คำด่าที่ว่า “ไร้แผ่นดิน” คงคุ้นเคยกันมาบ้าในชีวิตประจำวันในเชิงดีและมุกตลก จนในบางครั้ง ก็อยากจินตนาการว่าถ้าการยืนอยู่ในลักษณะไร้แผ่นดิน มันจะเป็นอย่างไรกัน แล้วมันก็กลายเป็นเรื่องตลกไปเมื่อได้คิดถึงคำนี้ แต่แล้วก็ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ คำว่า “ไร้แผ่นดิน” ไม่ได้ใช้แค่เปรียบเปรยคนไม่มีที่อยู่อาศัย แต่มันเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริงทางภาคตะวันออกของประเทศไทย ที่จังหวัดจันทบุรี ในชื่อ “หมู่บ้านไร้แผ่นดิน” เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำ บ้านเกือบทุกหลังไม่ได้ตั้งอยู่บนแผ่นดิน มีเพียงเสาที่ปักค้ำตัวบ้านให้ยืนอยู่เหนือแม่น้ำชุมชนแห่งนี้ถือเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่ง เพราะเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2410 ยืนนับนิ้วผสมกับกดเครื่องคิดเลขแล้วก็มีอายุมากกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบปี โดยแรกเริ่มชาวบ้านอาศัยปลูกบ้านตามเกาะ และมีการปักเสาปูนกับไม้เพื่อสร้างบ้านกัน และเดินทางด้วยเรือเท่านั้น ในอดีตบริเวณแห่งนี้เป็นพื้นที่ป่าโกงกางที่มีอยู่มาก จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2514 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรในยุคนั้น ได้เปิดสัมปทานให้มีการตัดไม้โกงกางในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเวฬุ ชาวบ้านที่ไปตัดไม้ได้ ก็จะนำมากองไว้ในบริเวณหมู่บ้านแห่งนี้เพื่อรอการเอาเข้าเตาเผาถ่าน และหมู่บ้านแห่งนี้ก็มีชื่อเรียกกันในยุคนั้นว่า “บ้านโรงไม้”จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ.2539 รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้ยกเลิกสัมปทาน ผู้คนที่เคยตัดไม้เป็นอาชีพ ชาวจีนที่มาทำการค้าและหลบมรสุมที่นี่ จึงปรับเปลี่ยนตัวเอง จับจองพื้นที่ตั้งรกรากและหันไปทำอาชีพประมง เพราะในบริเวณลุ่มน้ำแห่งนี้ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำมากมาย จนเป็นอาชีพหลักของผู้คนที่นี่ และได้เปลี่ยนชื่อจาก “บ้านโรงไม้” เป็น “หมู่บ้านไร้แผ่นดิน” เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่บ้านเรือนไม่ได้ตั้งอยู่บนผืนดิน แต่อยู่บนผืนน้ำการเดินทางครั้งนี้เริ่มจากกรุงเทพมหานครมุ่งตรงที่ภาคตะวันออกจนถึงอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ขับมาจนถึงชุมชนหนึ่งตรงโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่มีป้ายติดประกาศสามารถพานั่งเรือไปยังหมู่บ้านไร้แผ่นดินได้“ไปกลับพันหนึ่ง จากนี้ไปยี่สิบนาที กลับอีกยี่สิบนาที ยังไม่รวมเวลาเดินนะ อยู่ที่ว่าจะเดินนานขนาดไหน เพราะส่วนใหญ่เขาก็ไปนอนค้างกัน”ผู้ใหญ่เจ้าของเรือกล่าวเช่นนั้น ในราคาหนึ่งพันถือว่าเป็นราคาปกติ หากมากันเยอะก็หารกันง่าย หากไปคนเดียวก็จ่ายเต็มจำนวน และต้องยอมรับว่าการเดินทางไปยังหมู่บ้านไร้แผ่นดิน มีเพียงทางเดียวคือเรือเท่านั้น และนั่งเรือไปยังหมู่บ้าน ก็ไม่ได้น่าเบื่อ เพราะเส้นทางน้ำรายล้อมไปด้วยป่าชายเลน และวิถีชีวิตของชาวบ้านริมน้ำอันเต็มไปด้วยความเป็นกันเอง ทำให้รู้สึกตัวอีกที เท้าก็ขึ้นเหยียบยังพื้นทางเดินของหมู่บ้านไร้แผ่นดินแล้ว“มาจากไหนล่ะจ๊ะ?”คำถามแรกของหญิงสาวที่ตั้งร้านอาหารตามสั่งอยู่ตรงบ้านหลังแรกที่ชิงทักทายก่อน และเมื่อให้คำตอบกลับไป บทสนทนาก็เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นกันเอง โดยที่เธอยินดีจะเล่าข้อมูลของชุมชนให้ฟังอย่างเต็มใจ และนั่นจึงทำให้ต้องสั่งก๋วยเตี๋ยวสักชามเพื่อสอบถามถึงวิถีชีวิตในชุมชนแห่งนี้“ตรงนี้ไม่มีดินเลย ยาวไปจนถึงฝั่งวัดน่ะแหละ ทุกหลังตั้งอยู่บนน้ำหมด แต่เมื่อน้ำลงก็พอเห็นดินเลนอยู่ ตรงโน้นจะเป็นทางไปทะเลแหวก ไปดูเหยี่ยว แต่ต้องมาตอนเย็น ตอนนี้มันยังไม่ถึงเวลาน้ำลง เห็นภูเขาลูกนั้นมั้ย นั่นคือจังหวัดตราด อยู่ตรงนี้ก็เห็นจังหวัดตราดได้”หญิงสาวที่เป็นชาวบ้านเล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจในความวิเศษของชุมชนแห่งนี้ แต่ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า ในสภาพที่ชุมชนอยู่บนน้ำ และต้องการคมนาคมก็มีเพียงทางเรือเท่านั้น หากเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาจะเป็นอย่างไร“มีอนามัยอยู่ตรงกลางนี้ ใครเจ็บใครป่วยไม่หนัก ก็เข้าอนามัยกัน แต่ถ้าเจ็บหนัก ก็รักษาเบื้องต้นที่นี่ก่อน แล้วก็ลงเรือพาไปขึ้นฝั่งเข้าโรงพยาบาลกัน”แต่เมื่อประเมินภาพกว้างทางด้านอากาศบริสุทธิ์และสิ่งแวดล้อมที่ดีแล้ว ผู้คนในชุมชนนี้คงไม่ได้เจ็บป่วยกันง่าย ๆ และด้วยชุมชนที่อยู่บนแม่น้ำ อาหารการกินจึงเป็นกุ้ง หอย ปู ปลาที่จับกันได้ในบริเวณนี้ นั่นจึงทำให้ร้านอาหารส่วนใหญ่จะมีอาหารทะเลมากกว่า และทุกเมนูก็จะมีกุ้งเป็นเครื่องประกอบ หากใครที่ไม่ได้แพ้อาหารทะเล ที่นี่อาจจะทำให้เจริญอาหารได้ดีที่สุด“มาไกลนี่ จะให้ดูปลาเสือตรงนี้นี่ ของเด็ดเลย”ตรงหน้าร้านอาหารตามสั่ง คือบ้านของผู้ใหญ่บ้านในชุมชนนี้ได้เรียกชักชวนให้ไปดูปลาเสือที่อยู่ตามแม่น้ำ โดยผู้ใหญ่บ้านใช้แมลงสาบปลอมเป็นเหยื่อล่อให้ปลาเสือออกมา หลังจากนั้นเหล่าปลาก็พ่นน้ำใส่เหยื่อปลอมนั้นอย่างสนุกสนานช่วงสายถึงเที่ยงในหมู่บ้านไร้แผ่นดินถือว่าเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่มีเสน่ห์ไปอีกแบบ ความเงียบสงบชนิดที่ว่าพูดคุยกันก็ได้ยินเสียงแต่ไกล ผสานกับเสียงคลื่นน้ำ ก่อเกิดเป็นความงดงามบางอย่างที่ไม่สามารถประเมินค่าออกมาได้ วิถีชีวิตอันเรียบง่ายที่มากด้วยรอยยิ้ม การทักทายของบ้านใกล้เรือนเคียง ส่งต่อสู่การต้อนรับคนนอกที่มาเยือนจนทำให้รู้สึกอบอุ่นที่ได้พูดคุยด้วยกันบ้านเรือนหลายหลังยังคงความดั้งเดิมไว้ และอีกหลายหลังเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นโฮมสเตย์เพื่อต้อนรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยว ที่เป็นการบ่งชี้ว่าสถานที่แห่งนี้ มีจำนวนผู้คนมาเยือนมากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ละทิ้งวิถีชีวิตดั้งเดิมแต่อย่างใด เนื้อปลาแดดเดียว การทำกุ้งแห้งก็ยังมีให้เราได้เห็น ซึ่งอาหารเหล่านี้ก็กลายเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้ผู้คนได้ซื้อไปรับประทานกัน“ถ้าจะมาดูเหยี่ยวแดง ต้องมาตอนสี่โมงเย็น ตอนเที่ยงบ่ายแบบนี้ร้อนเกิน แถมน้ำยังไม่ลง ลงเมื่อไหร่ได้เห็นทะเลแหวกด้วย นักท่องเที่ยวจะไปตรงนั้นกัน ไปเล่นน้ำด้วย ใกล้ค่ำพวกรีสอร์ทโฮมสเตย์จะลากแพเปียกออกมาให้นักท่องเที่ยวมาจัดปาร์ตี้กัน กลางคืนนี่สนุกสนานเลยล่ะ คึกครื้นดี”ชายเจ้าของเรือผู้นำพามายังหมู่บ้านแห่งนี้ กล่าวถึงบรรยากาศตอนเย็นให้ได้ฟัง แต่จากที่ได้รับข้อมูลและประเมินแล้ว ก็ถือว่าชุมชนแห่งนี้มีการจัดการด้านขยะที่ดีชุมชนหนึ่ง การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ย่อมเกิดขยะ แต่บริเวณแม่น้ำและตามจุดต่าง ๆ ก็ไม่เห็นแม้แต่ขยะลอยมาสักชิ้น อีกทั้งบนทางเดินก็มีกรงแยกขยะอย่างชัดเจน ถือว่าเป็นตัวอย่างชุมชนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีและควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง อีกทั้งแม่น้ำแห่งนี้ก็เป็นน้ำเค็ม ทางชุมชนก็มีเรือกรองน้ำจืดและจัดการกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ได้ครบทุกเรือน“หมู่บ้านไร้แผ่นดิน ถิ่นเหยี่ยวแดง แหล่งปลาเสือ เหลือเชื่อทะเลแหวก แมกไม้โกงกาง ฟ้าสางที่บางชัน”คำขวัญของหมู่บ้านแห่งนี้ กล่าวไว้อย่างถูกต้องทุกประการ ความอุดมสมบูรณ์ในลุ่มน้ำก่อเกิดอาหารทะเลสดให้กินได้ตลอดปี วิถีชีวิตชุมชนอันเรียบง่ายและมากไปด้วยรอยยิ้ม สร้างเป็นคุณค่าที่ทำให้ผู้มาเยือนไม่ได้แค่มาท่องเที่ยวผ่อนคลาย แต่ยังได้เรียนรู้ถึงการดำเนินชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างลงตัว เกิดเป็นความสุขที่อยู่ในพื้นที่แห่งนี้ หมู่บ้านไร้แผ่นดิน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี