พระสัมริดนั่งขัดสมาธิราบ หล่อเสร็จในวันเดียว เป็นที่น่าอัศจรรย์ ผู้คนทั้งหลาย จึงได้ขนานนามว่า “พระเจ้าทันใจ” ประโยคสั้น ๆ ในตำนานเล่าขานกันมาครั้งบรรพบุรุษ “วัดพระเจ้าทันใจ ต.ต้นธงชัย-บ่อแฮ้ว อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง” คือสถานที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระเจ้าทันใจ” แม้ว่าวัดแห่งนี้จะตั้งอยู่ในเขตตัวเมืองลำปาง แต่สำหรับนักท่องเที่ยวอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับที่นี่มากนัก เพราะอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำวัง ทำให้หลุดผังจุดท่องเที่ยวหลักอย่างน่าเสียดาย การเดินทางในยุคนี้ไม่ได้ยากอีกต่อไป เราเปิด GPS ขับรถตามไปได้เลย ไม่หลงแน่นอน ด้านหน้าวัด เราจะเห็นป้ายชื่อวัดชัดเจนมาก ซุ้มประตู้โขงใหญ่ในรูปแบบล้านนาประยุกต์ ตั้งตระหง่านต้อนรับสาธุชนนักบุญอยู่ด้านหน้าอย่างสวยงาม และแน่นอนว่า ด้วยความงดงามของซุ้มประตูโขง เมื่อจอดรถไว้ด้านในแล้ว เราต้องวิ่งย้อนกลับมาหน้าวัดอีกครั้ง เพื่อถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก ก่อนเดินเข้าไปกราบพระในวิหารหลังใหญ่ จะสังเกตเห็นสถูปอัฐิสีทองอยู่ด้านหน้าวิหาร ซึ่งเป็นสถูปอัฐิพระครูบามหาป่าเกสรปัญโญ วัดไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง เนื่องด้วยท่านมีคุณูปการต่อวัดแห่งนี้มาแต่อดีตกาล การตั้งไว้ ณ จุดนี้จึงเสมือนเป็นอนุสรณ์แห่งความกตัญญูต่อท่าน ดังนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งจุด ที่เราควรเดินชมรอบบริเวณวิหารด้วยความสำรวม และด้านหน้าจะเป็นอุโบสถโบราณ ซึ่งประตูปิดไว้ เราจึงไม่ได้เข้าไปด้านใน มาถึงด้านในวิหาร เราจะเห็น “หลวงพ่อพระเจ้าทันใจ” ประดิษฐานอยู่ที่แท่นด้านบนอย่างชัดเจน วิธีขอพรท่านคือ กราบพระ กล่าวคำไหว้พระเจ้าทันใจ อธิฐานให้เสร็จสรรพ จากนั้นให้มองหาสมุดบัญชีเล่มใหญ่ ที่วางอยู่ด้านซ้ายมือ แล้วเขียนข้อความที่เราต้องการให้สมปรารถนาลงไป จะมีหัวข้อบอกเอาไว้ เขียนให้ครบถ้วนกระบวนความ หากเรื่องที่ขอสำเร็จ จะนำสิ่งใดมาถวายท่านก็ให้อธิฐานไปด้วย จากสิ่งที่เรามองเห็นด้วยตาตัวเองมาแล้ว และในภาพถ่าย น่าจะบอกได้ดีว่า ผู้ที่มาขอพรจากท่าน ได้รับความสมหวังหรือไม่... ให้ภาพเล่าเรื่องละกันนะ (เป็นความเชื่อส่วนบุคคล) ด้านหลังวิหาร เราจะพบกับพระบรมธาตุเจ้าทันใจ ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเราได้ไปกราบไหว้สักการะด้วย เดินไปรอบ ๆ จะมีจุดที่ให้เราได้สรงน้ำพระบรมธาตุด้วยนะ ซึ่งทางวัดจะเตรียมน้ำส้มป่อยเอาไว้ให้แล้ว เราก็ร่วมใส่ปัจจัยได้ตามศรัทธา หากใครชอบชมของโบราณ แนะนำว่าให้เดินชมพิพิธภัณฑ์ทั้ง 2 หลังนี้ หลังแรกไม่ได้เปิดให้เข้าไปชมด้านใน แต่จะมีของโบราณในยุคปู่ย่าตาทวดของเรา วางเรียบรายอยู่รอบ ๆ ส่วนหลังที่ 2 คือพิพิธภัณฑ์สินานนท์ เดิมเป็นยุ้งข้าว ทายาทได้รื้อถอนถวายวัดพระเจ้าทันใจ ด้านบนจะมีข้าวของเครื่องใช้โบราณเต็มไปหมด เหมาะกับผู้ที่นิยมชมชอบของโบราณ รวมถึงเราด้วยคนหนึ่ง วัดพระเจ้าทันใจแห่งนี้ สวยงาม สะอาด และร่มรื่น อาจดูไม่ตื่นตา แต่ทำให้ใจของเรา ได้สัมผัสกับความสงบได้ ...อีกครั้ง...