รีเซต

เที่ยวกรุงเทพ ไหว้ขอพร ศาลหลักเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ประวัติ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

เที่ยวกรุงเทพ ไหว้ขอพร ศาลหลักเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ประวัติ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
AungAoey
5 พฤศจิกายน 2564 ( 13:55 )
63.7K
1

      กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศไทยเราค่ะ แน่นอนว่า มีสถานที่สำคัญต่างๆ ใน เกาะรัตนโกสินทร์ มากมายทั้ง วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง วัดโพธิ์ ท่าเตียน อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของ ศาลหลกเมือง กรุงเทพ อีกด้วย เพราฉะนั้น ตามเรามา เที่ยวกรุงเทพ ไหว้ขอพร ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อความเป็นสิริมงคล กันค่ะ

 

Somluck Rungaree / Shutterstock.com

ไหว้ขอพร ศาลหลักเมือง กรุงเทพ
สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

 

ประวัติ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

      ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ใกล้ๆ กับ กระทรวงกลาโหม เป็นศาลที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ใน สมัยรัชกาลที่ 1 ปี พ.ศ. 2325 ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้นนั่นเอง

 

Kittipong Chararoj / Shutterstock.com

 

     พระราชพิธียกเสาหลักเมือง ขึ้นนั้น ได้ใช้เป็น เสาไม้ชัยพฤกษ์ มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอก ยอดเสารูปบัวตูม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2325 กลางพระนครใหม่ ที่พระราชทานนามว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” ซึ่งเราเรียกต่อกันมาว่า “กรุงเทพมหานคร”

     นับว่าที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่อยู่คู่กรุงเทพฯ มาอย่างยาวนาน ปัจจุบันศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ มี เสาหลักเมือง 2 เสา ด้วยกัน เพราะเสาเดิมมีการชำรุดลงอย่างมาก และในสมัย รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่แทนต้นเดิมที่ชำรุดไป

      เสาหลักเมืองใหม่นี้ เสาไม้สัก เป็นแกนอยู่ภายในประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ และผูกดวงชาตาพระนครขึ้นใหม่ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทั้งหลายประสบความเจริญรุ่งเรืองถาวรยิ่งขึ้นนั่นเอง

 

Somluck Rungaree / Shutterstock.com

 

      ศาลหลักเมือง ได้รับการปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง ในปี พ.ศ.2523 มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี ทำให้ศาลหลักเมืองได้รับการบูรณะอย่างสวยงาม

      สำหรับศาลาศาลหลักเมืองหลังปัจจุบันนี้ มีรูปแบบเป็นอาคารเครื่องปูน ทรงยอดปรางค์ มีมุขยื่นทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีหลังคาซ้อน 2 ชั้น และมีมุขลดอีกด้านละ 1 ชั้น มีหลังคากันสาดโดยรอบ เครื่องมุงประดับกระเบื้องเคลือบ ตามลักษณะสถาปัตยกรรมอยุธยาในอดีต ซึ่งได้รับการออกแบบโดย พล.อ.ต. อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม และ รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชวินิจฉัยในงานออกแบบครั้งนี้ด้วย

 

ศาลเทพารักษ์ ภายในศาลหลักเมืองกรุงเทพ

 

 

       นอกจาก เสาหลักเมือง แล้ว ภายในศาลหลักเมือง ยังสร้าง ศาลเทพารักษ์ เพื่อเป็นที่สถิตแห่งเทพารักษ์ทั้ง 5 ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และ เจ้าหอกลอง และอาคารหอพระพุทธรูปขึ้นภายในอีกด้วย ซึ่งเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน


ขั้นตอนการไหว้ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

การไหว้ศาลหลักเมืองที่ถูกต้องนั้น จะมีอยู่ 5 จุดด้วยกัน ซึ่งต้องเรียงไปตามลำดับค่ะ

  • จุดที่ 1 หอพระพุทธรูป
  • จุดที่ 2 องค์พระหลักเมือง จำลอง
  • จุดที่ 3 องค์พระหลักเมือง องค์จริง
  • จุดที่ 4 หอเทพารักษ์ทั้ง 5
  • จุดที่ 5 เติมน้ำมันพระประจำวันเกิด และสะเดาะเคราะห์

ดูวิธีไหว้ศาลหลักเมือง เสริมสิริมงคล เต็มๆ ได้ที่

ที่เที่ยวกรุงเทพ ศาลหลักเมืองกรุงเทพ

James Apisit / Shutterstock.com

 

การแต่งกายในการเข้าชมศาลหลักเมือง

  • ผู้ชาย : ควรสวมเสื้อสีสุภาพ กางเกงขายาว หลีกเลี่ยง เสื้อกล้าม เสื้อแขนกุด
  • ผู้หญิง : ควรแต่งกายมิดชิด สวมเสื้อมีแขน กระโปรง หรือ กางเกงคลุมเข่า หลีกเลี่ยง เสื้อกล้าม เสื้อแขนกุด กางเกงสั้น กระโปรงสั้น และชุดรัดรูป

 


ความเชื่อเรื่องศาลหลักเมือง

 

somdul / Shutterstock.com

 

      ตามความเชื่อของการสร้างเสาหลักเมือง เป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้อธิบายไว้ว่า การสร้างหลักเมือง เป็นประเพณีพราหมณ์ที่มาแต่อินเดีย และประเทศไทย ก็ได้ตั้งหลักเมืองขึ้นตามธรรมเนียมพราหมณ์

      โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้บ้านเมืองนั้น มีความร่มเย็นเป็นสุข เพราะว่าเสาหลักเมือจะเป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งปกป้องคุ้มครองเมืองนั้นๆ นั่นเอง

      นอกจากนี้ ยังมี ตำนานศาลหลักเมือง ที่ไม่มีบันทึกในพงศาวดาร เป็นเรื่องเล่าปากต่อปากกันว่า ในพิธีฝังเสาหลักเมืองนั้น จะจับคน 4 คน ฝังลงไปในหลุมทั้งเป็น เพื่อให้วิญญาณของคนเหล่านั้นอยู่เฝ้าหลักเมือง เป็นผีเฝ้าคุ้มครองบ้านเมือง ป้องกันภัยต่างๆ จากศัตรู ซึ่งความเชื่อนี้ เป็นเพียงเรื่องเล่า


     การตั้งเสาหลักเมือง เป็นไปตามความเชื่อ และสิริมงคลแก่บ้านเมืองต่างๆ ที่ได้สร้างขึ้น ทำให้นอกจาก กรุงเทพฯ แล้ว จังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยก็มีศาลหลักเมืองเช่นกันค่ะ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในเมืองนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักกิจการศาลหลักเมือง หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ข้อมูล ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร

  • ที่อยู่ : ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ
  • พิกัด : https://goo.gl/maps/kL53njcR2JfiTChQ8
  • เปิดให้เข้าชม : 06.30-18.30 น. (เปิดให้เข้าชมตลอดคืนในเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ และเทศกาลตรุษจีน)
  • โทร : -
  • เว็บไซต์ : https://bangkokcitypillarshrine.com

 

ที่เที่ยวกรุงเทพ ที่น่าสนใจอื่นๆ

 

ตามติดเทรนด์เที่ยว อัพเดทที่พักสวย
แชร์ทริปสุดชิล โพสต์ภาพสุดปัง ของคุณได้แล้วที่ แอปทรูไอดี
คลิกเลย >> TrueID Travel Community <<