รู้จักเทศกาลเช็งเม้ง และข้อห้ามในการเซ่นไหว้
เทศกาลเช็งเม้ง เป็นวันที่ที่พวกเราเหล่าลูกหลานชาวจีนจะต้องรู้จัก เพราะตั้งแต่เด็กจนโตเราก็จะได้ตามอาป๊า อาม๊าไปรวมญาติกันที่ฮวงซุ้ยอยู่เป็นประจำ ตอนนั้นจำได้เลยว่าสำหรับเด็กตัวน้อยๆ ช่วงนั่งเผากระดาษเงินกระดาษทอง รวมถึงบ้าน รถ มือถือ ฯลฯ เป็นอะไรที่เพลินดีเหมือนกัน โตมาถึงรู้ว่ามันเป็นอะไรที่มากกว่าแค่งานกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา รวมญาติกันที่สุสานเท่านั้น
คำว่า เช็งเม้ง นั้นมีความหมายว่า "ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส รื่นรมย์" (ฟังดูดี ขัดกับอากาศร้อนๆ ในไทยเหลือเกิน) แต่ถ้าอ่านแบบสำเนียงจีนกลางจะเรียก "ชิงหมิง" (清明節) ในเมืองจีนจะเริ่มประมาณวันที่ 4-5 เมษายน ไปจนถึง 19-20 เมษายน ส่วนในไทยจะยึดวันที่ 5 เมษายนของทุกปีเป็นหลัก (เว้นแต่บางปีจะเป็นวันที่ 4) ซึ่งก็ไม่ใช่แค่ในไทยหรือจีนเท่านั้นนะ แต่ยังนิยมทำกันในประเทศที่มีลูกหลานสายเลือดจีนอาศัยอยู่ ทั้งฮ่องกง ไต้หวัน หรือแม้แต่ญี่ปุ่นยังมี นับเป็นหนึ่งในงานใหญ่รองๆ จากตรุษจีนเลยครับ
เทศกาลเช็งเม้งเริ่มมีตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว มีประวัติศาสตร์กว่า 2,500 ปีแล้ว ในยุคชุนชิว องค์ชายฉงเอ่อแห่งแคว้นจิ้นหนีภัยออกนอกแคว้น ไปมีชีวิตตกระกำลำบากนอกเมือง โดยมีเจี้ยจื่อทุยติดตามไปดูแลรับใช้
เจี้ยจื่อทุยมีจิตใจเมตตาถึงขนาดยอมเฉือนเนื้อที่ขาตัวเองเป็นอาหารให้องค์ชายเสวยเพื่อประทังชีวิต ภายหลังเมื่อองค์ชายเสด็จกลับเข้าแคว้น และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองแคว้น นาม จิ้นเหวินกง และได้สถาปนาตอบแทนขุนนางทุกคนที่เคยให้ความช่วยเหลือตน แต่กลับลืมเจี้ยจื่อทุยไปเสียอย่างนั้น ผ่านไปนานวันเข้าจึงมีคนเตือนถึงบุญคุณเจี้ยจื่อทุย จิ้นเหวินกงเพิ่งนึกขึ้นไป จึงต้องการตอบแทนบุญคุณ โดยจัดหาบ้านให้เขา และมารดาให้อาศัยอยู่อย่างสุขสบายในเมือง แต่เจี้ยจื่อทุยปฏิเสธไม่รับ
จิ้นเหวินกงได้คิดแผนเผาภูเขา โดยหวังว่าเจี้ยจื่อทุยจะพามารดาหนีออกมาจากบ้าน แต่ผลสุดท้ายกลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด สองแม่ลูกกลับต้องเสียชีวิตในกองเพลิง ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจี้ยจื่อทุย จิ้นเหวินกงจึงมีคำสั่งให้วันนี้ของทุกปี ห้ามไม่ให้มีการก่อไฟ และให้รับประทานแต่อาหารสด ๆ และเย็น ๆ จนกลายเป็นที่มาของเทศกาลวันกินอาหารเย็น หรือ เทศกาลหันสือเจี๋ย (寒食节) ซึ่งเป็นวันสุกดิบก่อนวันเช็งเม้ง 1 วัน
เนื่องจากคนโบราณนิยมถือปฏิบัติกิจกรรมตามประเพณีวันหันสือเจี๋ยต่อเนื่องไปจนถึงวันเช็งเม้ง นานวันเข้าเทศกาลทั้งสองก็รวมเป็นวันเช็งเม้งวันเดียว การไหว้เจี้ยจื่อทุยจึงค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นการไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษแทนในที่สุด
ANImages / Shutterstock.com
กลับมาที่ยุคปัจจุบัน ในวันเช็งเม้งนี้ก็จะมีส่วนหลักๆ อยู่ 2 อย่าง นั่นคือการทำความสะอาดสุสานและเผากระดาษเงิน จัดของเซ่นไหว้ ซึ่งการจัดของเซ่นไหว้นี่แหละที่มีข้อระมัดระวัง หรือข้อต้องห้ามดังต่อไปนี้
1. หญิงมีครรภ์ไม่ควรไปเขตสุสาน
เชื่อกันว่า ในเขตสุสานมีลม"หยิน"(ตามทฤษฎีหยินหยาง 阴阳ของจีน) เมื่อว่าที่คุณแม่ติดลมหยินมาก จะส่งผลกระทบต่อตัวเองและลูกในท้อง ในความน่าจะเป็นก็คือในเขตสุสานมีคนแน่น สำหรับผู้หญิงท้องคงจะไม่ปลอดภัย และอากาศยังหนาวอยู่ (ที่เมืองจีน) โดยเฉพาะสุสานมักตั้งอยู่ในเขตภูเขา ลมแรง เลยทำให้เป็นหวัดง่าย นอกจากนี้ ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน ก็ไม่ควรเข้าร่วมกิจกรรมประเภทนี้ด้วยเช่นกัน
2. ไม่ควรถ่ายรูปในสุสาน
การไปเขตสุสาน ก็เพื่อทำความสะอาดสุสาน เซ่นไหว้บรรพบุรุษหรือผู้ที่จากไปแล้ว ไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว ดังนั้น ควรมีความเคารพ ตั้งใจเซ่นไหว้ ไม่ควรถ่ายรูปตามอำเภอใจ รูปหมู่ยิ่งไม่ควรถ่าย ไม่งั้นอาจจะทำให้ "หยิน" กับ "หยาง" ในร่างกายไม่สมดุลกัน จนส่งผลกระทบต่อโชคชะตาของผู้ถ่ายรูปก็ได้
3. ห้ามแต่งชุดสีสดใสเจิดจ้า
อันนี้ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปอยู่แล้ว ไม่ควรแต่งตัวสีสดใสเจิดจ้าไปเซ่นไหว้ในเขตสุสาน ถือเป็นการไม่ให้ความเคารพต่อผู้ที่จากไปแล้ว
4. อย่าไปร่วมการเซ่นไหว้กับครอบครัวอื่น
ไม่ว่าจะสนิทขนาดไหนก็ตาม ถ้ายังไม่ใช่สมาชิกครอบครัวเดียวกัน ก็ควรต่างคนต่างเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และผู้ที่จากไปของครอบครัวตนเองดีกว่า มีความเชื่อว่าถ้าไปร่วมพิธีเซ่นไหว้ของบ้านอื่นอาจทำให้โชคร้าย
5. อย่าไปเซ่นไหว้ขณะสุขภาพไม่ดีหรือกำลังอยู่ในช่วงที่โชคไม่ดี
ถ้าป่วยอยู่ สุขภาพไม่แข็งแรง ร่างกายอ่อนแอ หรือกำลังอยู่ในช่วงที่โชคไม่ดี ไม่ราบรื่น อย่าไปร่วมการเซ่นไหว้ดีกว่า เพราะคนเหล่านี้กำลังอยู่ในสภาพไม่ดี การไปร่วมเซ่นไหว้ จะทำให้เกิดความเศร้า ท้อแท้ใจ ไม่เป็นผลดีต่อการปรับตัวปรับใจให้ดีขึ้นนั่นเอง
อัพเดทที่พักสุดชิลล์ ที่เที่ยวสุดมันส์ ที่กินสุดฮิป
ติดตาม travel.trueid.net ได้ที่
LINE |
TrueID Application |