จังหวัดสกลนคร ถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่สำคัญของภาคอีสาน มีโบราณสำคัญมากมาย พร้อมทั้งยังมีสถานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระกรรมฐานสายอีสาน ผมมีโอกาสเดินทางเพื่อท่องเที่ยวและเรียนรู้ในจังหวัดสกลนคร จึงได้เก็บเรื่องราวความทรงจำมาบอกเล่าให้ผู้อ่านทุกท่านที่สนใจได้อ่านกันครับ ภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี การเดินทางไปจังหวัดสกลนครในครั้งนี้ ผมและคณะมุ่งหน้ากันไปที่พระธาตุนารายณ์เจงเวง ตั้งอยู่บริเวณถนนสายสกลนคร - อุดรธานี ตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร การเดินทางก็ง่ายดายครับผม ใกล้กับตัวเมืองสกลนคร พื้นที่ของโบราณสถานแห่งนี้ อยู่ในพื้นที่วัดครับ เรียกกันโดยทั่วไปว่า วัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง โดยตำนานของพื้นที่แห่งนี้เชื่อมโยงกับอุรังคธาตุ เมืองหนองหานหลวง ตัวพระธาตุสร้างด้วยหินทราย มีการแกะสลักลวดลายสวยงามมากครับ ภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี ลักษณะเดิมของปราสาทนารายณ์เจงเวง เป็นปราสาทหินครับ บริเวณหน้าบันปราสาทพระธาตุนารายณ์เจงเวง จะเป็นภาพสลักศิวะนาฏราช สะท้อนให้เห็นความเชื่อของการนับถือศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูที่ปะปนกับพระพุทธศาสนานยุคแรกของภาคอีสาน แม้จะมีการบูรณปฏิสังขรณ์ไป แต่พระธาตุนารายณ์เจงเวงก็ยังมีร่องรอยความงาม และความละเอียดของฝีมือการแกะสลักหินของผู้คนในอดีตให้เราเห็นครับ ภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี จุดเด่นของที่นี่คือ ภาพหินแกะสลักที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมอีสานในยุคต่อมาเป็นอย่างมากครับ โดยเฉพาะภาพแกะสลักรูปวิษณุอนันตศายินปัทมนาภา พร้อมทั้งมีภาพแกะสลักวิษณุอนันตศายินปัทมนาภา มาที่นี่หลายคนอาจสงสัยคำว่า เจงเวง มาจากไหน? ผู้เขียนคิดว่ามาจากคำว่า “เจง” “เจิง” “เชิง” ซึ่งแปลว่า ขา ฐาน ส่วนคำว่า “แวง” “เวง” แปลว่า ยาว รวมความแปลว่า ปราสาทของพระนารายณ์ที่ขายาว (ตรงไหมครับ ถ้าผิดพลาดต้องขออภัยด้วย) โดยอาจจะมาจากรูปแกะสลักวิษณุอนันตศายินปัทมนาภา หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า นารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งเป็นภาพแกะสลักที่สวยงาม และเป็นจุดเด่นที่น่าสนใจจึงเป็นที่มาของชื่อนี้ อย่างไรก็ตามผมคิดว่าต้องดูทางนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ หรือข้อมูลชุดอื่น ๆ ต่อไปครับ ภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี โดยรอบบริเวณของวัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง มีความสงบร่มรื่น และมีหินศิลาโบราณกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ รอบวัดครับ ทำให้เราเห็นความสำคัญ และความเป็นมาของพัฒนาการชุมชนอีสาน และของจังหวัดสกลนครอย่างต่อเนื่อง สำหรับท่านใดที่สนใจเข้าเที่ยวชมก็สามารถไปแวะชมได้นะครับ ทางวัดเปิดให้ชมปราสาททุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น. ครับผม ภาพถ่ายหน้าปกโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี