รีเซต

พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี ที่เที่ยวลำปาง ต้นกำเนิดชามตราไก่ พร้อมเพ้นท์ชามใบเดียวในโลก

พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี ที่เที่ยวลำปาง ต้นกำเนิดชามตราไก่ พร้อมเพ้นท์ชามใบเดียวในโลก
เอิงเอย
28 มีนาคม 2563 ( 11:00 )
13.9K
3

      แอ่วเหนือกันเจ้า วันนี้มาเช็คอิน ที่เที่ยวลำปาง มาบุกถึงแหล่งกำเนิดของ ชามตราไก่ โดยเฉพาะ สินค้าขึ้นชื่อแห่งนครลำปาง ชมกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอนที่ พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี ค่ะ พร้อมทั้งมี workshop การเพ้นท์ชามตราไก่ใบเดียวในโลกอีกด้วยเจ้า

 

 

เที่ยวลำปาง พิพิธภัณฑ์ชามตราไก่


      สำหรับการเข้าชมพิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี ตั๋วเข้าชมสามารถเป็นส่วนลดในการซื้อของและเครื่องดื่มได้ด้วยค่ะ มีการจัดแบ่งเป็นรอบๆ ได้เดินชมทั่วโรงงานเลยค่ะ โดยหนึ่งรอบใช้เวลา 30 นาที มีวิทยากรบรรยายแนะนำ ประวัติความเป็นมาและต้นกำเนิดของชามไก่ให้เราได้ฟังกันอีกด้วย

 

 

ที่มาของชามตราไก่ ลำปาง

 

      ท่านอาปาอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน เป็นผู้บุกเบิกในการทำชามตราไก่ในประเทศไทย โดยเมื่อปี พ.ศ.2498 ท่านอาปาอี้ (ซิมหยู) ได้ค้นพบแร่ดินขาวครั้งแรกที่บ้านปางค่า อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ต่อมาได้ร่วมก่อตั้งโรงงานเซรามิคแห่งแรกของจังหวัดลำปาง ผลิตถ้วยขนมและถ้วยตะไลด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม และส่งออกไปทั่วประเทศนั่นเอง

 

 

พิพิธภัณฑ์ชามตราไก่ มีอะไรบ้าง ?


      เดินตามรอยเท้าเจ้าไก่ ไปบุกหลังโรงงานกันเจ้า เรียกว่าเข้ามาใกล้ชิดถึงกระบวนการในการผลิตแบบทุกขั้นตอนเลยจริงๆ รวมไปถึงการจำลองสิ่งของที่เหมือนพาตัวเองหลุดเข้าไปในบ้านเรือน สัมผัสกับภูมิปัญญาในสมัยก่อน

 

ที่เที่ยวลำปาง พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี


      เดินเข้ามาในส่วนของโซนด้านในกันค่ะ มีการบอกเล่าเรื่องราววิวัฒนาการแต่ละยุค แต่ละสมัย ช่วงสงครามโลก ชามไก่จากจีนสู่ธนบุรี การเดินทางของชามไก่ในเอเชีย ชามไก่ทองคำยักษ์ใหญ่ ชามไก่ที่บางที่สุดในโลก บางขนาดที่ว่าแสงทะลุผ่านได้เลย และที่สำคัญจะได้เห็น ชามไก่ที่เล็กที่สุดในโลกที่ต้องใช้แว่นขยายซูมดูเลยล่ะค่ะ

 

 

 

ชามตราไก่ ลำปาง เที่ยวพิพิธภัณฑ์

      เดินมาถึงจุดแรกสำหรับการผลิต เป็นการผลิตแบบโบราณโดยการนำดินมาปั้นเป็นถ้วยด้วยแป้นหมุนและเก็บรายละเอียดรอบปากถ้วย จากนั้นปั้นดินให้เป็นฐานถ้วย กว่าจะได้ชามหนึ่งใบต้องผ่านกรรมวิธีอย่างละเอียดและความตั้งใจมากๆ เลยค่ะ ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดระยะเวลาในการผลิต โดยชามหนึ่งใบ ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที จากนั้นก็นำไปชุบเคลือบไปจนถึงกระบวนการเผาและเขียนลาย

 

 

      ลักษณะของชามไก่ หรือ ชามตราไก่ จะเป็นรูปทรงแปดเหลี่ยม ปากบาน ข้างชามด้านนอกมีรอยบุบเล็กน้อยรับกับเหลี่ยม ขามีเชิงวาดลวดลายด้วยมือ เป็นรูปไก่ขนคอลําตัวสีแดง หางและขาสีดําเดินอยู่บนหญ้าสีเขียว มีดอกโบตั๋นสีชมพูออกม่วง ใบสีเขียวตัดเส้นด้วยสีดําอยู่ด้านซ้าย มีต้นกล้วย 3 ใบ สีเขียวตัดเส้นด้วยสีดําอยู่ด้านขวา ชามด้านใน ใช้สีบนเคลือบขี้เถ้าเผาที่อุณหภูมิ 750 -850 องศาเซลเซียส จะได้สีดีที่สด

 

      ที่โรงงานไม่ได้ผลิตแค่ชามตราไก่อย่างเดียวนะคะ ยังมีผลิตภัณฑ์เซรามิคมากมาย ทั้งแจกันประดับ จาน ชาม ช้อน ส้อม ของใช้ตกแต่ง และชิ้นถูกประณีตอย่างละเมียดละไม และในส่วนของกระบวนการในการเผา ซึ่งในอดีตจะใช้เป็นแบบเตาเผาแบบโบราณขนาดใหญ่ ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นเตาแก๊ส LPG แล้ว

โรงเผาชามตราไก่ ลำปาง เที่ยวพิพิธภัณฑ์

 

 

       สิ่งที่พบเห็นได้มากที่สุดในโรงงาน คงจะเป็นถ้วยขนมหรือถ้วยตะไล ที่เรียงรายอยู่เป็นชั้นๆ ซึ่งเป็นฐานการผลิตแห่งแรกของประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ซึ่งที่เมืองจีนใช้เป็นถ้วยน้ำจิ้มไม่มีลวดลาย ท่านอาปาอี้ได้ออกแบบใหม่ให้มีลายที่หลังถ้วย จนคนเรียกว่าถ้วยตราลาย ก่อนเพี้ยนเสียงเป็นถ้วยตะไลค่ะ

 

       เข้าสู่กระบวนการในการเขียนลายลงบนชาม ในขั้นตอนนี้ต้องใช้สมาธิแบบสุดๆ เพื่อที่จะได้ลวดลายออกมาสวย ลักษณะพิเศษของลายที่นี่ ตัวไก่จะเต็มตัวอย่างสมบูรณ์แบบ หางของไก่จะมีชั้นตวัดเป็นเส้นเยอะ แอบสังเกตเห็นเวลาจับพู่กัน เขาจะจับสามอันพร้อมกันเลยค่ะ แล้วสลับสีวนไป เมื่อวาดลายเสร็จแล้วจะนำเข้าเตาเผาด้วยอุณหภูมิ 750 องศาเซลเซียส

 

      ปัจจุบันสินค้าของธนบดี มีการส่งออกไปยังตลาดโลกมากกว่า 70 ประเทศ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา ด้วยการออกแบบสินค้าเอง และอีกร้อยละ 30 เป็นการจัดจำหน่ายในประเทศ ผ่านร้านค้าตัวแทนทั่วประเทศและผ่านเว็บไซต์ของธนบดีอีกด้วยจ้า

 


      หลังจากเดินชมขั้นตอนการผลิตไปทุกขั้นตอนแล้ว แวะช้อปสินค้าของฝากด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ก่อนกลับ หรือจะนั่งดื่มกาแฟเย็นๆ ได้เช่นกันค่ะ มีส่วนลดจากตั๋วเข้าชมด้วยค่ะ พิเศษสุดไปกว่านั้นมี กิจกรรมการเพ้นท์เซรามิค ลวดลายที่มีเพียงใบเดียวในโลกเท่านั้น

 

 

  • ที่อยู่ : ถนนวัดจองคำ พระบาทซอย 1 ตำบลพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
  • พิกัด : https://g.page/MuseumDhanabadee?share
  • เปิดให้เข้าชม : 09.00-17.00 น.
    รอบนำชม 09.00, 10.00, 11.00, 13.00, 14.00, 15.00, 16.00 น.
  • ค่าเข้าชม : ผู้ใหญ่ 60 บาท, นักเรียน/นักศึกษา 30 บาท, ชาวต่างชาติ 100 บาท
  • โทร : 06-1273-3344
  • เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/CeramicMuseum