อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มรดกโลก ที่เที่ยวอุดรธานี กว่า 100 ล้านปี
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ที่เที่ยวอุดรธานี ที่มีอายุมามากกว่า 100 ล้านปี และ ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลก ทางวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นแห่งที่ 5 ของไทย ต่อจากเมืองโบราณศรีเทพ เพราะฉะนั้นถ้าได้มา จังหวัดอุดรธานี นั้น จะพลาดไม่ได้เลย กับการมาเที่ยว ภูพระบาท แห่งนี้ค่ะ ที่รวบรวมโบราณสถานหลายๆ อย่างเอาไว้ด้วยกัน จะมีอะไรบ้างนั้น ตามมารู้จักไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
แหล่งประวัติศาสตร์กว่า 100 ล้านปี
อุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท มรดกโลกในไทย
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี โดยพื้นที่ทั้งหมดจะอยู่ใน เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขือน้ำ ทางกรมศิลปากรได้ขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าจำนวนกว่า 3,430 ไร่ ให้เป็นเขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อุทยานนี้จะแสดงถึงอารายธรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นหินทรายที่ถูกสร้างขึ้นจากขบวนการกัดกร่อนจากธรรมชาติค่ะ
มรดกโลกในไทย ภูพระบาท
องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศให้ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2024
นับว่า ภูพระบาท แห่งนี้ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย และยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของอุดรธานี ต่อจาก แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2535 อีกด้วย
ชื่อ ภูพระบาท นั้น มาจาก รอยพระพุทธบาท ที่ประดิษฐานอยู่บนเทือกเขานี้ และภายในเขต อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ยังมีเสาหินและเพิงหินขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป เพิงหินเหล่านี้แหละค่ะ ที่เป็นหินทราย มีอายุกว่า 130 ล้านปี อยู่ในสมัยครีเทเชียส ที่ถูกกระบวนการทางธรรมชาติกัดเซาะ ทั้งจากน้ำและลม มาหลายล้านปี เลยทำให้กลายเป็นเสาหินและเพิงหินรูปร่างสวยงามแปลกตาอย่างที่เห็นกันค่ะ
ปักหมุด อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
ที่เที่ยวโบราณสถาน
1. หอนางอุสา
ส่วนโบราณสถาน ภายใน อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ก็มีเยอะแยะมากมายเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น หอนางอุสา ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นเพิงหินขนาดใหญ่ สูงกว่า 10 เมตร รูปร่างคล้ายดอกเห็ด ตั้งอยู่กลางลานหินโล่ง
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ น่าจะมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ สมัยทวารวดี ที่ถูกดัดแปลงและใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนา ด้านบนจะมีการก่อผนังด้วยก้อนหินทราย และสกัดเนื้อหินข้างในให้กลายเป็นห้อง ด้านในนั้น อาจจะใช้เป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาก็ได้
amnat30 / Shutterstock.com
2. ถ้ำพระ
หรือจะเป็น ถ้ำพระ เพิงหินเตี้ยๆ รูปร่างแคบยาว ที่ถูกดัดแปลงให้เป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธ โดยผนังใต้เพิงหินจะสลักรูปพระพุทธรูปอยู่รอบด้าน ทั้งพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางสมาธิประทับนั่งอยู่ในซุ้มหน้าบัน พระพุทธรูปยืนขนาดเล็กยืนเรียงกัน 6 องค์ และพระพุทธรูปปางต่างๆ ทั่วทั้งผนังเพิง ซึ่งพระพุทธรูปสลักนั้น มีรูปแบบศิลปะสมัยทวารวดีและศิลปะเขมร(ศิลปะลพบุรี) ผสมผสานกันค่ะ
3. หีบศพพ่อตา
นอกจากนั้น ก็จะมี หีบศพพ่อตา หรืออีกชื่ออีก คือ ถ้ำมือแดง ที่มีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กู่นางอุสา ถ้ำวัว-ถ้ำคน และ โนนสาวเอ้ ทั้งหมดนี้จะอยู่ในบริเวณของ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ก่อนเข้าไปเที่ยว แนะนำให้ไปที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ก่อนเลยค่ะ เพื่อจะให้ทราบข้อมูลคร่าวๆ ก่อนไปเดินเที่ยวชมค่ะ จะได้แพลนว่าจะไปที่ไหนก่อน จะได้ไม่เสียเวลาและเสียเที่ยวไปเปล่าๆ ค่ะ
โดย ภูพระบาท ได้รับการประกาศเป็น แหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2 แหล่ง จาก อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และ แหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ซึ่งเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) นั่นเอง โดยถือได้ว่ามีความโดดเด่นที่สุดในโลก ตามเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล
อีกทั้งยังสามารถอนุรักษ์ กลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดี ที่มีจำนวนมาก และเป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย โดยใบเสมาของ ภูพระบาท นั้น มีความสมบูรณ์อยู่มากและยังคงตั้งอยู่ในสถานที่เดิม ทำให้เห็นได้ถึงวิวัฒนาการต่างๆ และความสวยงามทางด้านศิลปกรรมที่หลากหลายของใบเสมานั่นเองค่ะ เราสามารถเห็นทั้งหมดนี้ ได้จากหินต่างๆ ในอุทยานฯ เลยค่ะ
และทาง กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร นั้น ก็ได้มีการประกาศ ยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ในช่วงระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 12 สิงหาคม 2567 ด้วยค่ะ เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียน ภูพระบาท เป็นมรดกโลกในครั้งนี้ด้วย
ข้อมูล ภูพระบาท อุดรธานี
- ที่อยู่ : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท 194 หมู่ 8 ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
- พิกัด : https://maps.app.goo.gl/g5JK7QRWC75tx6sB9
- เปิดให้เข้าชม : 08.30-16.30 น.
- เว็บไซต์ : -