หากกล่าวถึงแหล่งท่องเที่ยวบริเวณใจกลางเมืองซีอาน หลายท่านคงนึกถึงหอระฆัง หอกลอง และย่านมุสลิม แต่มีอีกที่หนึ่งที่ฉันอยากแนะนำ นั่นคือ ศาลเจ้าประจำเมืองซีอาน (Xian Provincial City God Temple) การเดินทางไป "มู" หรือ มูเตลู ที่ศาลเจ้าแห่งนี้ไม่ยากเลย เริ่มต้นจากหอกลอง เดินเลาะริมถนนไปทางประตูเมืองฝั่งทิศตะวันตก ผ่านห้างปาร์คสัน (Parkson) ไปราว 100 เมตร จะถึงทางเข้าศาลเจ้า สังเกตซุ้มประตู้ไม้ขนาดใหญ่ มองเข้าไปในตรอกเล็กๆ จะเห็นคนเดินพลุกพล่าน ด้านบนขึงธงคล้ายธงมนต์ของทิเบต จารึกตัวอักษร “ฝู” สีเหลืองทองบนพื้นแดง มีความหมายถึงความสุขสิริมงคล จึงพบการประดับตัวอักษรฝูอยู่ตามศาลเจ้าโดยทั่วไป เมื่อเดินเข้าไปในตรอกเล็กๆ ที่คึกคักมีชีวิตชีวานั้น สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านรวงและข้าวของหลากหลายวางขายอยู่เต็มไปหมด เห็นได้ชัดว่าที่ตั้งของศาลแทรกอยู่กลางชุมชนอย่างลงตัว แม้ทางเข้าค่อนข้างซับซ้อนแต่ก็ชัดเจน เดินไหลตามผู้คนไปเรื่อยๆ ไม่หลงแน่นอน ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้าผู้ปกปักรักษาเมืองซีอานและเทพเจ้าองค์อื่นๆ ตามความเชื่อลัทธิเต๋า อาคารหลังแรกคือ "หอสถิตย์เทพเจ้าเหวินชาง" (Wenchang Pavilion) เทพแห่งภาษาและวรรณคดี ประทับเป็นองค์กลาง ชาวจีนขอพรเทพองค์นี้ให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สอบเรียนต่อหรือเข้าทำงาน ขอเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งให้ประสบความสำเร็จ ด้านซ้ายประดิษฐาน "เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง" ที่ประทานพรให้ผู้คนมีโชคลาภร่ำรวย ส่วนทางขวาคือ "เทพเจ้ากวนอู" ขุนศึกยุคสามก๊กที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเทพแห่งสงครามผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรมและความจงรักภักดีต่อเล่าปี่ไม่มีเสื่อมคลาย ถัดจากหอสถิตย์เทพเจ้าเหวินชางเป็นลานกว้าง มีประตูทางเข้าศาลเจ้าประจำเมืองซีอานอย่างเป็นทางการ เรียกพื้นที่ส่วนนี้ว่า "วัดตูเฉิงหวง" (Duchenghuang Temple; เฉิง/เมือง; หวง/กษัตริย์หรือเจ้า) สร้างขึ้นในยุคราชวงศ์หมิงเมื่อปี ค.ศ. 1387 เพื่ออุทิศให้เทพเจ้าผู้ปกป้องคุ้มครองบ้านเมืองและผู้คนทางพื้นที่ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์โจว ฉิน ฮั่น ถัง เหตุที่ต้องตั้งศาลเจ้าประจำเมืองขึ้นทั่วประเทศอย่างจริงจังในยุคราชวงศ์หมิง นอกจากเพื่อคุ้มครองป้องภัยให้แก่ประชาชนแล้ว ยังสร้างขึ้นเพื่อตรวจสอบการทำงานของข้าราชการท้องถิ่นให้ซื่อตรงโปร่งใสผ่านระบบการสาบานตน เทพเจ้าประจำเมืองจึงกลายเป็นเทพแห่งความเที่ยงธรรมซึ่งเป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไป ศาลเจ้าประจำเมืองซีอาน ในยุคแรกสร้างมีความสำคัญเป็นหนึ่งในสามของศาลเจ้าประจำเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน เทียบเท่าศาลเจ้าประจำเมืองปักกิ่งและนานจิง เดิมทีทำเลที่ตั้งของศาลเจ้าแห่งนี้อยู่บริเวณด้านในประตูเมืองฝั่งทิศตะวันออก และย้ายมาตั้งในพื้นที่ที่เป็นวัดในปัจจุบันบริเวณย่านตลาดค้าส่งขนาดเล็กใจกลางเมืองในปี ค.ศ. 1432 ต่อมาเกิดเหตุไฟไหม้หนักในปี ค.ศ. 1723 ซึ่งเป็นปีแรกที่จักรพรรดิหย่งเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิงขึ้นครองราชย์ ผู้ปกครองท้องถิ่นได้ฟื้นฟูบูรณะวัดเฉพาะตัวอาคารหลัก ก่อนจะถูกทำลายอีกครั้งจากการบุกรุกของทหารญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1942 อีกทั้งกิจกรรมต่างๆ จำต้องหยุดชะงักลงตลอดช่วงเวลาการปฏิวัติวัฒนธรรม กระทั่งในปี ค.ศ. 2001 ศาลเจ้าประจำเมืองซีอานถูกสร้างขึ้นใหม่และเปิดให้มีกิจกรรมตามลัทธิพิธีความเชื่อในอีกสองปีถัดมา อาคารหลักหลังใหญ่ตั้งอยู่ด้านในสุดเป็นที่ประดิษฐาน "เทพเจ้าประจำเมืองซีอาน" มีประวัติว่าเดิมคือ "แม่ทัพจีซิน" (General Jixin) แม่ทัพใหญ่ของหลิวปัง ราษฎรลูกชาวนาผู้ก่อกบฎยึดอำนาจจักรพรรดิราชวงศ์ฉิน จากนั้นสถาปนาราชวงศ์ฮั่น ปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิฮั่นเกาจูขึ้นปกครองประเทศ แม่ทัพจีซินมีคุณูปการใหญ่หลวงต่อการสถาปนาราชวงศ์ฮั่น หลังจากเสียชีวิตลง จักรพรรดิฮั่นเกาจูทรงสถาปนาท่านแม่ทัพเป็นเทพผู้คุ้มครองบ้านเมืองและประชาชนในท้องถิ่นจากภยันตรายต่างๆ ถัดจากเทพเจ้าประจำเมืองทั้งด้านซ้ายและขวามีรูปปั้นเทวทูตสี่องค์ในมือมีสมุดที่ใช้จดบันทึกบุญบาปของชาวเมือง นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งก่อสร้างที่ใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานเทพเจ้าองค์ต่างๆ อาทิ เทพเจ้าแห่งไฟ เจ้าแม่หวังหมู่ผู้ประทานพรเรื่องครอบครัวความรัก การแต่งงานและประทานบุตร เป็นต้น หากเพื่อนๆ สายมูท่านใดได้ไปเยี่ยมเยือนเมืองซีอาน อย่าลืมหาโอกาสไปมูกันที่ศาลเจ้าแห่งนี้ รับรองต้องได้อะไรติดไม้ติดมือกลับมาอย่างแน่นอนค่ะ Travel Tips: ศาลเจ้าเมืองซีอานเปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันเวลา 8:00-18:00 (เดือนพฤษภาคมถึงกันยายน) และ 8:30-17:30 (เดือนตุลาคมถึงเมษายน) เข้าถึงได้ด้วยการเดินเลาะริมถนนจากหอระฆังผ่านหอกลองและห้าง Parkson ทางเข้าเป็นตรอกเล็กๆ ทางขวามือ สังเกตซุ้มประตูไม้ขนาดใหญ่สีแดงสดไว้ให้ดี งานเทศกาลประจำปีมีสองครั้ง ครั้งแรกตรงกับวันที่ 1-15 เดือนอ้าย ครั้งที่สองตรงกับวันที่ 8 เดือนสี่ตามปฏิทินจันทรคติของจีน *รูปภาพประกอบบทความทั้งหมดโดยผู้เขียน