หวนระลึกถึงบรรยากาศฤดูหนาว คราวสิ้นปีกลาย ที่ทริปการเดินทางด้วยรถยนต์มุ่งสู่ นครเชียงใหม่ ของครอบครัว ณ จุดเริ่มต้นจากหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่ทอดเวลากินระยะยาวนานเกือบข้ามวัน จนเมื่อยล้า เราจึงตัดสินใจขยับแผน ขอหยุดพักแรม 1 ค่ำคืนในที่นอนอันอบอุ่น และรายล้อมไปด้วยบรรยากาศของธรรมชาติสวยๆ ซักแห่ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วสมาชิกทั้งหมดจึงพร้อมใจกันปักหมุดให้ ‘เขื่อนภูมิพล’ เขื่อนใหญ่แห่งอำเภอสามเงา จังหวัดตาก ที่อยู่ก่อนถึงตัวเมืองเชียงใหม่ ราว 250 กิโลเมตร เป็นจุดหมายปลายทางในค่ำคืนนั้นครับ.. กระทั่งเวลาล่วงมาจนถึงพลบค่ำ เราก็เข้าสู่เขต ‘อำเภอสามเงา’ ดินแดนซึ่งเคยเป็นเขตปกครองหนึ่งที่รวมอยู่กับ อำเภอบ้านตาก มาก่อนในอดีต ซึ่งชื่อเสียงเรียงนามของสถานที่เด่นๆ ในประวัติศาสตร์ของอำเภอนี้ ล้วนเรียงตัวปรากฏอยู่ในคำขวัญของอำเภอ นับตั้งแต่ พระธาตุแก่งสร้อย พระธาตุลอย ผาสามเงา รวมไปถึง เขื่อนภูมิพล เขื่อนโค้งคอนกรีตอเนกประสงค์แห่งแรกของเมืองไทย ที่เราได้มาถึงในขณะนี้ด้วย.. บ้านพักรับรองเขื่อนภูมิพล ที่เราได้จับจองเอาไว้นั้น มีชื่อที่ถูกตั้งอย่างไพเราะว่า ‘เฮือนภูแก้ว’ ซึ่งคาดเดาได้ว่ามาจากชื่อของ เขาแก้ว แห่งอำเภอสามเงา ที่เขื่อนภูมิพลสร้างขึ้นปิดกั้นขวางแนวซอกผาสูงชัน ที่แม่น้ำปิงหลากไหลผ่าน เพื่อใช้กักเก็บน้ำนี้เอง เพียงแต่ว่าท่ามกลางความมืดขณะนั้น มันทำให้เรายังไม่อาจสัมผัสชมทิวทัศน์ที่สวยงามรอบตัวนี้ได้แต่อย่างใด กระทั่งรุ่งเช้า บรรยากาศของธรรมชาติที่น่ารื่นรมย์ภายในเขื่อน และภูมิทัศน์ที่ถูกปรับแต่งโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เจ้าของพื้นที่ จนสวยงามจรุงตาดูผ่อนคลายรอบเขตบ้านพัก ก็ปรากฏให้ได้เห็น เราฝากท้องกับมื้อเช้ารสชาติถูกปาก ด้วยเมนูที่เรียบง่ายอย่าง ข้ามต้มหมูร้อนๆ ไข่กระทะ ไส้กรอกและขนมปังปิ้งที่ ร้านอาหารเฮือนภูแก้ว ร้านประจำเรือนพัก ท่ามกลางสายหมอกไอเย็นที่คลุมไปทั่วบริเวณ สลับกับสำเนียงจากหมู่นกประจำถิ่นที่กู่ขานอย่างเพลินหูอยู่รอบทิศ ก่อนที่จะขยับย้าย มานั่งสั่งเครื่องดื่มกาแฟหลากเมนู ทั้งร้อน และเย็นสดชื่นหอมกรุ่นที่ ร้านกาแฟคุณสายชล คาเฟ่เจ้าประจำขวัญใจของชาวเขื่อนที่นี่ ก่อนที่เราจะตัดสินใจขับรถมุ่งหน้าขึ้นสู่ จุดชมวิวสันเขื่อนคอนกรีตรูปโค้งเกือกม้า และทิวทัศน์ตระการตาของอ่างเก็บน้ำกว้างเหนือเขื่อนภูมิพล เมื่อได้เหลียวดู ป้ายแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ภายในเขื่อนที่ชวนดึงดูดสายตา เราจึงเปลี่ยนแผนปักหมุดสถานที่แรก ที่จะไปเยือนเสียใหม่ นั่นคือ สะพานสวยสีสันสดใสที่ทอดข้ามลำน้ำปิง ที่เราขับผ่านไปท่ามกลางความมืด เมื่อคืนวานนั่นเองครับ เมื่อออกสตาร์ทรถยนต์ขับย้อนเส้นทาง เลาะขนาบไปตามถนนเลียบอ่างเก็บน้ำจาก บริเวณเรือนพักมาราว 650 เมตร จนมาหยุดอยู่บริเวณริมลำน้ำ ฉากของสะพานสวยนี้ก็ปรากฏขึ้น ‘สะพานปิงพิพรรธน์’ ที่ทอดตัวอยู่เบื้องหน้าของเรานี้ ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2514 มาแล้ว โดยสร้างคล้อยหลังจากการกำเนิดขึ้นของ เขื่อนภูมิพลใน พ.ศ. 2507 ราว 7 ปี และใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 2 ปี จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2516 เปิดใช้งานให้รถยนต์ และพาหนะต่างๆ สัญจรข้ามผ่าน ทดแทนสะพานไม้ขนาดเล็กแบบดั้งเดิม ที่ถูกใช้มาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของการบุกเบิกสร้างเขื่อน ที่ยังไม่มีความคงทนถาวรแต่อย่างใด จากครั้งแรกเมื่อสร้างเสร็จ ชาวเขื่อนต่างเรียกชื่อสะพานแห่งนี้จนติดปากว่า ‘สะพานเขียว’ ตามสีที่ใช้ทาในยุคนั้น จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2522 ที่ ‘สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี’ หรือ ‘องค์สมเด็จย่า’ ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดอย่างเป็นทางการ สะพานก็ถูกปรับสีสันรูปโฉมใหม่ ฉาบทาเสาเหล็กด้วยสีแดงสด กับสีเหลืองที่ราวสะพาน และเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘สะพานปิงพิพรรธน์’ อันเป็นนามมงคลที่แปลว่า ความรุ่งเรืองเจริญก้าวหน้า นั่นเอง แม้ว่ารูปลักษณ์สะพานที่เราเห็นนี้ จะดูคล้ายคลึงกับสะพานแขวน อย่างแยกไม่ออก แต่แท้จริงแล้วโครงสร้างของตัวสะพานที่ยืนหยัดทอดข้ามลำน้ำอยู่ได้นี้ เกิดจากความแข็งแรงในการรับน้ำหนักของ ตอม่อโครงเหล็กกล้า ที่ออกแบบให้มีเอกลักษณ์สะดุดตาดูประหนึ่งกับ สะพานแขวน ที่สวยงามต่างหากครับ บรรยากาศของสะพานสวยทอดข้ามลำน้ำปิง กับฉากภูเขาสีเขียวขจี ที่ตระหง่านเงื้อมสูงสลับอยู่รอบอ่างเก็บน้ำเหนือสันเขื่อน ที่แลเห็นไกลออกไป ช่างเป็นภูมิทัศน์ที่งามตายิ่ง ผืนน้ำกว้างนี้มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็น สนามแข่งขันประชันความเร็วทางน้ำอย่าง รายการเรือพายชิงแชมป์แห่งประเทศไทย รวมไปถึงการแข่งขันเรือพายแคนู และคายัค ที่ต่างก็มีสายน้ำปิง เป็นสนามชิงชัยหลัก อีกด้านหนึ่งที่ฝั่งน้ำ เราได้เห็น Landmark จักรยานเสือภูเขาขนาดยักษ์ ตั้งอยู่เป็นสัญลักษณ์ที่ประกาศว่า ที่นี่คือ สนามแห่งการชิงชัยจักรยานเขื่อนภูมิพลเสือภูเขานานาชาติ ที่ถูกจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ราวปลายเดือนสิงหาคมของทุกปี และถูกยอมรับในวงการแข่งขันจักรยานระดับโลกไปแล้ว ซึ่งเมื่อได้มาสัมผัสกับบรรยากาศจริงๆ แล้ว ก็ต้องยอมรับโดยดุษฎีว่า ภูมิทัศน์ของเขื่อนภูมิพล ช่างสมบูรณ์แบบ สำหรับนักกีฬา และผู้คนทั่วไปที่รักในการออกกำลังกาย และทำกิจกรรม Outdoor กลางแจ้ง ทั้งกิจกรรมทางน้ำ การวิ่ง ไปจนถึงการปั่นจักรยานสองล้อเพื่อท่องธรรมชาติบริสุทธิ์ อย่างแท้จริง เราใช้เวลาอ้อยอิ่งดื่มด่ำกับบรรยากาศ เก็บภาพบนราวสะพานที่ทอดวางตัวไปสู่อีกฝั่ง อันเป็นที่ตั้งของสนามกอล์ฟเขื่อน รื่นรมย์อยู่กับความร่มรื่นของเงาต้นไม้ใหญ่ ที่โน้มกิ่งก้านทอดลงสู่ผืนน้ำ จนซักพัก รถบัสรับส่งเจ้าหน้าที่เขื่อน ก็แล่นข้ามสะพานมุ่งตรงมา ชวนให้แอบคิดอิจฉาเล็กๆ ต่อคุณภาพชีวิตของ บรรดาเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ที่ต่างก็มีห้องทำงานอยู่ท่ามกลางธรรมชาติงดงามเช่นนี้ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่สำหรับเรา ผู้มาเยือนเพียงชั่วขณะแล้วต้องจากไป กลับคืนสู่เมืองใหญ่อีกครั้ง แค่เพียงได้ประทับความทรงจำดีๆ ที่ได้สัมผัสครั้งนี้ และเก็บมันไว้ภายในก็เพียงพอแล้วล่ะครับ… เครดิตภาพทั้งหมดโดย : ผู้เขียน (Ruttapol Srivilas) ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva โดย : ผู้เขียน (Ruttapol Srivilas) ข้อมูลที่ตั้ง เขื่อนภูมิพล : หมู่ 6 ตำบลสามเงา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก การเดินทาง : จากตัวเมืองตาก ระยะทางประมาณ 61 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 1 จนถึง กม.ที่ 463 ใช้ทางแยกซ้ายมือ มีป้ายเขื่อนตั้งอยู่ พร้อมสัญลักษณ์จักรยานขนาดใหญ่ ตรงปากทางเข้า เดินทางเข้าไปอีกราว 17 กม. ถึงประตูทางเข้าใหญ่ของเขื่อน บ้านพักรับรอง : คุณสายชลวิลล่า เขื่อนภูมิพล (เฮือนรับรองภูแก้ว) ติดต่อ 055-881-237 เว็บไซต์ : bbdam.egat.co.th อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !