ผมลองถามเพื่อนส่วนใหญ่ที่ไปเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ว่า นอกจากจะเที่ยวในเมืองแล้ว ส่วนใหญ่จะไปเที่ยวไหนกันต่อ ร้อยละ 100 บอกตรงกันเลยครับว่า อำเภอลับแล เมื่อพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศและทำเลที่ตั้งแล้วก็เป็นไปได้ครับ เพราอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองไม่เกิน 10 กิโลเมตรเท่านั้นเอง และหากดูในเชิงประวัติศาสตร์ ชาวลับแลมีสายสัมพันธ์ร่วมกับคนที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองทางเลือดเนื้อเชื้อไขกันมานมนาน เวลามีเหตุศึกสงคราม คนที่อาศัยอยู่ในเมืองก็จะอพยพไปอยู่ที่อำเภอลับแล พอสงครามสงบก็ย้ายกลับมาอยู่ที่เดิม ไป ๆ มา ๆ แบบนี้ตลอดประวัติศาสตร์เมืองอุตรดิตถ์ นอกจากนั้น อำเภอลับแลยังเป็นพื้นที่สำคัญด้านประวัติศาสตร์ศาสนาอีกด้วย เพราะเป็นที่ตั้งของวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งและวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงสำคัญ เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของจังหวัด ใครที่มาอุตรดิตถ์แล้วหากไม่มาที่นี่ ก็เหมือนไปกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ไปวัดพระแก้วนั่นเอง การมาเที่ยวทัวร์ทำบุญครั้งนี้ ผมจะพาไปเที่ยวทัวร์ทำบุญวัดในเขตอำเภอลับแลที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เคยไป แต่ก็มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์และวิถีชุมชนคนลับแลไม่น้อยเช่นกัน ส่วนจะมีวัดอะไรบ้างและสำคัญยังไง ไปดูกันที่ละวัดได้เลยครับ 01.วัดม่อนปรางค์ วัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2174 คนพื้นที่มักเรียกสั้น ๆ ว่า "วัดม่อน" เป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอลับแล วิหาร สร้างโยฝีมือช่างพื้นบ้านภาคเหนือ มีลวดลายแกะสลักที่หน้าบันและมีลวดลายซุ้มประตูหน้าต่างเป็นเอกลักษณ์สวยงาม แต่ละอันไม่เหมือนกัน หอไตร สร้างจากไม้สัก ขนาดของหอไตรไม่ใหญ่มาก ตั้งอยู่หน้าวิหาร คาดว่าสร้างในสมัยสุโขทัยตอนปลาย อุโบสถ มีใบเสมาทำด้วยหินชนวนอยู่รอบทั้ง 8 ทิศ ผนังเปิดโล่ง ไม่มีหน้าต่าง และไม่มีประตู ตามแบบสถาปัตยกรรมพื้นบ้านผสมล้านนา เรียกว่า อุโบสถปัจจันตะประเทศ(อุโบสถชายแดน) มีขนาดเล็กที่สุดในภาคเหนือ มีอายุอยู่ราวกรุงศรีอยุธยาตอนต้น นอกจากนั้น ยังหันหน้าไปทางทิศใต้ซึ่งแปลกกว่าวัดอื่นหันหน้าไปทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออก ธรรมาสน์ อายุเกือบร้อยปี ลงรักปิดทอง มีลวดลายการแกะสลักที่สวยงามทั้ง 4 ด้าน บันไดทางขึ้นธรรมาสน์แกะสลักเป็นรูปพญานาคสามารถถอดประกอบได้ ที่ตั้ง : วัดม่อนปรางค์ ตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เวลาเปิด-ปิด : 07.00-18.00 น. สิ่งที่น่าสนใจ : วิหาร/อุโบสถ/หอไตร/ธรรมมาสน์ 02.วัดเจดีย์คีรีวิหาร เดิมชื่อว่า วัดป่าแก้ว จากศิลาจารึกที่ขุดพบตอนบูรณะพระเจดีย์ ประกอบกับลักษณะเจดีย์โบราณที่มีลักษณะฐานเขียงสามชั้นแบบสุโขทัย เป็นหลักฐานยืนยันว่า วัดเจดีย์คีรีวิหาร น่าจะสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ต่อมาชาวไทยยวนอพยพมาจากอำเภอเชียงแสนพมาอยู่ที่นี่และได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกครั้ง จึงได้แต่งเรื่องผูกตำนานเชื่อมโยงกับภูมิหลังทางชาติพันธุ์ของตนว่า สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1519 โดยเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ปฐมกษัตริย์แห่งนครลับแลโบราณ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ขอแบ่งมาจากพระมหาชินธาตุเจ้า(พระธาตุดอยตุง) จังหวัดเชียงราย จนกระทั่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จประพาสภาคเหนือ ทรงเห็นว่า วัดร้างแห่งนี้อยู่ในทำเลที่ดี เป็นเนินสูงไม่มากนัก พร้อมทั้งมีเจดีย์เก่าอยู่ จึงตั้งชื่อวัดใหม่ว่า วัดเจดีย์คีรีวิหาร จากนั้น ในปี พ.ศ. 2454 พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตและคณะศรัทธา จึงได้ร่วมกันบูรณะซ่อมแซมพระเจดีย์ให้คงคืนสภาพเดิมตามแบบรูปทรงเจดีย์ล้านนา-ไทลื้อ มีเจดีย์องค์เล็กอยู่ทั้ง 4 ด้าน ด้านในมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยสง่างาม บานประตูและหน้าบันเป็นไม้แกะสลัก ลวดลายประณีตอ่อนช้อย ที่ตั้ง : วัดเจดีย์คีรีวิหาร ตำบลฝายหลวง อำเภออำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เวลาเปิด-ปิด : 07.00-18.00 น. สิ่งที่น่าสนใจ : เจดีย์โบราณ/พระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่/ตำหนักคีรีรมย์/อุโบสถ/รูปหล่อบูรพาจารย์ 03.วัดท้องลับแล แต่เดิมชื่อว่า วัดลับแลง มีหลักฐานระบุว่า ในปี พ.ศ.2420 ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่และสร้างอุโบสถขึ้นใหม่โดยครูอินโสม และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดท้องลับแล ความน่าสนใจของวัดแห่งนี้คือ ได้เกิดปรากฏการณ์ “ภาพหัวกลับ” ขึ้นภายในอุโบสถของวัดเหมือนกับเกิดขึ้นที่วัดพระธาตุลำปางหลวงและวัดพระธาตุจอมปิง โดยรอบผนังอุโบสถด้านในมีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องสมัยพุทธกาล วิถีชีวิตของชาวลับแลและตำนานเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารปฐมกษัตริย์แห่งนครลับแลสวยงามน่าชม ใกล้ ๆ กันมีเจดีย์ขนาดเล็กองค์สีขาว มีพญานาคเฝ้าอยู่ 2 ตน ด้านหน้าของอุโบสถมีหอไตรกลางน้ำอายุน่าจะหลายร้อยปีพร้อมกับธรรมมาสน์เก่าแก่ 1 ตัวและยังมีหอแก้วลับแลงไชยอีก 1 หลังที่รูปทรงสวยงามน่าเรียนรู้ ที่ตั้ง : วัดท้องลับแล ตำบลฝายหลวง อำเภออำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เวลาเปิด-ปิด : 07.00-18.00 น. สิ่งที่น่าสนใจ : ภาพหัวกลับในอุโบสถ/วิหาร/หอไตร/ธรรมมาสน์/หอแก้วลับแลงไชย/พระธาตุ 04.วัดดอนสัก วัดนี้แปลกจากทุกวัด เพราะชื่อวัดได้มาจากการสร้างวิหารทั้งหลังด้วยไม้สักเพียงต้นเดียว ซึ่งอัศจรรย์อย่างไม่น่าเชื่อ ตัววิหารเป็นสถาปัตยกรรมแบบเชียงแสนผสมสุโขทัย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่น่าสนใจมากคือ บานประตูวิหารทำเป็นคู่ มีความสวยงามมาก ว่ากันว่างามมากที่สุด 1 ใน 3 คู่บานประตูของวัดในจังหวัดอุตรดิตถ์ คือ บานประตูวิหารวัดพระฝาง วัดพระแท่นศิลาอาสน์และวัดดอนสักแห่งนี้ เสาประตูเป็นลายกนกใบเทศสลับลายกนกก้ามปู บานประตูเป็นไม้แกะสลักทั้งบาน รูปลายกนกก้านขด มีรูปสัตว์หิมพานต์แทรกอยู่ในลวดลายกนกต่าง ๆ มีความอ่อนช้อยสวยงาม โดยบานซ้ายและขวานั้นสลักไม่เหมือนกัน แต่เมื่อปิดทั้ง 2 บานเข้าหากันแล้ว ลวดลายกลับลงตัวเข้ากันได้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน อุโบสถ สร้างในปี 2473 ก่ออิฐถือปูนเป็นอาคารขนาดเล็ก มีลายวาดภาพประกอบตามหัวเสาและหน้าต่างโดยช่างฝีมือท้องถิ่น หน้าบันแกะสลักด้วยไม้งดงามเช่นกัน ที่ตั้ง : วัดดอนสัก ตำบลฝายหลวง อำเภออำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เวลาเปิด-ปิด : 07.00-18.00 น. สิ่งที่น่าสนใจ : อุโบสถ/ศาลาการเปรียญสร้างจากไม้/วิหาร/รูปปั้นพญานาค/บานประตูแกะจากไม้สัก 05.วัดเสาหิน วัดนี้สันนิษฐานว่า สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2177 แต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดฝายหิน เพราะมีลำคลองฝายหินแยกจากคลองแม่พร่องไหลผ่าน ต่อมาพื้นที่ตั้งวัดถูกตัดผ่ากลางเพื่อทำถนนจากตัวอำเภอลับแลไปยังวัดพระแท่นศิลาอาสน์ จึงทำให้วัดมี 2 ฝั่ง คือ อุโบสถอยู่ด้านทิศตะวันตก อุโบสถกว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนและพระประธานสมัยเชียงแสน ปางมารวิชัย ล้อมด้วยหมู่บ้านและสถานที่ราชการ ด้านทิศตะวันออกเป็นวิหาร รูปปั้นพระใหญ่ ศาลาการเปรียญ มีพระประธานปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยและเจดีย์สีทองขนาดกลางอยู่ลานวัด ที่ตั้ง : วัดเสาหิน ตำบลศรีพนมมาศ อำเภออำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เวลาเปิด-ปิด : 07.00-18.00 น สิ่งที่น่าสนใจ : อุโบสถ/รูปปั้นพระใหญ่/วิหาร/เจดีย์ ภาพประกอบทั้งหมดถ่ายโดยผู้เขียน : อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ฟรี