การเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวยังเมืองหลวง "กรุงเทพมหานครฯ" อันเมืองพระวิษณุกรรมสร้างนั้น หลังจากการได้มีโอกาสเยี่ยมเยือนยังวัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามฯ หรือวัดโพธิ์ (ท่าเตียน) เเล้ว หมุดหมายหนึ่งที่พลาดไม่ได้ คือ การข้ามฟากเเม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งท่าเตียนไปยัง "วัดเเจ้ง" หรือ "วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร" ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานครฯ วัดอรุณฯ นี้ มีความเป็นยาวนานตั้งเเต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเเล้ว ชื่อ วัดเเจ้ง ปรากฏตั้งเเต่ครั้งนั้นเป็นต้นมาสิ่งที่คุ้นชินอย่างยิ่งเมื่อได้ยินชื่อวัดเเจ้ง คือ "ยักษ์วัดเเจ้ง" ตามตำนานท่าเตียนที่นิยมเล่าขานกันมารุ่นสู่รุ่น เรื่องราวความเป็นไปเป็นมาของคำว่า "ท่าเตียน" (ตลาด ชุมชน เเละท่าเรือฝั่งวัดโพธิ์) ทุกวันนี้ยักษ์วัดเเจ้งยังคงยืนเป็นทวารบาล เฝ้าหน้าซุ้มทางเข้าพระอุโบสถ วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร หรือภาพจำอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็ คือ "พระปรางค์ประธาน" หรือ "พระปรางค์วัดอรุณฯ" ที่ครั้งหนึ่งเคยปรากฏอยู่หลังเหรียญชนิดราคาสิบบาท (สมัยรัชกาลที่ 9) พระปรางค์ประธานนี้จะเรียกได้ว่าเป็นเเลนด์มาร์คของประเทศไทยก็ว่าได้ พระปรางค์วัดอรุณฯ สะท้อนความงดงามของสถาปัตยกรรมไทยที่ส่งทอดจากช่วงกรุงศรีอยุธยาลงมายังช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้อย่างดีเยี่ยม ปรากฏประติมากรรม เเละการประดับประดาอย่างละเอียดลออวิจิตรพิสดาร อีกทั้งยังสะท้อนถึงคติจักรวาลวิทยาผ่านตัวสถาปัตยกรรมเอง โดยพระปรางค์ใหญ่เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ อันเป็นเเกนจักรวาล มีพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประทับอยู่ มีทวีปทั้ง 4 เเละเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อมรอบ ฯลฯหากท่านได้เข้าไปยังพระอุโบสถ ท่านจะพบกับ "พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก" พระประธานประจำพระอุโบสถ ความน่าสนใจ คือ พระพักตร์ต้นเเบบของพระประธานองค์นี้ เป็นฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เเสดงถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ ใต้ฐานพระประธานนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เเละเมื่อท่านกราบนมัสการพระประธานเป็นมงคลเเล้ว ท่านพึงพิจารณาความงาม กอปรกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่โลดเเล่นสะท้อนขนบ ธรรมเนียม ประเพณี เเละประวัติศาสตร์ผ่านจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ด้านหน้าพระอุโบสถประดิษฐาน "พระพุทธนฤมิตร" พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ เข้าใจว่า พระพุทธรูปองค์นี้ หล่อจำลองออกมาจากพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในหอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง (กรุงเทพมหานครฯ) อันเป็น "พระพุทธรูปฉลองพระองค์" หรือ พระพุทธรูปเเทนพระองค์ (เเทนตัว) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เเละใต้ฐานบุษบกของพระพุทธรูปทรงเครื่องปรากฏ "จารึกบนเเผ่นหินอ่อนสีขาว" (พ.ศ. 2426 ในสมัยรัชกาลที่ 5)ความน่าสนใจอีกประการ บริเวณรั้วลูกกรงที่ล้อมเขตรอบ ๆ พระปรางค์วัดอรุณฯ ท่านจะพบกับ ประติมากรรม "ครุฑยุดนาค" ที่ประดับอยู่ ประติมากรรมดังกล่าวนี้สะท้อนถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เหตุด้วยพระราชลัญจกร (ตราสัญลักษณ์ที่ใช้ตี หรือประทับ) ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นรูปครุฑยุดนาค เช่นเดียวกัน หากท่านใดพอจะมีเวลา โปรดเดินชมลองค้นหาครุฑยุดนาคว่าอยู่บริเวณใดบ้างของพระปรางค์นอกจากนี้ก็จะมีตุ๊กตาจีนให้ได้เดินชมตามจุดต่าง ๆ ภายในวัด หลากหลายลักษณะทั้งเทพ คน เเละสัตว์ จริง ๆ วัดอรุณฯ นี้ยังมีสิ่งให้น่าชื่นชมมากมายนอกเหนือจากที่ผู้เขียนบรรยายมา เช่น "พระเเท่นประทับในพระเจ้าตากสินมหาราช" ที่เชื่อว่าผู้ใดลอดใต้เเท่นจะพบเเต่ความมงคล ปัดเป่าสิ่งอันเป็นอัปมงคลออกไป เป็นต้น หากท่านผู้อ่านหมายใจจะไปเยือนวัดอรุณฯ ได้โปรดชื่นชมความงดงาม เเละดื่มด่ำกับร่องรอยประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่ ข้อสำคัญ คือ โปรดเคารพสถานที่ เเละสำรวมระวัง ! กระทำตามกฎในเขตโบราณสถาน เเละศาสนสถานสำคัญของประเทศด้วย ! ภาพประกอบเเละภาพปกโดย : ผู้เขียน อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !