ทริปนี้ผู้เขียนจะพานักอ่านทุกท่านย้อนยุคไปสัมผัสบรรยากาศของเรือนอีสานแบบดั้งเดิม ณ พิพิธภัณฑ์บ้านอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งอยู่ในพื้นที่พระบรมธาตุนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม แยกจากพระบรมธาตุนาดูนไปเล็กน้อย เป็นโครงการของสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ห่างจากตัวจังหวัดมหาสารคาม ใช้เส้นทางมหาสารคาม ผ่านอำเภอวาปีปทุม ถึงอำเภอนาดูน ระยะทางประมาณ 62 กิโลเมตร หากใครที่เคยไปเที่ยวพระบรมธาตุนาดูน หลายคนคงเคยแวะเข้าไป และอีกหลายคนคงไม่เคยรู้ว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวแนวนี้ซ่อนอยู่ในพื้นที่พระบรมธาตุนาดูน เพราะถึงแม้พิพิธภัณฑ์บ้านอีสานจะอยู่ไม่ไกลจากพระบรมธาตุนาดูน แต่เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าจึงไม่สามารถมองเห็นตัวพิพิธภัณฑ์ได้ หากไม่เดินทางเข้าไป ใครที่มีรถยนต์ส่วนตัวเมื่อเข้ามาถึงหน้าพระบรมธาตุนาดูนให้เลี้ยวซ้ายอ้อมวงเวียนเข้ามา จะเจอประตูสองของพระบรมธาตุนาดูน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยตรงข้ามประตูสองผ่านป่าเข้ามาประมาณ 100 เมตร จะพบพิพิธภัณฑ์บ้านอีสานอยู่ด้านขวามือ (หากใครที่เดินทางมาด้วยรถโดยสาร หรือมากับกรุ๊ปทัวร์ สามารถเดินเข้ามาได้) ไม่มีสถานที่จอดรถให้ เราสามารถจอดข้างทางได้ แต่ต้องชิดขอบถนน เพราะถนนเส้นนี้แคบ เราสามารถเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ได้ฟรี ไม่มีค่าเข้าชม เมื่อเดินเข้าไปในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์บ้านอีสาน เราจะถูกดึงเข้าไปยังบรรยากาศของภาคอีสานย้อนไปเมื่อประมาณ 40 -50 ปีที่แล้ว เรือนอีสานหลากหลายแบบ ตั้งเรียงรายอยู่ทั่วบริเวณ พื้นที่โดยรอบเขียวขจีไปด้วยต้นไม้โบราณ มีการปลูกหญ้าอยู่ทั่วบริเวณ ทำให้บรรยากาศร่มรื่น น่าอยู่มากขึ้น เมื่อมองไปรอบ ๆ พิพิธภัณฑ์ เรือนแต่ละหลังจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันกันออกไป มีทั้งหลังเล็ก หลังใหญ่ แต่ละหลังซ่อนวิถีชีวิตของชาวอีสานไว้อย่างละเอียด เรื่อนส่วนใหญ่ของที่นี่จะเป็นเรือนไม้ ใต้ถุนสูง บางหลังเป็นเรือนแฝดขนาดใหญ่ มีชานยื่นออกมาจากตัวเรือน มีข้าวของเครื่องใช้ของชาวอีสานโบราณจัดแสดงตามขนาดของเรือน ซึ่งขนาดและข้าวของบนเรือนบ่งบอกถึงฐานะของชาวอีสานโบราณ เรือนหลังที่มีขนาดใหญ่จะมีพื้นที่ใช้สอยมาก ห้องนอนจะกั้นเป็นห้อง ๆ ใต้ถุนของบ้านจะมีเกวียนซึ่งเป็นพาหนะของชาวอีสานโบราณจอดอยู่ให้ชม เรือนหลังนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าสุด เป็นเรือนเดี่ยวใต้ถุนสูง มีเกวียนโบราณจอดอยู่ 2 เล่ม ข้าง ๆ ที่จอดเกวียนจะเห็นคอกควาย มีรูปปั้นควายจำลองขนาดเท่าตัวจริง 1 ตัว ซึ่งสมัยโบราณ คนอีสานนิยมสร้างคอกวัวคอกควายไว้ใต้ถุนบ้าน เมื่อเราเดินขึ้นไปบนเรือน จะเห็นบริเวณนอกชานกว้างขวาง มีซุ้มน้ำดื่ม (ฮ้านแอ่งน้ำ) อยู่ติดกับครัวไฟ ในตัวเรือนจะมีข้าวของเครื่องใช้ของชาวอีสานจัดแสดง เรือนหลังนี้มีห้องนอนอยู่ 2 ห้อง เรือนหลังนี้ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าเช่นเดียวกัน เป็นเรือนแฝดใต้ถุนสูง มีป้ายบอกว่าเรือนหลังนี้ เป็นเรือนผ้าทอ บริเวณใต้ถุนเรือน จัดแสดงเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ที่ชาวอีสานใช้ในการทอผ้า บริเวณโดยรอบมีป้ายไวนิลให้ความรู้ เกี่ยวกับประวัติ ความเป็นมา และขั้นตอนในการทอผ้าของชาวอีสานให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษา เมื่อเดินขึ้นไปบนเรือน จะมีชานยืนออกมาแต่ไม่กว้างเหมือนเรือน 2 หลังแรก มีซุ้มน้ำดื่มเช่นเดียวกับเรือนอีสานทั่วไป เมื่อเราเดินไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นเล้าข้าว (ยุ้งข้าว) อยู่หลายหลัง เล้าข้าวเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เก็บข้าว ผลผลิตและเครื่องมือทางการเกษตร เล้าข้าวบางหลังถูกดัดแปลง ให้เป็นเรือนนอน ด้วยการต่อชานออกมาแล้วมุงหลังคาให้สามารถอยู่อาศัยได้ ชาวอีสานจะเรียกการต่อเรือนออกมานี้ว่า ตูบต่อเล้า ด้านข้างของตูบต่อเล้า จัดแสดงครกมอง ซึ่งเป็นครกตำข้าวของชาวอีสานโบราณ (สมัยโบราณไม่มีโรงสี ชาวอีสานจึงสร้างครกมองขึ้นมาเพื่อใช้ในการตำข้าว) เรือนอีกหลังที่แตกต่างจากเรือนหลังอื่น ๆ มีป้ายบอกชื่อเรือนว่า เรือนผู้ไท เป็นรูปแบบเรือนของชาวผู้ไท ผู้ไทเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถวจังหวัดมุกดาหาร นครพนม สกลนคร ลักษณะเรือนผู้ไทยจะมีลักษณะเป็นเรือนแฝด นอกจากเรือนหลังใหญ่ที่จะเห็นในบริเวณพิพิธภั้ณฑ์บ้านอีสานแล้ว ยังมีเรือนหลังเล็ก ๆ ซ่อนอยู่ด้านหลังของพิฑิธภัณฑ์ เป็นเรือนที่สร้างแบบง่าย ๆ นำไม้ไผ่มาจักตอกสานเป็นแผ่น นำมาเป็นฝาผนัง ลักษณะคล้ายกระต๊อบ หรือเรือนเล็ก ๆ ไม่ค่อยมีความมั่นคงแข็งแรง โดยเรือนทุกหลังถูกจัดให้เป็นเหมือนการจำลองหมู่บ้าน หมู่บ้านหนึ่งในอดีตเลยก็ว่าได้ เพราะในแต่ละท้องถิ่นทั้งในอดีตและปัจจุบันจะมีทั้งคนรวยและคนปะปนกันไป เรือนเป็นสิ่งที่บอกฐานะของคนอยู่ได้เป็นอย่างดี เรือนหลังใหญ่จะบ่งบอกว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย เรือนหลังเล็กก็จะบ่งบอกว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะยากจน สิ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุด ที่ได้มาเที่ยวพิพิธภั้ณฑ์บ้านอีสานแห่งนี้ คือ ตั้งแต่วินาทีแรกที่ก้าวเข้าไปในเขตพิพิธภัณฑ์เหมือนผู้เขียนได้ย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 40 - 50 ปีที่แล้ว ผู้เขียนได้เรียนรู้เรื่องราววิถีชีวิตของชาวอีสานโบราณผ่านเรือนแต่ละหลัง ได้เห็นภูมิปัญญาที่น่าทึ่งของบรรพบุรุษ ไม่ต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย ขอแค่มีเครื่องมือทำการเกษตรเพียงไม่กี่ชิ้น ก็มีกินมีใช้ ไม่ต้องมียานพาหนะที่หรูหรา มีเพียงวัวเทียมเกวียนก็สามารถใช้งานและเดินทางได้ ไม่ต้องกินอาหารที่มีราคาแพง ๆ ตามร้าน มีแค่ครัวไฟไว้ในบ้านก็อิ่มอร่อยได้ ไม้ต้องมีเงินทองมากมาย ขอแค่มีข้าวไว้ในเล้าก็ไม่ต้องอดตายแล้ว และสิ่งที่บ่งบอกความเป็นอีสานได้เป็นอย่างดีที่สุด คือ เรือนทุกหลังจะมีแอ่งน้ำ (ตุ่มน้ำดื่ม) ทั้งที่ตั้งอยู่บนเรือน และทำเป็นฮ้าน (ซุ้ม) ไว้หน้าบ้าน ให้ผู้มาเยือนและคนผ่านทางได้หยุดพักดื่มน้ำ เป็นสิ่งที่บ่งบอกความมีน้ำใจของคนอีสานได้เป็นอย่างดี มนต์เสน่ห์ของเรือนอีสานที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนรุ่นหลัง บ่งบอกถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่เปี่ยมไปด้วยความงดงามของชีวิต ภาพประกอบทั้งหมดถ่ายโดย ผู้เขียน