Cr. ภาพถ่ายปกโดยนักเขียน เชียงคานริมโขง จังหวัดเลย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวติดตลาดมาหลายปี บ้านไม้แบบโบราณเป็นเอกลักษณ์ มีเส้นทางจักรยานกับที่พักจำนวนมากทั้งโรงแรมและเกสต์เฮาส์ ถนนคนเดินมีทุกวันตอนเย็นถึงค่ำ ร้านค้าเก๋ ๆ ร้านอาหารมากมาย เป็นสีสันดึงดูดใจนักท่องเที่ยว และที่อำเภอเชียงคานยังมีผีขนน้ำ! ฟังไม่ผิดแน่นอน กว่าจะมาถึงอำเภอเชียงคานก็เป็นเวลาเย็น เช็คอินเข้าที่พักชื่อบ้านสุพิชญา จากการจองทางอินบ็อกซ์ในเฟสบุ๊ค ได้ห้องพักริมน้ำโขงบรรยากาศดีมาก เห็นทิวทัศน์อีกฟากฝั่งโขง ที่พักเป็นเรือนไม้ตกแต่งสวยงาม ด้านหน้าที่พักเป็นถนนคนเดิน ด้านหลังเป็นระเบียงร้านอาหารติดเส้นทางเดิน - ทางจักรยานริมโขง ยามเย็นในช่วงเดือนพฤษภาคมอากาศเย็นสบาย แม่น้ำโขงมีน้ำเต็ม วันนี้นักท่องเที่ยวไม่มาก เดินเที่ยวสบาย Cr. ภาพถ่ายโดยนักเขียน Cr. ภาพถ่ายโดยนักเขียน ถึงยามเช้าวันรุ่งขึ้น เดินไปเรียกรถตุ๊ก ๆ เพื่อไปดูผีขนน้ำ งานประเพณีผีขนน้ำจัดขึ้นในวันแรม 1- 3 ค่ำเดือนหก หลังวันวิสาขบูชา สถานที่จัดงานคือลานกีฬาอบต.นาซ่าวและวัดโพธิ์ศรี อยู่ห่างจากริมโขงประมาณสิบกิโลเมตร ผีขนน้ำคือ งานประเพณีขอฝนของชาวไทยพวนที่อพยพมาจากฝั่งลาว เป็นความเชื่อการนับถือผี มีพิธีกรรมเชิญวิญญาณเจ้าปู่มาเข้าร่างทรงเพื่อมาสื่อสารกับผีขนน้ำ ซึ่งเป็นวิญญาณวัวควายที่ติดตามคนมาขณะเดินผ่านห้วยหนองคลองบึง ในงานมีชาวบ้านนาซ่าวหลายร้อยคนมาเต้นรำ มีขบวนแห่ยิ่งใหญ่ มีการนำกลอง กะลอ มาเคาะให้จังหวะ การเต้นรำดูสวยงามครึกครื้น หลังการละเล่น ฝนจะตกทุกครั้ง จึงเรียกว่า ผีขนน้ำ Cr. ภาพถ่ายจากศมส. ผีขนน้ำเต้นรำขอฝน Cr. ภาพถ่ายจากศมส. เชื่อแน่ว่าต้องมีคนสงสัย สัญลักษณ์ของจังหวัดเลยที่คุ้นตากันคือผีตาโขน แล้วผีตาโขนกับผีขนน้ำ อันเดียวกันหรือว่าต่างกัน? ความแตกต่างข้อแรกคือ หน้ากากผีขนน้ำทำมาจากไม้ได้แก่ ไม้ต้นนุ่น(ต้นงิ้ว)และไม้พญาสัตบรรณ(ต้นตีนเป็ด) ส่วนหน้ากากผีตาโขนของอำเภอด่านซ้าย ทำมาจากหวดนึ่งข้าวเหนียว หน้ากากผีขนน้ำ ทำจากไม้ Cr. ภาพถ่ายจากศมส. หน้ากากผีขนน้ำ ทำจากไม้ Cr. ภาพถ่ายจากศมส. ข้อที่สอง หน้ากากและเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ที่ดูน่ากลัวมาก จะไม่นำกลับมาใช้อีก จะนำไปทิ้งในแม่น้ำ ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายออกไป ส่วนผีขนน้ำไม่มีความเชื่อนี้ ส่วนหน้ากากผีตาโขนเล็กและผีขนน้ำ สามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย หน้ากากผีตาโขน ทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียว Cr. ภาพถ่ายจากศมส. ข้อที่สาม ผีขนน้ำจัดงานเดือนหก หลังวันวิสาขบูชา ผีตาโขนจัดงานเดือนเจ็ด ในงานบุญหลวง ซึ่งประกอบด้วย การละเล่นผีตาโขน บุญบั้งไฟและบุญผะเหวด ข้อที่สี่ ทั้งสองหน้ากากเป็นการนับถือผีและเป็นความเชื่อเรื่อง ผีตามคน เหมือนกัน ผีขนน้ำเต้นรำเพื่อขอฝน ส่วนผีตาโขน ได้รับอิทธิพลมาจากมหาเวสสันดรชาดกทางพุทธศาสนา ที่กล่าวถึงพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ครั้นต้องเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมืองหลวง บรรดาสัตว์ป่ารวมถึงภูตผีที่อาศัยอยู่ในป่า ได้ออกมาส่งเสด็จด้วยความอาลัย ผีขนน้ำเต้นรำขอฝน Cr. ภาพถ่ายจากศมส. หลังกลับจากการดูการละเล่นผีขนน้ำ งานเทศกาลประจำท้องถิ่นของอำเภอเชียงคาน ตอนเย็นวันนั้นฟ้าเริ่มครึ้ม แล้วฝนก็โปรยปรายลงมาอย่างชุ่มฉ่ำ ติดต่อสอบถาม : สอบถามวันเวลาจัดงานประเพณีผีขนน้ำได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย 42110 โทรศัพท์ : 0 4285 5152 การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) จนถึงสระบุรี แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมาไปจนถึงจังหวัดขอนแก่น แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 201 ผ่านอำเภอภูกระดึง อำเภอหนองหิน อำเภอวังสะพุง จนถึงจังหวัดเลย และไปต่อจนถึงอำเภอเชียงคาน โดยรถประจำทาง มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัดและของเอกชน สายกรุงเทพฯ-เลย กรุงเทพ-เชียงคาน ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือหมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร 2 รถออกวันละหลายเที่ยวทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดที่บริษัท ขนส่ง จำกัดโทร 1490