เทศกาลโฮลี Holi Festival 2025 อินเดีย สาดสี เทศกาลแห่งสีสัน

ถ้าพูดถึง เทศกาล ที่สนุกที่สุดอีกงานหนึ่งของโลก ก็ต้องไม่พลาดที่จะพูดถึง เทศกาลโฮลี Holi Festival ซึ่งถือเป็นเทศกาลสำคัญที่ อินเดีย ค่ะ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วง เดือนมีนาคม ตามเรามารู้จัก เทศกาลโฮลี ที่เต็มไปด้วยสีสันนี้กันได้เลย!
เทศกาลโฮลี 2025 อินเดีย
Holi Festival 2025
เทศกาลโฮลี นั้นเป็น เทศกาลของชาวฮินดู ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 วันในช่วง เดือนมีนาคม ค่ะ โดยจัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิเ พื่อเฉลิมฉลองการมาถึงของฤดูกาลใหม่ และการเริ่มต้นของการเก็บเกี่ยว ผลิตผล
และในปี 2025 นี้ กำหนดจัดงานคือ วันที่ 14 มีนาคม 2025 โดยเทศกาลนี้เรียกอีกอย่างว่า "เทศกาลแห่งสีสัน" โดยกิจกรรมในงานก็คือ ทุกคนจะ สาดผงสี ใส่กันอย่างสนุกสนาน หรืออาจจะสาดน้ำใส่กัน อย่างสนุกสนาน ภายในครอบครัวก็จะมีการเฉลิมฉลอง รับประทานอาหารร่วมกัน เสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และมิตรภาพ
Mikadun / Shutterstock.com
รูปแบบของการเฉลิมฉลองเทศกาลโฮลีนี้ มีการสาดน้ำใส่กัน แต่เป็นน้ำที่ผสมสีสันต่างๆ บางที่ก็ไม่ใช้น้ำ แต่ใช้ผงสีซัดใส่กัน หรือป้ายหน้าป้ายตัวกันอย่างสนุกสนานค่ะ ซึ่งจะนิยมเล่นกันในเวลาเช้าถึงเที่ยงวันก็เลิก ต่างคนต่างกลับบ้านไปอาบน้ำและพักผ่อน
พอตกตอนเย็นจะออกมาพบปะสังสรรค์กัน แจกขนมหวานและสวมกอดกัน เทศกาลโฮลีจึงถือเป็นเทศกาลแห่งมิตรภาพ ให้มิตรสหายได้แสดงไมตรีเข้าสวมกอดกัน ผู้ที่เคยขัดแย้งกันก็จะได้ปรับความเข้าใจและคืนสู่มิตรภาพนั่นเอง
การสาดสีในเทศกาลโฮลี มีความหมายว่า ?
nelle hembry / Shutterstock.com
เราเอง อาจจะเห็นการสาดสีเล่นกันใน เทศกาลโฮลี เป็นเรื่องของความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่ที่จริงนั้นการเล่นสาดสีให้เลอะเทอะจนบางทีสีติดตัวติดเสื้อผ้า ล้างและซักไม่ออกนั้น สำหรับคนอินเดียก็มีความหมายที่ลึกซึ้งค่ะ ก็คือหมายถึง "ความเข้มแข็งของมิตรภาพที่จะอยู่ติดตรึงไปตลอดกาล ไม่มีวันจาง" เสื้อผ้าที่ใส่เล่นโฮลีจึงนิยมผ้าสีขาว และแม้จะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนด้วยสีต่างๆ แล้วก็จะไม่ทิ้งไปนั่นเอง
พิธีบูชาในเทศกาลโฮลี
Rudra Narayan Mitra / Shutterstock.com
แน่นอนว่า นอกจากความสนุกสนานกันในช่วงกลางวันที่มาเล่นน้ำสาดสีกันแล้ว ในช่วงเย็นของวันแรกในเทศกาลโฮลี จะมีการจัดซุ้มกองไฟเพื่อทำพิธีบูชาอีกด้วย โดยจัดไว้ เฉพาะสำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และมีลูกชายเท่านั้น ค่ะ เนื่องจากการบูชานี้ทำเพื่อสร้างสิริมงคล และปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปจากลูกชาย
และสำหรับคู่แต่งงานใหม่ที่ยังไม่มีลูก ขอจะทำ พิธีบูชาขอลูกชาย ในเทศกาลนี้ด้วยค่ะ และในวันที่สอง ทุกคนจะเล่นสาดสีและสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน บ้างก็เปิดเพลงเต้นรำกันอย่างคึกคักไป
เทศกาลโฮลี กับ สงกรานต์ เกี่ยวข้องกันหรือไม่ ?
ถ้าตามความเชื่อ และรูปแบบของเทศกาล หลายๆ คนมักจะคิดว่า สงกรานต์ นั้นมีรากฐานมาจาก เทศกาลโฮลี ของอินเดีย แต่จากการเสวนาทางวิชาการในหลายๆ เวทีที่ยังไม่สามารถกล่าวถึง ที่มาของเทศกาลสงกรานต์ ได้อย่างมีของสรุปที่ชัดเจน ทำให้เราไม่อาจพูดได้เต็มปากว่า เทศกาลโฮลี มีความเกี่ยวข้องกับสงกรานต์แบบ 100% ค่ะ
Itiprithul / Shutterstock.com
ในข้อสันนิษฐานของ อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ผู้เชี่ยวชาญปรัชญาอินเดียและศาสนาฮินดู ได้เสนอแนวคิดว่า การสาดน้ำสงกรานต์ ไม่ได้มาจากเทศกาลโฮลี เพราะเทศกาลโฮลีนั้นเป็นเทศกาลคนละระบบปฏิทิน คนละระบบเวลากับสงกรานต์ ซึ่ง เทศกาลสาดสีในอินเดีย นั้นเริ่มจากการฉลองฤดูเริ่มการเพาะปลูก ตามจันทรคติ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ราวๆ มีนาคม) เป็นพิธีกรรมดั้งเดิมของชาวบ้าน ในขณะที่ สงกรานต์ คือวันขึ้นปีใหม่ ทางสุริยคติ เป็นที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษ เทศกาลโฮลีจึงไม่ใช่ต้นแบบประเพณีสงกรานต์ไทย
ตำนานเทศกาลโฮลี
ด้วยความเก่าแก่ของอารยธรรมอินเดีย และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้เทศกาลโฮลี ถูกเชื่อมโยงกับตำนานต่างๆ มากมายเลยค่ะ เช่น
- เจ้าแห่งอสูรนามว่า หิรัณยกศิป ได้รับพรจากพระพรหมให้เป็นอมตะ ซึ่งต่อมาด้วยความที่ไม่มีใครฆ่าได้ ทำให้เจ้าอสูรต้องการให้ทุกคนบูชาตนเองเท่านั้น แต่ลูกชายที่ชื่อ ประหลาด (Prahlad) กลับบูชาแต่ พระวิษณุ ทำให้อสูรโกรธมาก พยายามหาวิธีทำให้ลูกตัวเองตาย หนึ่งในวิธีคือการหลอกให้ถูกเผาทั้งเป็น โดยให้ประหลาดเข้าพิธีบูชาไฟพร้อมน้องสาวของตนที่ชื่อ โหลิกา น้องสาวคนนี้ได้รับพรพิเศษว่าไฟไม่สามารถทำร้ายเธอได้ แต่ปรากฏว่าเมื่ออยู่ในกองไฟ เธอกลับถูกเผาไหม้ โดยประหลาดกลับไม่เป็นอะไรเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะพรที่เธอได้นั้นมีเงื่อนไขว่าเธอเข้ากองไฟคนเดียว สำหรับ ประหลาดนั้นด้วยการยึดมั่นบูชาถึงพระวิษณุเสมอจึงไม่เป็นอะไรจากไฟ
- เรื่องการเล่นโฮลีอย่างสนุกสนานระหว่าง พระกฤษณะ กับสาวชื่อ ราธา ที่เป็นสาวเลี้ยงวัว พระกฤษณะเดิมมีผิวพรรณคล้ำ เกิดอิจฉาสาวคนรักที่มีผิวขาวเนียน เลยไปถามแม่ว่าทำไมผมไม่เกิดมาผิวดีอย่างนางราธา แม่ตอบเพียงว่า เช่นนั้นลูกก็เอาสีไปสาดใส่นางราธาเสียสิ พระกฤษณะเลยจึงทำอย่างที่แม่บอก เกิดการสาดสีกันไปมา จนกลายเป็นเทศกาลโฮลีทุกวันนี้
Iakov Filimonov / Shutterstock.com
ทำให้ใน คืนก่อนวันโฮลี ตามชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ก็อาจมีการรวมกลุ่มกัน จัดพิธีเผานางโหลิกา เพื่อพิธีเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่า การทำร้ายเบียดเบียนกันในสังคม ตลอดจนความชั่วร้ายต่างๆ จะถูกเผาทำลายไป ธรรมะมีชัยชนะเหนืออธรรม
ผงสี เทศกาลโฮลีที่อินเดีย ทำจากอะไร?
ผงสีที่ใช้เล่นกันในเทศกาลโฮลีนั้นมีความติดแน่นทนนานมาก หากติดเสื้อผ้าก็แทบไม่มีวันซักออก (ซึ่งเขาตั้งใจไม่ซักเสื้อที่ใส่วันนี้อยู่แล้ว) ส่วนที่ติดตามตัว หน้า ผมนั้นก็ต้องสระต้องล้างกันเป็นวันๆ หลายคนอยากรู้ว่า สีพวกนี้ทำจากอะไร นั่นก็คือ ทำมาจาก ใบหรือดอก ของพืชหลากหลายชนิด เช่น สะเดา ขมิ้น หญ้าฝรั่น ใบมะตูม ฯลฯ จึงไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใดในการเอามาเล่นสาดสีกันนั่นเองค่ะ
แต่! ด้วยความที่ปัจจุบันนี้มีคนนิยมเล่นเทศกาลนี้กันมากขึ้น ทำให้การสกัดสีจากพืชก็ค่อยๆ จางหายไป เหลือเพียงการใช้แป้งที่ใช้ทำอาหาร ผสมน้ำ+สีผสมอาหารนั่นเองค่ะ