เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตของคนอีสานเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว เพลงที่สื่อได้ชัดเจนเพลงนึงคือเพลง "สาวบ้านแต้" แต่งโดย ธรรมนูญ แสงรังษี ในปี พ.ศ. 2502 โดยเป็นเพลงที่มีทำนองสนุกสนานแบบรำวงภาคอีสาน นิยมร้องกันในงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ เช่น วันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ วันลอยกระทง และร้องกันทุกภาคในประเทศไทย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภาคอีสาน เพลงสาวบ้านแต้ แต่งโดยใช้คำอีสานสมัยโบราณ ซึ่งแตกต่างกับภาษาอีสานในปัจจุบันค่อนข้างมาก บ้านแต้ในเพลงนี้ ผู้แต่งหมายถึง บ้านแต้ ตำบลบ้านยาง มีชื่อเป็นทางการว่า “บ้านหนองแต้” อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ในเพลงนี้จะสื่อถึงภาพบรรยากาศ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชนบทสมัยก่อน ในเนื้อเพลงจะกล่าวถึงความรักของหนุ่มสาวในสมัยนั้น “ผู้แต่งเพลงน่าจะสมมุติตัวละครขึ้นมาเป็นชายหนุ่ม แล้วไปเจอสาวบ้านแต้ ขี่รถจักรยานผ่านมาพอดี ซึ่งสาวคนนี้เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อน แต่ย้ายไปอยู่ต่างหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปมาก มาวันนี้สาวกลับทำหน้าเมินใส่ ทำให้เจ้าหนุ่มเลยตัดพ้อด้วยความน้อยใจ ว่าหยิ่งจัง อย่างนู้นอย่างนี้ เขียนจดหมายไปหาตั้งสองฉบับ ก็แต่ไม่ตอบกลับมา สุดท้ายเจ้าหนุ่มก็ไม่วายตามไปเกี้ยวต่อ ด้วยการขอขี่รถจักรยานเคียงคู่ไปด้วย หวังจะไปส่งให้ถึงบ้าน แต่เผอิญว่าบ้านของสาวเจ้า ดันอยู่ไกลเสียเหลือเกิน เลยต้องทนปั่นจักรยานจนขาแทบหมดแรง (ฟังน้ำเสียงท้อว่าหัวเข่าเหนื่อยอ่อนแล้วนะ แต่ไม่ถึงสักที แล้วทำให้คนฟังรู้สึกตลก ขำขันไม่น้อย) ในที่สุดก็ปั่นไปไกลจนถึงเกษตรสมบูรณ์โน่น (ไกลจากบ้านแต้มาก แอบบ่น)” ปัจจุบันสาวบ้านแต้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอเกษตรสมบูรณ์แล้ว โดยจะมีป้ายรูปปั้นผู้หญิงขี่รถจักรยานอยู่เยื้อง ๆ ไปรษณีย์อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และในทุกวันที่ 5 เดือนกันยายน ของทุกปีก็จะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ชื่อว่า “งานสืบสานตำนานสาวบ้านแต้” ในงานจะมีการจัดนิทรรศการของหมู่บ้านต่างๆ มีการจัดรำวงสาวบ้านแต้ และทีเป็นไฮไลท์คือขบวนสาวบ้านแต้ที่จะมีการนำเอาวัฒนธรรมของสมัยโบราณมาจัดแสดงให้ผู้คนได้ชมกันยาวหลายกิโลเมตร