มหาภัยพิบัติ ปอมเปอี Pompeii นครแห่งความตาย เปิดกรุสุสานใต้ลาวา
เหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาติ และยังคงหลงเหลือร่องรอยให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อ คงจะเป็นเหตุการณ์ไหนไปไม่ได้นอกจาก เหตุการณ์ภูเขาไฟวิสุเวียส (Mount Vesuvius) ระเบิด ถล่มเมืองปอมเปอีจนจมอยู่ใต้เถ้าถ่าน คร่าชีวิตผู้คนกว่า 15,000 ราย และฝังกลบอยู่ใต้ดินนานกว่า 2,000 ปี
ดูหนังออนไลน์ ไฟนรกถล่มปอมเปอี - Pompeii
ประวัติศาสตร์ เรื่องราวของเมืองปอมเปอี
เมืองปอมเปอี (Pompeii) ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 550 ปีก่อนคริสตกาล แต่ยังเป็นเพียงเมืองของชนเผ่าเร่ร่อน จนกระทั่ง 80 ปีก่อนคริสตกาล ปอมเปอีจึงได้เป็นเมืองของอาณาจักรโรมัน และชาวปอมเปอีจึงได้รับการยอมรับเป็นพลเมืองโรมัน หลังจากนั้นไม่นาน ชาวโรมันที่มั่งคั่งพากันสร้างบ้านพักตากอากาศตามชายฝั่งทะเลของปอมเปอี และบริเวณลาดเขาของภูเขาไฟวิสุเวียส และผู้คนเหล่านี้ได้ลงทุนทำอุตสาหกรรมผลิดสิ่งหรูหราฟุ่มเฟือยขึ้นในเมืองนี้
ไม่นานปอมเปอีก็กลายเป็นศูนย์กลางการค้าอันมั่งคั่ง เต็มไปด้วยช่างฝีมือที่มีทักษะ และความสามารถสูง ภายในเมืองมีทั้งสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่ไม่เหมือนใครอยู่มากมาย แต่ที่เด่นๆ ก็คือ หลังคาเหนือห้องโถงของแทบทุกอาคารจะมีช่องโหว่ใหญ่ด้านกว้าง และหลังคาเอียงลาดลงไปทางรูโหว่นั้น พอฝนตก น้ำฝนจะไหลลงไปตามหลังคาลงไปตามรูโหว่ ไหลลงสู่อ่างกระเบื้องที่อยู่ใต้รูโหว่ และไหลสู่ถังเก็บน้ำ นอกจากนี้ ยังมีสะพานส่งน้ำ และน้ำพุสาธารณะ ซึ่งมีน้ำที่ใสสะอาดมาก
แต่ความสะดวกสบายเหล่านี้ก็สงวนไว้เฉพาะชาวปอมเปอีฐานะดีเท่านั้น สำหรับครอบครัวที่ยากจนลงมาจะต้องเริ่มทำงานหาเลี้ยงตนตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนผู้ที่มีฐานะขึ้นมาจากการเป็นทาสที่เป็นอิสระแล้วก็ไม่มีอำนาจทางการเมือง คนที่จะมีอำนาจทางการเมืองได้นั้นจะต้องไม่เคยอยู่ในสถานะทาสมาก่อนเท่านั้น
ลำดับเวลา การระเบิดของภูเขาไฟวิสุเวียส
วันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 79 เวลา 13 นาฬิกา 30 นาที ภูเขาไฟวิสุเวียสได้ระเบิดขึ้น ฝุ่นควัน หินพัมมิซ และก๊าซพิษจำนวนมากถูกพ่นออกมา กระแสลมในวันนั้นได้พัดพามันไปที่เมืองปอมเปอี และสตาเบีย ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวิสุเวียส แต่เมืองปอมเปอีอยู่ใกล้กว่า จึงได้รับผลกระทบมากกว่า ในช่วงเวลาไม่กี่นาที ท้องฟ้าเหนือเมืองปอมเปอีก็ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควันจากภูเขาไฟจนแสงอาทิตย์ไม่อาจส่องลอดมาได้ ทั่วทั้งเมืองตกอยู่ในความมืดคล้ายยามราตรี หลังจากนั้นไม่นาน หินพัมมิซในฝุ่นควันก็เริ่มจับตัวกันเป็นก้อนใหญ่ที่หนักขึ้น เย็นลง และเริ่มร่วงลงมาสู่เมืองปอมเปอี ชาวเมืองเริ่มหวาดวิตก บางคนรีบหนีอพยพ บางคนไปหลบในบ้านหรือในสถานที่ส่วนรวมต่างๆ
ต่อมาไม่นานนัก ชาวปอมเปอีก็เริ่มหายใจไม่ออก เพราะก๊าซพิษที่ภูเขาไฟพ่นออกมาทำให้อากาศไม่สะอาด ผู้ที่พยายามจะหนีส่วนใหญ่ก็เริ่มล้มตายเพราะหินพัมมิซขนาดใหญ่หล่นใส่หัว หากไม่ตายก็ล้มลงหมดสติ แล้วจึงขาดอากาศหายใจจนตายในที่สุด ตกเย็นวันเดียวกันนั้นเอง ชาวปอมเปอีที่หลบภัยในบ้านเริ่มตาย เพราะหินพัมมิซทับถมกันหนาจนบ้านถูกฝัง และขาดอากาศหายใจ ต่อมาไม่นานหลังคาบ้านก็เริ่มถล่ม เพราะรับน้ำหนักหินไม่ไหว ทำให้ผู้คนถูกฝังทั้งเป็น
25 สิงหาคม ค.ศ. 79 ช่วงเช้า วิสุเวียสระเบิดแรงขึ้น ทำให้ท้องทะเลปั่นป่วนเพราะแรงสั่นสะเทือน คลื่นชายหาดแรงมากจนบ้านพักตากอากาศริมทะเลถูกคลื่นซัดพังไปหลายหลัง ช่วงบ่าย กระแสลมเปลี่ยนทิศไปทางทิศตะวันตก (เยื้องใต้เล็กน้อย) นำพาฝุ่นควันสู่เมืองมิเซนัม และเฮอร์คิวเลเนียม แต่เฮอร์คิวเลเนียมอยู่ใกล้กว่ามาก จึงได้รับหายนะมากกว่า
26 สิงหาคม ค.ศ. 79 ภูเขาไฟระเบิดเบาลง แต่ก็เกิดฝนตกลงมาบริเวณลาดเขาของภูเขาไฟวิสุเวียส ซึ่งเต็มไปด้วยเถ้าถ่านที่ร้อนจัด
27 สิงหาคม ค.ศ. 79 น้ำฝนละลายผสมกับเถ้าถ่านกลายเป็นโคลนเดือด ไหลทะลักลงมากลบเมืองเฮอร์คิวเลเนียม ชาวเมืองหลายร้อยคนเสียชีวิต แต่ก็ถือเป็นเพียงส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่ได้ล่องเรืออพยพออกไปแล้ว ไม่นาน ภูเขาไฟวิสุเวียสก็สงบลง ผู้รอดตายได้กลับไปยังเมืองของตน แล้วได้นำซากอาคารที่โผล่พ้นเถ้าถ่านฝุ่นควันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น
โดยบันทึกห้วงเวลาแห่งหายนะนี้ นักประวัติศาสตร์ชาวโรมชื่อ แทซิทัส ได้ทำการบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้เป็นภาษาละติน ทำให้คนรุ่นหลังได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น
การค้นพบซาก และการขุดค้นศึกษาเมืองปอมเปอี
ใน ค.ศ. 1534 ได้มีการขุดค้นพบซากเมืองปอมเปอีเป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ ต่อมาใน ค.ศ. 1689 คนงานขุดคลองส่งน้ำคณะหนึ่ง ได้ขุดไปเจอซากสิ่งก่อสร้างแบบโรมัน รวมถึงเหรียญเงินและรูปปั้น ซึ่งพวกเขาได้เคลื่อนย้ายออกไป และดำเนินการขุดคลองต่อ
ค.ศ. 1748 ตระกูลบูร์บง เชื้อสายของราชวงศ์บูร์บง ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ปกครองรัฐเนเปิลส์ในอิตาลีระหว่าง ค.ศ.1734 - 1861 ได้สนใจที่จะค้นหาเมืองปอมเปอี พวกเขาจึงใช้เงินจ้างคนงานไปขุดเมืองโดยการขุดเป็นอุโมงค์เข้าไปจนพบเมืองจากนั้นจึงสั่งให้นำสิ่งของมีค่าออกมา และเก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของตระกูลบูร์บง
ค.ศ. 1861 รัฐต่างๆในอิตาลีได้รวมกันเข้าเป็นประเทศเดียวกัน ส่งผลให้ตะกูลบูร์บงล่มสลาย ชาวอิตาลีจึงให้ความสนใจกับการขุดปอมเปอีมากขึ้น จูเซปเป ฟีออเรลลี ได้เป็นหัวหน้าคณะนักโบราณคดี เขาได้คิดวิธีอันน่าทึ่งแกมสยองในการขุดซากปอมเปอี โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลผู้ประสบภัยที่ถูกลาวาทับ และร่างกายได้เน่าสลายไปตามกาลเวลา เหลือเพียงกระดูก และโพรงอากาศที่มีลักษณะมนุษย์ในอิริยาบถต่างๆ จูเซปเปได้เจาะรูเล็กๆ และ “กรอก” ปูนปลาสเตอร์ลงไปจนเต็มโพรงมนุษย์นั้น รอให้แห้งแล้วจึงขุดขึ้นมา ทำให้เห็นถึงท่าทางสุดท้ายของชาวเมืองหลายคนก่อนที่จะตาย
สิ่งที่ได้ออกมาก็คือรูปร่างของมนุษย์ ในสภาพเกือบสมบูรณ์ที่สุด นอกจากนี้ สิ่งของสมบัติที่พบอยู่ข้างกายของเขานั้น ก็ยังช่วยบอกฐานะของแต่ละร่างด้วย เช่น โครงกระดูกที่มีตุ้มหู หรือสร้อยทองคำ ก็ย่อมชี้ชัดว่าเขาผู้นั้นอยู่ในตระกูลมั่งคั่ง ส่วนทาสนั้นก็ง่ายที่จะระบุ โดยเห็นได้จากโซ่ที่ล่ามข้อมือไว้นั่นเอง ในยามที่รู้ว่าภัยมาถึงตัว ชาวปอมเปอีทุกคนก็จะหยิบฉวย คว้าเอาสิ่งมีค่าที่สุดของตนติดตัวไปด้วย บางซากถึงกับมีลูกกุญแจบ้านอยู่ในมือ
นอกจากนี้ ซากที่พบยังได้บอกอีกว่า ในชั่วโมงแห่งวิกฤตินั้นพวกเขากำลังทำอะไร และตายอย่างไร หลายคนเสียชีวิตอยู่ภายในบ้าน เนื่องจากเมื่อภูเขาไฟระเบิด และพ่นเถ้าถ่านโปรยปรายลงมาราวห่าฝนนั้น พวกเขาคิดว่าการหลบอยู่ภายในบ้านจะปลอดภัยที่สุด แต่ก็เป็นความคิดที่ผิด เพราะขี้เถ้านั้นมีปริมาณมหาศาล ท่วมคลุมเมืองถึง 10 เมตร เมื่อทับถมอยู่บนหลังคา อะไรจะทนทานอยู่ได้ หลังคาจึงหักพังลงมาทับพวกเขาเหล่านั้นในที่สุด
ลักษณะของซากศพหลายรายอยู่ในอาการใช้มือปิดปากปิดจมูก นั่นแสดงว่าพวกเขาต้องเผชิญกับก๊าซพิษร้อนๆ ผสมขี้เถ้า เมื่อหายใจเข้าไปก็เกิดการสำลัก และสิ้นใจก่อนจะถูกขี้เถ้าทับถมร่าง
ค.ศ. 1924 -1961หัวหน้าคณะนักโบราณคดีได้เปลี่ยนเป็น อเมดีโอ มายอูรี เขาบูรณะซ่อมแซมฝาผนัง และเพดาน ข้าวของเครี่องใช้ที่นำมาศึกษาจะถูกวางไว้ที่เดิมหลังศึกษาเสร็จ และเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งผู้มาท่องเที่ยวจะสัมผัสได้ถึงชีวิตที่หรูหราในปอมเปอี และพลังอำนาจของ ธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน
การขุดค้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1760 ทำให้สามารถเปิดสิ่งที่ทับถมออก และเผยให้เห็นสภาพเมืองทั้งถนนหนทาง และอาคารต่างๆ ของปอมเปอี ทุกวันนี้ ผู้ไปเยี่ยมชมสามารถเดินท่องไปตามถนนที่ชาวปอมเปอีเคยใช้สัญจรไปมา ได้เห็นร้านค้าที่พวกเขาเคยช้อปปิ้ง ได้เห็นบ้านหรือคฤหาสน์ที่พวกเขาเคยอยู่อาศัย อาทิ ฟอน เฮาส์ ที่โด่งดังในอดีต วิหารของจอมเทพ จูปิเตอร์ ลานจัตุรัสฟอรัม ซึ่งเป็นที่เสวนาสังสรรค์ของชาวนคร ถนนสายหลัก วิอา คอนโซลาเร่ (ถนนกงสุล) ซึ่งคุณสามารถนั่งรถม้าทอดอารมณ์ชมผู้คนที่เดินขวักไขว่ หรืออาจหยุดพักนั่งดื่มและกินตามบาร์ที่มีเรียงรายอยู่สองฝั่งถนนได้
อาคารบางหลัง เช่น เวสตัลส์ (Vestals = นักบวชสตรีแห่งเทพีเวสตา) ยังคงความใหญ่โตโอฬาร และมีสภาพสมบูรณ์ ทั้งประตูใหญ่ทางเข้า ห้องโถงกลาง ห้องนอน ห้องอาหาร สวน สระ ว่ายน้ำ น้ำพุ ท่อระบายน้ำ แม้กระทั่งห้องสุขา นอกจากนี้ ก็ยังมีเครื่องเรือนเครื่องใช้เมื่อครั้ง 2,000 ปีก่อนอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเหยือกน้ำ ถังเก็บไวน์ ถ้วยชามเซรามิก โมเสกสีสันวิจิตร เหรียญบรอนซ์โบราณ ผนังปูนที่เขียนภาพงดงาม เป็นต้น
ซากชาวนครปอมเปอีในลักษณะอิริยาบถ ที่คงค้างอยู่ สภาพเมืองที่มิใช่เหลือแต่เสาโด่เด่ ตลอดจนสรรพสิ่งของเครื่องใช้ที่ครบสมบูรณ์ เหล่านี้ล้วนหาไม่ได้ในเมืองโบราณอื่นๆ ที่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ยกเว้นที่ปอมเปอีและอาณาบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น
ปัจจุบัน ปอมเปอีเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลไปเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก เป็นอีกเมืองหนึ่งที่ต้องไปให้ได้สักครั้งก่อนตาย
====================