“เก็บเรื่องมาเล่า โดยหนุ่ม สุทน” มาทักทายกันวันพุธที่ 11 มีนาคม 2563 ในวันที่อากาศร้อน ๆ แต่ลมแรง ๆ ครับ วันนี้จะพาไปรู้จัก “ท่าเตียน” ชุมชนเก่าแก่คู่ 2 ราชธานี คือ “กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์” เราเริ่มต้นที่กรุงธนบุรี เพราะว่าเมื่อชาวกรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าล้อมรอบเกาะเมือง เผาบ้านเผาเมืองกรุงศรีอยุธยาเหลือแต่ซาก ตามประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกไว้ให้ชนรุ่นปัจจุบันได้ศึกษากันครับคือในปี พ.ศ. 2310 ที่เราใช้คำว่าเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พระเจ้าตากสินหรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนได้แล้ว ทรงโปรดฯ ตั้งราชธานีใหม่ “กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร” ติดแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองบางกอกใหญ่หรือต่อมาเรียกคลองบางหลวง ครั้งนั้นมีชุมชนที่อพยพกันมา เพื่อพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เช่น ชุมชนย่านกุฎีจีน ชุมชนท่าเตียนครับ ชุมชนท่าเตียนครั้งนั้นเป็นชาวญวนหรือชาวเวียดนามอพยพมาตั้งเป็นชุมชนตรงข้ามอาณาจักรกรุงธนบุรีและสมัยนั้นถ้าหากมีผู้นำชุมชนจะต้องเข้าเฝ้าเมื่อกราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่ามาจากไหน แล้วจึงรู้ว่าผู้นำชุมชนคือฮาเตียนและเมื่อตั้งชุมชนได้จัดสร้างท่าเรือขนส่งสินค้า ชาวบ้านเรียกเพี้ยนจากฮาเตียนมาชื่อ “ท่าเตียน” ท่าเตียนเมื่อครั้งกรุงธนบุรี ก็ยังไม่ค่อยคึกคักเท่าไหร่ครับ ต่อมาก็เป็นอาณาจักรกรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณท่าเตียนเริ่มมีความสำคัญมากด้วยผู้คน เหตุผลเป็นตลาดท้ายวัง ท่าเรือท้ายวัง เพราะท่าเรือ ตลาดอยู่ใกล้ ๆ กับพระบรมมหาราชวัง ติดกับวัดโพธิ์หรือต่อมาคือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ตลาดท้ายวัง ทำให้ตลาดโล่งเตียน ดังนั้นชาวบ้านย่านตลาดกล่าวขานว่า ท่าเตียนฮิ ๆ ก็มีเหตุผลตามแต่จะคิดไม่ผิดอะไร! ตลาดท่าเตียนคึกคักอีกครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพราะมีชาวจีนอพยพเข้ามาทำการค้าในตลาดแห่งนี้ มีสินค้าส่งมาจากย่านเมืองนนท์ผลไม้ เมืองสมุทรสาคร เมืองแม่กลองสมุทรสงคราม ประเภท ปลาตากแห้ง กะปิ น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ เกลือ มะพร้าวขูด ตลาดท่าเตียนมีเรือโดยสารและขนส่งสินค้าจากท่าเตียนหรือท่าเรือท้ายวัง ไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าลำน้ำน้อย ผ่านบ้านแพน ผักไห่ ตลาดศาลเจ้าโรงทองไปสุดปลายทางเมืองชัยนาท และแล้วเมื่อความเจริญรุ่งเรืองเข้ามา เรือเมล์ท่าเตียนหมดไป เหลือไว้แต่เพียงความทรงจำของคนอายุ 60 – 80 กว่าปีที่จะเล่าขานให้ลูกหลานฟังครับ ทุกวันนี้ในตลาดท่าเตียนยังพอมีร้านค้าประเภทอาหารแห้งจากทะเลหาซื้อกันได้ครับ หนุ่ม-สุทนเดินเข้าตลาดผ่านย่านบ้านเก่า ๆ บางบ้านมีอาแป๊ะ มีอาม้านั่งอยู่ด้วย มีศาลเจ้าพ่อสาสดีประจำตลาดเป็นศูนย์รวมจิตใจของตลาดท่าเตียนและมีอาคารตึกแถวเป็นโรงแรมย้อนอดีต สังเกตเห็นนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป เดินชมตึกโบราณเขาเรียกย่านวัดโพธิ์ครับสำหรับท่าเรือเขาก็เรียกวัดโพธิ์ท่าเตียน นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากทุกวันนี้ จะใช้บริการข้ามเรือไปวัดอรุณหรือวัดแจ้ง ท่าเรือยังคงเป็นบ้านไม้เก่า ๆ มีร้านค้าประเภทของฝากครับ สำหรับแฟนเพจทุกท่านหาเวลาเดินทางท่องเที่ยวทั้ง 2 ฝั่ง 2 ราชธานีชาวกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อรำลึกถึงเมื่อครั้งก่อนนู้น...ครับ ไปท่องเที่ยวท่าเตียนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ขอจบเรื่องราวเขียนเล่าให้ฟังไว้แค่นี้ก่อน พบกันเรื่องท่องเที่ยวในตอนหน้าครับ วันนี้ขอบคุณและสวัสดี เรื่องและภาพโดย : หนุ่ม-สุทน รุ่งธัญรัตน์ แฟนเพจเฟสบุ๊ค : https://www.facebook.com/sutonfm100.5/ #เก็บเรื่องมาเล่าโดยหนุ่มสุทน #ตะลอนชิมกาแฟทั่วไทย #เที่ยวทั่วไทยคลื่นข่าว100.5fm #คนรักษ์กาแฟ #bigmaptravel #เที่ยวเพลิน