“ฉันเหมือนคนไม่มีกำลัง และหมดแรงจะยืนจะลุกจะเดินไป ฉันเหมือนคนกำลังจะตาย ที่ขาดอากาศจะหายใจ” ความคิดคำนึงของผู้เขียนเมื่อก้าวขาไปได้ประมาณ 200 เมตรแรก จากจุดเริ่มต้นทางเข้ากิ่วแม่ปาน ทุกย่างก้าวที่ค่อย ๆ ก้าวขึ้นบันไดไปทีละขั้น ถามย้ำตัวเองว่าตลอดเวลาว่ามาที่นี่เพื่ออะไร เรามาถึงเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ตั้งแต่บ่ายของเมื่อวาน หลังจากเช็คอินที่พักแล้ว ก็ออกเดินทางไปชมความงามของพันธุ์ไม้ที่โครงการหลวงดอยอินทนนท์จนเย็นก็กลับมาที่พัก หน้าที่พักของเราปลูกบลูซิลเวียไว้แปลงใหญ่ เราผลัดเปลี่ยนกันถ่ายภาพอย่างสนุกสนาน เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่หวาดวิตกกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทำให้การท่องเที่ยวของเชียงใหม่เงียบๆ ลงบ้าง ที่พักของเรามีแขกเพียง 2 กลุ่มเท่านั้นเอง ระหว่างการถ่ายรูปก็มีเด็กหญิงอายุราว 12-13 ปีถือตะกร้ามาขายสตอเบอรี่ดูจากกล่องแล้วน่าจะประมาณครึ่งกิโลกรัม น้องขายในราคา 120 บาท ความที่สงสารเด็กจึงช่วยซื้อมา 1 กล่อง (แอบเซ็งนิดหน่อยตรงมารู้ว่าเขาขายกันกิโลละ 120 บาท) เราสอบถามที่พักว่าที่นี่มีอะไรกินบ้าง เจ้าหน้าที่บอกว่ามีแค่หมูกะทะเท่านั้น ถ้าไม่อยากกินหมูกะทะ เราต้องไปหาสั่งอาหารจากข้างนอกกินกันเอง ซึ่งน่าจะห่างจากที่พักเราพอสมควร ด้วยความเหนื่อยล้าที่เดินทางมาทั้งวัน เราจึงตกลงใจที่จะสั่งหมูกะทะมากินกัน 1 ชุด ซึ่งราคาก็เอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ถึงราคาหมูกะทะจะแรงเอาการ แต่เตาไฟร้อน ๆ ก็ช่วยบรรเทาความหนาวของอุณหภูมิข้างดอยซึ่งน่าจะต่ำกว่า 20 องศา ระหว่างนั่งปิ้งย่างพูดคุยกันเบา ๆ ก็มีพ่ออุ้ยถือผลไม้ของพระเจ้า กับมันม่วงเผามาขาย เราซื้อผลไม้ของพระเจ้ามาลองชิมกัน 1 ลูก เผื่อได้ไปสวรรค์จะได้คุยอวดพระเจ้าบ้าง ชิม ๆ กันคนละชิ้นสองชิ้น รู้สึกว่าลิ้นของเราน่าเข้าไม่ถึงรสชาติของพระเจ้า เลยกลับสู่สามัญเอามันม่วงเสียบไม้ปิ้งกินกันอุ่นสบายท้อง ชั่งใจอยู่นานกว่าจะทำใจที่จะไปอาบน้ำ โชคดีที่พักของเรามีบริการน้ำอุ่น ที่อุ่นแรงมาก ประมาณว่าอุ่นกว่านี้ก็สามารถลวกไข่ได้เลยทีเดียว อาบน้ำอุ่น ๆ แล้วก็ไม่มีอะไรดีกว่าการมุดเข้าเต๊นท์ซุกตัวใต้ผ้าห่มอุ่น ๆ คืนนี้ต้องรีบนอนเพราะต้องตื่นตี 5 เพื่อจะไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่กิ่วแม่ปาน เราตื่นกันประมาณตี 5 ผลัดกันเข้าห้องน้ำ เก็บของแล้วก็ขับรถขึ้นไปที่ดอยอินทนนท์ ระหว่างทางทั้งมืด ทั้งหนาว สำคัญคือไอน้ำที่เกาะเต็มกระจกรถ เราจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการขับรถมากเป็นพิเศษ เราไปถึงลานจอดรถหน้ากิ่วแม่ปาน ซึ่งมีรถมาจอดก่อนเราจำนวนมากพอสมควร แต่ก็ยังมีที่เหลือ ๆ ให้พอจอดรถได้บ้าง เมื่อจอดรถเสร็จเราก็แวะร้านโจ๊กหาอะไรร้อน ๆ กินก่อนกะเวลาใกล้พระอาทิตย์ขึ้นเราถึงจะออกเดินไปจุดชมวิว และความที่ไม่ได้ทำการบ้านกันมาก่อน เมื่อเราแจ้งกับเจ้าหน้าที่หน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่อยู่หน้าทางเข้ากิ่วแม่ปานแล้ว การเข้าเที่ยวกิ่วแม่ปานมีค่าธรรมเนียมกลุ่มละ 200 บาท เที่ยวได้ไม่เกิน 10 คน ไกด์ของเราก็พาเราเดินเข้าไปข้างใน ไกด์แนะนำให้เราหยิบไม้เท้ากันคนละอัน ตอนแรกก็นึกในใจว่าทำไมต้องเอาไม้เท้าให้หนักนะ แต่พอเดินไปได้สัก 50 เมตรก็ตระหนักถึงความสำคัญของไม้เท้าไม้ไผ่พวกนี้ เพราะมันจะช่วยพยุงตัวเรา และช่วยรับน้ำหนักเราตลอดการเดินทาง ไกด์ของเราเป็นแม่อุ้ยวัย 60 ปี ชื่อแม่ชัย พูดไทยไม่ค่อยชัด เราก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่แม่อุ้ยก็พยายามที่จะทำตัวเป็นไกด์ที่ดี ดูแลนักท่องเที่ยวอย่างเราเป็นอย่างดี รวมถึงอธิบายพรรณไม้ต่าง ๆ ให้เราได้รู้ เดินตามหลังไกด์ ทั้งที่ใจนั้นแอบคร่ำครวญตลอดทาง จนน้องที่ร่วมทริปถามไกด์ว่า จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นอยู่ไกลมั้ย แม่อุ้ยไกด์ก็เลยเฉลยว่า ถ้าจะชมพระอาทิตย์ขึ้นเราต้องดูที่จุดบริการนักท่องเที่ยวตรงที่เราเข้ามา (อ้าว...) รู้สึกอยากโยนไม้เท้าทิ้ง แต่กลัวโดนปรับ ระยะทางเดินชมธรรมชาติในกิ่วแม่ปานมีระยะทางประมาณ 3.2 กม. ซึ่งตอนนี้เราเดินมาเกือบครึ่งทางในชุดเชคอิน 1 กม.แรก ซึ่งเป็นทางเดินขึ้นอย่างเดียว ถอยก็ไม่ได้ดูอ่อนแอเกินไป เลยตัดสินใจไปต่อ กัดฟันเดินต่อไปจนถึง 1 กม.แรก พักแบบจริงจังกินน้ำและจกสตอเบอรี่ออกมากินสองลูกพอให้มีแรงที่จะเดินต่อไป ตรงนี้เราจะมองไปเห็นเมืองแม่แจ่มด้วย เราเห็นมีนักท่องเที่ยวต่อคิวถ่ายรูปจำนวนพอสมควรก็เลยล่าถอยเดินต่อไปยังกิโลเมตรที่ 2 ความจริงไกด์ถามเราเหมือนกันว่าไปไหวมั้ย ถ้าไม่ไหวกลับตรงนี้ก็ได้ และมีนักท่องเที่ยวเดินกลับหลายคนเหมือนกัน จากกิโลเมตรแรกไปกิโลเมตรที่สอง เป็นเส้นทางสันเขา ไกด์แม่อุ้ยของเราบอกว่าจุดนี้เหมาะแก่การชมพระอาทิตย์ตก เอ้อ ... ถ้าจะรอก็คงอีกประมาณ 6 ชั่วโมงอ่ะนะ เราคงรอไม่ไหว ขออนุญาตพระอาทิตย์ไว้คราวหน้าก็แล้วกันค่ะ เดินไปเรื่อย ๆ ถ่ายรูปไปเรื่อย ๆ รู้สึกดีมาก ๆ อยากให้กิ่วแม่ปานเป็นแบบนี้ตลอดเส้นทางฮ่า ๆๆ เพราะเดินง่าย มีกุหลาบพันปีให้ชม มีนกเล็ก ๆ ที่ไกด์อธิบายว่าพันธุ์อะไรแต่เราก็ไม่สามารถจำได้หมด รวมถึงผลเบอรี่ป่า และดอกไม้ป่าให้ชมเป็นระยะ ๆ แล้วก็มาถึงการเดินทางไปกิโลเมตรที่สามซึ่งเป็นทางเดินขึ้นเดินลง นับว่าเป็นทางปราบเซียนของแท้ ร้อนจนต้องถอดเสื้อกันหนาวมาผูกที่เอว ผ้าพันคอเอาไปโพกหัว แข้งขาระบมไปหมด ระหว่างนั่งพักนั้นก็เลยได้สัมภาษณ์แม่อุ้ยไกด์ว่าทำไมถึงได้มาเป็นไกด์ที่นี่ เพราะอายุอานามแล้วน่าจะได้พักผ่อนเลี้ยงหลานอยู่บ้านมากกว่า แม่อุ้ยเล่าให้ฟังว่าไกด์ที่อายุ 60 ปีขึ้นมีกัน 3-4 คน บางคนก็อายุ 62 ส่วนตัวแม่อุ้ยเองมาเป็นไกด์เพราะลูกสาวแต่งงานไปอยู่อีกจังหวัด ส่วนลูกชายก็กินเหล้า แม่อุ้ยเลยหนีลูกชายมาอยู่ที่ด้านล่าง แล้วก็มาได้ทำงานเป็นไกด์หาเงินพอได้กินได้ใช้ ซึ่งรายได้ที่ได้ก็พอแค่ค่ากินอยู่รายวันเท่านั้น วันไหนโชคดีได้ทิปเยอะก็ดีไป แต่ถ้าวันไหนมีนักท่องเที่ยวน้อยไม่ได้ทิป ก็จะได้เงินแค่พอค่ากินอยู่เท่านั้น เราฟังแล้วก็อดใจหายไม่ได้ ถึงแม้ไกด์อาจจะดราม่าเรื่องทิป เรื่องรายได้ แต่ส่วนตัวแล้วก็ยังรู้สึกว่า พ่อแม่เราอายุเท่านี้เราก็ไม่ได้ให้มาเดินขึ้นลงเขาวันละ 3 กม. วันละสองสามรอบ ระหว่างเดินกลับก็เลยทิปแม่อุ้ยไปจำนวนเงินพอสมควรจนแม่อุ้ยยิ้มแก้มแตก ฟังเรื่องดราม่า และทิปคนแก่ไปแล้ว ก็ยังต้องกัดฟันเดินต่อ แต่การเดินระยะสุดท้ายนี้อาจจะด้วยความอิ่มใจทำให้มีพลังในการเดินมากกว่าตอนขามา หรือเพราะแม่อุ้ยบอกว่าเป็นจุดร้อยเมตรสุดท้ายแล้ว และได้ยินเสียงรถวิ่งอยู่ใกล้ ๆ ก็เป็นได้ เราก็เลยฮึดเดินเพียงอึดใจก็ไปถึงจุดบริการนักท่องเที่ยวที่เราเข้ามา ก่อนจากแม่อุ้ยก็เลยขอกอดเป็นกำลังใจให้คนแก่ แม่อุ้ยยิ้มแก้มแตก เห็นไปยืนโทรศัพท์ แล้วรอรถสองแถว พวกเราถามว่าจะไปไหนรึ แม่อุ้ยบอกว่าจะกลับบ้านแล้ว เราโบกมืออำลาไกด์สูงวัยของเราก่อนที่จะเดินอ่อนล้าไปเข้าห้องน้ำและขับรถกลับลงเขาด้วยใจที่เบิกบาน ภาพและเรื่องโดยผู้เขียน