จากประสบการณ์การย้ายที่ทำงานไปต่างจังหวัดมา 2 - 3 ครั้ง ทำให้ผมได้เรียนรู้ธรรมเนียมอย่างหนึ่งว่า เมื่อไปอยู่จังหวัดใด สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลย คือ การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด เพื่อความเป็นสิริมงคลและเสริมสร้างขวัญ กำลังใจ ซึ่งหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละจังหวัดนั้นก็คือ ศาลหลักเมือง อันเป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมืองที่มีอยู่ทุกจังหวัด ดังนั้น เมื่อผมย้ายมาทำงานที่เพชรบูรณ์เมื่อต้นปีที่แล้ว ก็ไม่ลืมที่จะไปสักการะศาลหลักเมืองเพชรบูรณ์ซึ่งอยู่ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ และหลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสไปไหว้อีกหลายครั้งเพราะอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงานนัก ถือว่าเป็นการสะสมความเป็นสิริมงคล ตามความเชื่อ แต่แล้วหลังจากนั้นไม่นานต่อมา ผมก็ได้ทราบเพิ่มเติมว่า ที่เพชรบูรณ์มิได้มีเพียงแค่เสาหลักเมืองเก่าแก่ที่ศาลหลักเมืองในตัวเมืองเพชรบูรณ์เท่านั้น หากแต่ยังมีเสาหลักเมืองแห่งที่สอง ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกร่วมสามสิบกิโลเมตร เหตุเกิดจากวันนั้นที่ผมไปธุระแถว ๆ ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ (เพชรบูรณ์มีสนามบินนะครับ เผื่อใครไม่รู้ ^^) เป็นครั้งแรก แล้วสังเกตเห็นว่า บริเวณริมถนนซึ่งแยกออกมาจากถนนหลักสาย 21 (ถนนสระบุรี - หล่มสัก) ตรงแยกบุ่งน้ำเต้า อันเป็นถนนที่จะเข้าไปยังสนามบินนั้น มีพื้นที่หนึ่งซึ่งมีสิ่งปลูกสร้าง 2 - 3 อย่างที่มีลักษณะย้อนยุค คือ มีลักษณะเหมือนกำแพงปูนปั้นเป็นภาพเรื่องราวในอดีต และมีลักษณะเหมือนศาลหรือสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรบางอย่าง (ภาพโดย 31Singha) กระแสมูเตลูในกายกระตุกให้เลี้ยวรถเข้าไปเยี่ยมชม พบว่า สิ่งปลูกสร้างที่เห็นนั้น คือศาลที่ภายในเป็นที่ตั้งของเสาหิน ซึ่งปรากฎข้อมูลระบุว่าเป็นเสาหลักเมือง เรียกว่า เสาหลักเมืองนครบาล ความสงสัยบังเกิดขึ้นว่า ทำไมจึงมีเสาหลักเมืองอยู่ที่นี่ แล้วก่อนหน้านี้ที่ตนเองเคยไปไหว้เสาหลักเมืองในตัวเมืองเพชรบูรณ์นั้นคืออะไร (ภาพโดย 31Singha) โชคดีที่สถานที่นั้นมีคำตอบปรากฎอยู่ที่แผ่นป้ายสองแผ่นที่อยู่ภายในศาล (ภาพโดย 31Singha) แผ่นป้ายหนึ่งเป็นมีลักษณะเหมือนบทความที่ตัดมาจากหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร วารสารในอดีต ใส่กรอบแขวนไว้ ชื่อบทความ "เสาหลักเมืองกลางหุบเขา อนุสรณ์นครบาลเพชรบูรณ์" ส่วนอีกป้ายหนึ่งที่เป็นแผ่นป้ายโลหะขนาดใหญ่ที่แลดูเป็นมาตรฐานมากกว่า ตัวหนังสือในแผ่นป้ายจั่วหัวว่า "ประวัติศาสตร์นครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2486 - 2487" และถัดลงมาเป็นตัวหนังสือบันทึกข้อมูลค่อนข้างละเอียด โดยท่าน ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ (ภาพโดย 31Singha) ใจความโดยสรุป ตามที่ปรากฏในแผ่นป้ายข้อมูลซึ่งอยู่ในศาลนั้น ฟังได้ว่า เสาหลักเมืองที่ผมแวะไปเยี่ยมชมในวันนั้น เป็นอนุสรณ์ที่ระลึกถึงช่วงเวลาหนึ่งที่มีการพัฒนาเมืองเพชรบูรณ์ให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องมาจากในช่วงปี พ.ศ.2486 - 2487 ท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในยุคนั้น มีดำริจะย้ายเมืองหลวงของประเทศ จากกรุงเทพฯ มาอยู่ที่เพชรบูรณ์ เนื่องจากตอนนั้นประสบภาวะสงครามและกรุงเทพฯ เป็นเป้าหมายที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดโจมตี ท่านนายกฯ พิจารณาเห็นว่าเพชรบูรณ์มีภูมิประเทศ อากาศดี มีที่ตั้งเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อภาคเหนือ ภาคอีสาน และกรุงเทพ เหมาะแก่การเป็นเมืองหลวงใหม่ และอาจใช้เป็นฐานทัพซ่องสุมกำลังขับไล่ศัตรู (พวกญี่ปุ่น) ในอนาคต จึงได้ดำเนินการวางแผนย้ายเมืองหลวง โดยเกณฑ์ผู้คนอพยพมาอยู่ และก่อสร้างถนนหนทาง ปรับปรุงพื้นที่ ย้ายสถานที่สำคัญ เช่น กระทรวง ทบวง กรม โรงเรียนนายร้อย สถานที่ราชการต่าง ๆ รวมถึงทรัพย์สินของแผ่นดินมาไว้ที่เพชรบูรณ์ แม้แต่พระแก้วมรกตก็เคยได้รับการอัญเชิญมาไว้ที่เมืองนี้ ซึ่งในครั้งนั้น ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้บัญชาการก่อสร้างเมืองหลวงที่เพชรบูรณ์ โดยใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรี และมีการประกาศพระราชกำหนดระเบียบบริหารราชการนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ.2487 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดการบริหารราชการส่วนภูมิภาคของจังหวัดนี้ให้เป็น "นครบาลเพชรบูรณ์" ซึ่งเป็นชื่อที่วางแผนว่าจะให้ใช้ชื่อนี้เมื่อเป็นเมืองหลวง แต่สุดท้ายโครงการของท่านจอมพล ป.พิบูลสงครามก็ไม่อาจบรรลุผลตามที่วางไว้ เนื่องจากเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านได้เสนอให้พระราชกำหนดระเบียบบริหารราชการนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ.2487 ซึ่งเป็นลักษณะเป็นกฎหมายในระดับที่ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ และตราใช้ชั่วคราวในกรณีเร่งด่วนหรือฉุกเฉินเข้าสู่สภาผู้แทนรราษฎร เพื่อให้มีการพิจารณาอนุมัติยกระดับให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งจะเป็นกฎมหมายในลำดับศักดิ์ที่สูงขึ้น และมีผลดำเนินการถาวรตลอดไป แต่สภาฯ ไม่เห็นชอบด้วย โดยมีผลโหวต 48 ต่อ 36 เสียง ไม่ให้มีการย้ายเมืองหลวงมาที่เพชรบูรณ์ ด้วยเหตุผลที่ระบุว่าเป็นพื้นที่กันดาร มีป่าเขาและโรคภัยไข้เจ็บชุกชุม โดยยกเหตุที่ตอนเริ่มก่อสร้างปรับปรุงเมืองเพื่อเตรียมใช้เป็นเมืองหลวงนั้น ได้มีการเกณฑ์ผู้คนมาก่อสร้าง และมีคนล้มตายทั้งจากไข้มาลาเรียและความอดอยาก ลำบาก นับพันคน โครงการย้ายเมืองหลวงของท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเป็นอันต้องยุติลง แต่อย่างไรก็ตาม ชาวเมืองเพชรบูรณ์ก็ยังตระหนักถึงคุณูปการและอัจฉริยภาพของท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในการวางแผนพัฒนาเมืองเพชรบูรณ์เพื่อให้เป็น "นครบาลเพชรบูรณ์" ในช่วงเวลาดังกล่าว แม้ว่าบรรดาสิ่งปลูกสร้างซึ่งสมัยนั้นมีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างชั่วคราวที่เรียกว่าโครงสร้าง จ.ผ.ด. (จักสาน - ไม้ไผ่ - ดินเผา) จะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา แต่เสาหลักเมืองแห่งนี้ที่ท่านได้ก่อสร้างไว้ยังอยู่ และเป็นเสมือนอนุสรณ์ให้รำลึกถึงโครงการของท่านในคราวนั้น (ภาพโดย 31Singha) ปัจจุบันที่ตั้งของศาลหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์ ที่บ้านบุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ยังคงได้รับการรักษา มีการสร้างรูปปั้นของท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีกำแพงรูปปั้นนูนต่ำแสดงภาพเหตุการณ์ในยุคสมัยนั้น เพื่อเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์และรำลึกถึงคุณูปการของท่านไว้ ณ พื้นที่ดังกล่าว ผมขับรถออกจากบริเวณศาลหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์ ด้วยแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ด้วยแง่คิดจากการเรียนรู้ ณ สถานที่แห่งนี้ว่า ความตั้งใจในการทำสิ่งใดที่เป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะบรรลุผลตามที่ตั้งไว้หรือไม่ เพียงใดก็ตาม หากแต่การที่เรามีความตั้งใจจริง สิ่งที่เราทำนั้นย่อมจะไม่สูญเปล่า เหมือนกับแผนโครงการ "นครบาลเพชรบูรณ์" แห่งนี้ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องเล่าขานที่อยู่ในความทรงจำ และปรากฎให้เห็นเป็นอนุสรณ์มาจนถึงปัจจุบัน และคิดว่าจะคงอยู่ตลอดไป ภาพปกบทความ โดย 31Singha