ พญานาคมีทั้งหมด 4 ตระกูลหลักๆ แต่คนไทยจะคุ้นเคยกับพญานาคในตระกูลเอราปถ หรือตระกูลสีเขียวมากที่สุด
ในคติความเชื่อของพราหมณ์นั้น นาคหรือพญานาค เป็นผู้ดูแลปกปักรักษาแม่น้ำสีทันดร เป็นแม่น้ำสายใหญ่รอบเขาพระสุเมรุ และยังทำหน้าที่เป็นสะพานสายรุ้งเชื่อมกับโลกมนุษย์และสวรรค์ด้วย ทางด้านพระพุทธศาสนา นาคยังเป็นตัวเเทนของผู้ใฝ่รู้ เป็นตัวเเทนของปราชญ์ พร้อมที่จะเข้าหาพระธรรมคำสอน จึงทำให้พญานาคกลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่บนราวบันไดวัดนั่นเอง
====================
2. มอม
george photo cm / Shutterstock.com
สำหรับตัวมอมนั้นเราจะเห็นตามวัดในแถบภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่นั้นมีแทบทุกวัด เพราะเป็นสัตว์ตามความเชื่อของชาวล้านนา ลักษณะของตัวมอมนั้นอธิบายยากมาก เพราะเกิดจากสัตว์หลายชนิดผสมกัน ทั้งหมา แมว ตุ๊กแก กิ้งก่า ลิง เสือ ฯลฯ มีแขนยาว และลำตัวยาวยืดคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน
ตัวมอมตามความเชื่อถือว่าเป็นสัตว์ของเทพชั้นสูง มีอำนาจ อิทธิฤทธิ์ อวตารลงมาเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ ชาวล้านนาจึงนิยมสร้างตั้งไว้ในวัดประดับราวบันได
====================
3. มกร
ภาพ :ธัญกิจ, wikipedia.org/w/index.php?curid=104219
มกร (มะ-กอน) อีกหนึ่งสัตว์ในตำนานตามความเชื่อของชาวเหนือ พบเห็นได้ตามวัดในแถบภาคเหนือเช่นกัน ลักษณะจะผสมระหว่างจระเข้กับพญานาค มีขายื่นออกมาจากลำตัว และมักจะถูกปั้นให้อยู่มนท่าทางที่กำลัง "คาย" พญานาคออกจากปากด้วย เรียกกันว่า "มกรคายนาค" เฝ้าอยู่ตรงราวบันไดศาสนสถาน
มกรเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นการอวยพรให้ผู้ที่เข้ามามีความสุข นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า มกรเป็นสัตว์พาหนะของพระแม่คงคา และพระวรุณ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งแม่น้ำด้วย ส่วนการที่ช่างปั้นให้คายนาคนั้น เพื่อสื่อความหมายด้านพุทธศาสนา เปรียบมกรเป็นความรัก โลภ โกรธ หลง ส่วนนาคนั้นคือ ตัวเรา แปลความหมายได้ว่า หากตัวเรายังยึดติดกับความลุ่มหลงต่างๆ เราก็เหมือนกับพญานาคที่ถูกมกรยึดติดไว้ ไม่หลุดพ้นจากความทุกข์ หรือปล่อยวางได้
====================
4. เหรา
ตัวเหรา (เห-รา) จะมีลักษณะคล้ายจระเข้ผสมกับพญานาค ซึ่งหลายๆ คนมักเรียกสับสนกับตัว มกร เพราะตัวเหรานั้นเรียกได้ว่าเหมือนนาคมีขา ในขณะที่มกรนั้นด้วยความที่กำลังคายตัวนาคออกมา คนเลยมักมองว่าเป็นนาคที่มีขาเหมือนกัน (ซึ่งจริงๆ ขานั้นเป็นของตัวมกร ไม่ใช่ของนาค) ตัวเหรายังแบ่งออกแยกย่อยเป็นลูกครึ่งได้อีกหลายแบบ ทั้งสุบรรณเหรา (ครึ่งครุฑครึ่งเหรา) สกุณเหรา (ครึ่งนกครึ่งมังกร) หรือ อัสดรเหรา (ครึ่งม้าครึ่งเหรา) เป็นต้น
====================
5. สิงห์
สิงห์ หรือ นรสิงห์ สัตว์ในตำนานที่ทำหน้าที่เป็นทวารบาล เฝ้าหน้าทางเข้า-ออกวัดหรือวิหารต่างๆ เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ และความกล้าหาญ สิงห์นั้นได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะพุกาม ครั้งที่พม่าได้เข้ามาครอบครองดินแดนล้านนา ช่างจะนิยมปั้นเป็นสิงห์ตัวผู้ (สังเกตจากขนสร้อยคอ) อยู่ในท่านั่งด้วยสองเท้าหลัง หางงอขึ้นพาดไว้กลางหลัง ส่วนสองเท้าหน้าตั้งยันพื้น อ้าปากแผดสิงหนาท ขนหัวตั้งชัน
====================
6. กิเลน
เป็นหนึ่งในสี่สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของจีน เป็นสัญลักษณ์ของคุณงามความดี เป็นสิริมงคล ในวัดแถบล้านนานิยมปั้นใช้ประดับร่วมกับสัตว์ป่าหิมพานต์อื่นๆ ช่วยในการกำจัดสิ่งชั่วร้าย และภูตผีปีศาจได้
====================
7. ช้างเอราวัณ
อีกหนึ่งสัตว์มงคลของไทย จะพบได้ในบางวัด และที่สำคัญมักจะต้องสร้างให้มีขนาดใหญ่โตด้วย เพราะตามตำนานแล้วช้างเอราวัณมีขนาดใหญ่มาก มี 33 เศียรแต่ละเศียรรองรับปราสาทของเทพ 33 องค์ (ตามวัดจะปั้นไว้เพียงสามเศียร) นิยมใช้ประดับในส่วนทางเข้าวัด ตามเจดีย์ หรือหน้าวิหาร เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายมิให้เข้ามาในศาสนสถาน
====================
8. ปี่เซียะ
สัตว์เทพมงคลของจีนที่มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้มังกร เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยขจัดอาถรรพณ์ ภูตผีปีศาจ และป้องกันสิ่งชั่วร้าย มีลักษณะครบตามหลักเบญจธาตุ คือ มีสี่เท้าแบบสิงโต มีเขาและลำตัวเป็นกวาง มีปีกของพญานก มีส่วนศีรษะแบบมังกร และมีหางแมวอันศักดิ์สิทธิ์
ลักษณะพิเศษของปี่เซียะก็คือเป็นสัตว์ที่ไม่มีรูทวาร เมื่อไม่มีรูทวารจึงกินอย่างเดียว ไม่มีถ่ายออก ผู้คนจึงนิยมบูชาเสริมโชคลาภ เพราะเชื่อว่าเงินเข้าแล้วไม่มีออก ทรัพย์เพิ่มพูนสถานเดียว
====================
9. มังกร
มังกร สัตว์ที่ทรงพลัง และศักดิ์สิทธิ์แห่งฟ้าและดิน เป็นตัวแทนของพลังที่ยิ่งใหญ่แห่งธรรมชาติ มีพลังอำนาจสูงสุดของโลกตามความเชื่อชาวจีน เกิดจากลักษณะของสัตว์หลายชนิดประกอบกัน ได้แก่
- ลำตัวยาวเหมือนงู มีเขี้ยวขนาดใหญ่หนึ่งคู่อยู่ที่บริเวณขากรรไกรด้านบน
- มีหนวดยาวลักษณะเหมือนกับไม้เลื้อย
- มีแผงคอเหมือนกับของสิงโตอยู่บน คอ, คาง และข้อศอก
- มีเกล็ดสีเขียวเข้มทั่วทั้งบริเวณลำตัวรวมทั้งสิ้น 117 เกล็ด ซึ่งเกล็ดมังกรจำนวน 81 แผ่น มีคุณสมบัติเป็นหยาง
- ซึ่งเป็นเกล็ดที่มีความดี เกล็ดมังกรจำนวน 36 แผ่น มีคุณสมบัติเป็นหยินซึ่งจะเป็นเกล็ดที่มีความชั่ว
- ลักษณะเขาของมังกรจะมีสันหลังทอดยาวไปตามหลังและหาง เป็นหนามยาวและสั้นสลับกัน มีขา 4 ขาและกรงเล็บแข็งแรง
ด้วยความที่มังกรเป็นสัตว์วิเศษขนาดนี้ ตามวัดหรือศาลเจ้าจีนจึงนิยมสร้างสถิตไว้ด้วยเพื่อความเป็นสิริมงคลนั่นเอง
====================