วิธีใช้ห้องน้ำญี่ปุ่น ปุ่มกดในห้องน้ำสาธารณะ อ่านไม่ออกก็ใช้งานได้!
เชื่อไหมครับ ว่าหนึ่งในเรื่องที่แม้แต่คนเคยไปเที่ยวญี่ปุ่นหลายต่อหลายครั้งยังต้องปวดหัวทุกที ยังหนีไม่พ้นเรื่อง การใช้ห้องน้ำในญี่ปุ่น นั่นเอง แค่ก้าวเท้าเข้าไปทุกอย่างรอบๆ ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ กลับดูแปลกตา และดูมีแต่เทคโนโลยีล้ำยุคไปซะหมด โดยเฉพาะตรงแผงปุ่มกด (หรือ Washlet ถ้าเรียกแบบคนญี่ปุ่น) ที่มีอยู่สารพัดฟังก์ชัน ที่ต่อให้มีรูปภาพประกอบแล้วก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี เว้นเสียแต่บางที่มีภาษาอังกฤษกำกับไว้ก็อุ่นใจหน่อย แต่ถ้าไม่ล่ะ... วันนี้เราขอพาทุกคนไปรู้จักกับปุ่มสำคัญๆ ที่จำเป็นต่อการใช้งานกันดีกว่า
วิธีใช้ Washlet ปุ่มกดในห้องน้ำญี่ปุ่น
1. ธุระหนัก vs. ธุระเบา
อันดับแรกให้มองข้ามแผงควบคุมที่แลดูสลับซับซ้อนไปก่อน เพราะนี่เป็นสิ่งพื้นฐานที่ห้องน้ำต้องมี มันคือ ที่กดชักโครก นั่นเอง โอเค ห้องน้ำบางที่ก็เอาปุ่มชักโครกไว้ที่แผงปุ่มกดด้วย แต่อย่างน้อยกดตรงที่กดตรงๆ ก็ชัวร์กว่าแน่นอน
ต่อมา สิ่งที่ที่กดชักโครกในญี่ปุ่นจะแตกต่างจากบ้านเรา คือจะมีสัญลักษณ์ “大” สำหรับธุระหนัก (น้ำจะออกมาแรง ปริมาณน้ำเยอะ) และ “小” สำหรับธุระเบา (น้ำจะออกมาเบาลง ปริมาณน้ำน้อย) ปุ่มชักโครกแบบที่อยู่บนแผงปุ่มกดก็จะมีหลักการเดียวกันนี้
2. ปุ่มทำความสะอาด
Oradol / Shutterstock.com
สิ่งที่ทำให้ Washlet แบบญี่ปุ่นเป็นที่ขึ้นชื่อลือชามานาน ก็คือฟังก์ชั่นฉีดน้ำทำความสะอาดให้เรานั่นเอง โดยปุ่มสำคัญก็คือ ตัวอักษรญี่ปุ่นที่เขียนว่า “ビデ” นั่นคือฟังก์ชั่นสำหรับสุภาพสตรีหลังจากทำธุระเบา และ “おしり” เป็นปุ่มสำหรับทำความสะอาดหลังจากที่ทำธุระหนัก ซึ่งอันนี้สามารถใช้ได้ทั้งผู้หญิง และผู้ชายนั่นเอง
ส่วนใครที่รู้สึกว่าน้ำที่ออกมามันเบาหรือแรงไป ก็สามารถปรับระดับได้ ซึ่งก็มักจะมีหน้าตาเป็นปุ่มหมุน (บางที่ก็เป็นปุ่มกด) มีคำว่า “洗浄強さ” กำกับไว้ ส่วนนี้ไว้ปรับระดับความแรงของน้ำที่ออกมาจากปุ่ม “ビデ” และ ”おしり” ไม่เกี่ยวกับความแรงของน้ำเวลาชักโครกนะจ้ะ
ถ้าปรับความแรงได้ แต่ยิงไม่ตรงเป้าหมายมันจะไปมีประโยชน์อะไร บางที่จะมีให้ปรับตำแหน่งน้ำได้ ให้ลองสังเกตุคำว่า “洗浄位置” จากนั้น ถ้าอยากให้น้ำเลื่อนมาข้างหน้าให้กดปุ่ม “前” หรือถ้าอยากให้น้ำเลื่อนไปด้านหลังให้กดปุ่ม “後”
3. นวดก้นก็มี
ลองดูกันต่อ ถ้ามีปุ่ม “マッサージ” นั่นแปลว่าห้องน้ำนี้นวดได้นะ พอกดแล้วสเปรย์น้ำแบบนวดจะทำงาน ขยับซ้ายขวาหน้าหลังตามโปรแกรม นับเป็นฟังก์ชั่นเอ้อระเหยที่ควรแน่ใจว่าไม่มีใครรอคิวอยู่ข้างนอก
August_0802 / Shutterstock.com
4. ระบบการปรับอุณหภูมิ
เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีฤดูกาลชัดเจนทั้งร้อน และหนาว ห้องน้ำเลยต้องมีให้ปรับอุณหภูมิได้ ให้มองหาคำว่า “便座温度” อันนี้ไว้ปรับที่นั่งให้อุ่นในช่วงหน้าหนาว อีกปุ่มหนึ่งคือ “温水温度” อันนี้ไว้ปรับอุณหภูมิของน้ำที่จะออกมาในฟังก์ชั่นอื่นๆ นั่นเอง
นอกเหนือจากนี้ก็มักจะเป็นปุ่มที่เราไม่จำเป็นต้องใช้เท่าไหร่ ให้รู้ไว้เฉยๆ เช่น “節電” หมายถึง eco-mode หรือโหมดประหยัดพลังงาน และ “ノズルそうじ” สำหรับใช้ทำความสะอาดหัวที่ฉีดน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าคุณไปใช้ห้องน้ำสาธารณะตามแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ๆ หรือตามห้าง, โรงแรม ก็มักจะมีภาษาอังกฤษเขียนกำกับคู่ไว้ด้วย ก็จะใช้งานได้ง่ายขึ้นนั่นเอง ถ้าได้ไปญี่ปุ่นคราวหน้าอย่าลืมลองใช้งานกันดูล่ะ
====================