"ประเทศเรายังยากจนอยู่ เพราะฉะนั้นเราใส่เสื้อผ้าขาดถือว่าเป็นบุญของประชาชนของประเทศ" ถ้อยคำของโฮจิมินห์ หรือลุงโฮ อดีตประธานาธิบดีเวียดนาม ผู้เป็นที่รักและเคารพของชาวเวียดนามทั้งปวง โฮจิมินห์ หรือที่แปลว่า "แสงสว่างที่นำทาง” เป็นนักปฏิวัติคนสำคัญที่นำไปสู่การประกาศอิสรภาพของเวียดนามจากฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2497 และการรวมประเทศเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ให้เป็นประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเพียงหนึ่งเดียว เมื่อปี พ.ศ. 2518 หลังจากลุงโฮถึงแก่อสัญกรรมไป 6 ปี ลุงโฮกับประเทศไทย ความเกี่ยวข้องของลุงโฮกับประเทศไทย เริ่มต้นในยุคอาณานิคมฝรั่งเศส ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2463 เวียดนามที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสประสบกับภาวะอดอยาก ชาวเวียดนามจำนวนมากได้พากันอพยพเข้ามายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยคือบริเวณจังหวัดนครพนม สกลนคร หนองคาย อุบลราชธานี และอุดรธานี ต่อมาใน พ.ศ. 2471 โฮจิมินห์เสนอตัวไปปฏิบัติงานที่สยาม เพื่อทำงานจัดตั้งชาวเวียดนามที่อพยพหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทย โฮจิมินห์เข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม ในช่วงแรกเขาใช้เวลาติดต่อกับชาวเวียดนามผู้รักชาติอยู่ระยะหนึ่ง แล้วเดินทางไปที่จังหวัดพิจิตร เพื่อจัดตั้งกลุ่มศึกษาและทำเอกสารเผยแพร่แนวคิดกู้ชาติและอุดมการณ์มาร์กซิสม์ – เลนินนิสม์ ลักลอบส่งให้ชาวเวียดนามทั้งในไทยและในเวียดนาม โฮจิมินห์ต้องเคลื่อนไหวแบบปิดลับ ใช้ชื่อแบบคนไทย แล้วเคลื่อนย้ายไปทำงานหลายแห่งในภาคอีสาน โฮจิมินห์อยู่ในเมืองไทยราว 16 เดือน เดินทางออกจากสยามเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2472 ลุงโฮกับพิจิตร ที่บ้านดง ตำบลป่ามะคาบ จังหวัดพิจิตร เป็นสถานที่ลุงโฮปลอมตัวเป็น “เฒ่าจิ๋น” โดยแนะนำตัวเองว่าเป็นหมอยาสมุนไพร เพื่อทำภาระกิจในการกอบกู้ประเทศเวียดนามผ่านการเล่านิทานที่มุ่งหมายให้ชาวเวียดนามพลัดถิ่นร่วมมือร่วมใจกอบกู้บ้านเมืองของตนเองจากฝรั่งเศส ลุงโฮใช้เวลาอยู่ที่บ้านดงหลายเดือน โดยอาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ ใช้ชีวิตทำเกษตรกรรม จนกระทั่งย้ายไปทำภาระกิจที่ภาคอีสาน พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ เป็นเสมือนสถานที่รำลึกถึงการมาดำรงชีวิตช่วงหนึ่งของลุงโฮ สะท้อนให้เห็นไมตรีจิตที่คนไทยมอบให้แก่ชาวเวียดนามพลัดถิ่น จนทำให้ลุงโฮรวบรวมความช่วยเหลือต่างๆ สามารถเดินทางกลับไปยังเวียดนาม สร้างพรรคการเมือง สร้างกองทัพประชาชน และสามารถเอาชนะสงคราม ได้รับอิสรภาพมาได้จนถึงทุกวันนี้ ในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์จะประกอบด้วยอาคารหลัก 2 ชั้น และบ้านจำลองของลุงโฮ ที่อาคารหลัก ชั้นที่ 1 จัดแสดงเอกลักษณ์วัฒนธรรมพื้นเมืองเวียดนาม อย่างชุดประจำชาติ งอบ และภาพถ่ายบุคคลสำคัญที่เดินทางมาเยือนพิพิธภัณฑ์ รวมถึงบ้านยกพื้นจำลอง ส่วนชั้นที่ 2 จัดแสดงสิ่งของวัตถุที่เกี่ยวข้องถึงการเคลื่อนไหวของลุงโฮในประเทศไทย ใกล้ๆ กับอาคารหลัก จะเป็นบ้านยกพื้นที่จำลองบ้านที่ลุงโฮเคยอาศัยในพื้นที่บ้านดง จังหวัดพิจิตร ภายในบ้านมีหิ้งบูชาและรูปปั้นประธานโฮจิมินห์ รวมทั้งมีตู้ไม้ ตะเกียงน้ำมันเก่าๆ ที่ลุงโฮเคยใช้ พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เดิมเป็นสุสานของชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ซึ่งทายาทได้มอบพื้นที่ให้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ และทางพิพิธภัณฑ์ยังเก็บรักษาหลุมฝังศพบางส่วนได้ในพื้นที่ที่ลับสายตา ภาพประกอบโดยผู้เขียน