ช่วงไตรมาสแรกของปี เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสร้างบุญของชาวไทย โดยเฉพาะชาวพุทธที่นับถือพระพุทธศาสนา หากใครยังไม่เคยไปเยือนกรุงราชคฤห์ แห่งอินเดีย เมืองหลวงของแคว้นมคธสมัยพุทธกาล อันเป็นเมืองหลักทางพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารผู้ครองนคร นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามากที่สุดแห่งหนึ่ง มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น พระคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกูฏ วัดเวฬุวัน วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ถ้ำสุกรขาตา และถ้ำสัตบรรณคูหา เป็นต้น โดยประเทศไทยเองก็มีประเพณีสำคัญอย่าง การนมัสการรอยพระพุทธบาท (พลวง) เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเปิดโอกาสให้ชาวพุทธได้ขึ้นไปเพียงช่วงเวลาหนึ่งในรอบปีเท่านั้น สำหรับปี 2563 เริ่มวันที่ 25 มกราคม - 24 มีนาคม 2563 จึงเป็นโอกาสดีที่เราชาวพุทธไม่ควรพลาด เดินทางไปจันทบุรีก็เหมือนได้ไปเยือนอินเดียเลย (ภาพโดย Majung) การเดินทางครั้งนี้ของเราเน้นไปที่การเปิดประสบการณ์เส้นทางท่องเที่ยวแห่งใหม่ เพราะเป็นครั้งแรกในการร่วมนมัสการรอยพระพุทธบาทบนเขาคิชฌกูฏไปด้วย จากจุดเริ่มต้น ทุกคนต้องไปรวมตัวกันที่บริเวณคิวรถขึ้นเขาคิชฌกูฏ ซึ่งมี 2 แห่ง คือ หน้าห้องจำหน่ายบัตร คิวรถขึ้นเขาคิชฌกูฏ บริเวณวัดพลวง และวัดกะทิง จันทบุรี ซึ่งเป็นสองที่ที่ได้รับสิทธิ์ถูกต้องในการนำรถขึ้นไปได้ (หากใครซื้อตั๋วกับเจ้าอื่น ต้องสอบถามที่มาที่ไปให้ดีก่อนนะ) เราใช้บริการที่คิววัดกระทิง ไป-กลับ 200 บาท ซึ่งจ่ายราคาเต็มเลย แล้วขากลับก็นั่งรถคันไหนลงมาก็ได้ (ต้องเป็นคิวรถเดียวกัน) ส่วนใหญ่ก็จะเป็นรถกระบะ นั่งท้ายกันไปสนุกสนาน เพราะทางขึ้นนั้นโหดมาก! ระหว่างทาง เราจะเห็นธรรมชาติเต็มสองลูกตาเลยล่ะ ป่าทึบ ต้นไม้ขึ้นดกหนา เมื่อมีรถสวนทางมาก็หวาดเสียวกันไป แนะนำให้หายใจลึก ๆ อย่ากระโตกกระตากมาก เพราะเดี๋ยวหมดพลังก่อนเดินขึ้นเขาพอดี รถมาจอดให้เราลงตรงทางขึ้นเขา หากใครอยากเข้าห้องน้ำก็แวะก่อนได้ ตรงนี้ก็จะมีจุดขายธูป เทียน ดอกไม้ และรับบริจาคต่าง ๆ ใครใคร่ทำอะไรเชิญ (ภาพโดย Majung) เมื่อพร้อมลุยแล้ว ก็ไปต่อกันเลย ทางเดินขึ้นเขาไม่ลำบากเกินไปนัก เพราะมีบันไดทางขึ้น และราวระเบียงให้จับอย่างแน่นหนาพอสมควร แต่เมื่อก่อนนั้นถือว่ายากหน่อย เพราะอันตราย ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงให้ดีขึ้นแล้ว หากเหนื่อยนักก็พักได้ ระหว่างทางเราก็จะเห็นตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น หนุ่มสาว วัยกลางคน และผู้เฒ่าผู้แก่ถือไม้เท้าขึ้นลงไม่เกรงกลัวเหนื่อยยากกันเลย แต่ละคนคงมีจุดมุ่งหมายต่างกันออกไป บางคนมาเพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาท บางคนมาเพราะเป็นหนึ่งกิจกรรมน่าสนใจ หรือบางคนมาเพื่อดูวิวทิวทัศน์ก็เป็นไปได้ เมื่อสุดทางเดิน นั่นคือปลายทางของทุกคน ที่ รอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐานอยู่บนลานหินกว้าง มีหินลูกบาตรคอยให้ร่มเงาบนยอดเขา ที่ความความสูงที่สุดในประเทศไทยจากน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร ท่ามกลางทิวทัศน์ความสมบูรณ์ของธรรมชาติป่าเขา สร้างความอิ่มเอมใจแก่ผู้มาเยือน ตามประเพณีที่ถือปฏิบัติมายาวนาน ตามความเชื่อว่าหากกราบไหว้ขอพรรอยพระพุทธบาทเหมือนได้เข้าเฝ้าองค์พระสัมมนาสัมพุทธเจ้าจะสร้างความสุขแก่ครอบครัวและชีวิต (ภาพโดย Majung) โดยในทุก ๆ ปี ช่วงเทศกาลปิดป่า เปิดเขา งานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาท (พลวง) เขาคิชฌกูฏ รวม 60 วัน จะมีประชาชน พุทธศาสนิกชน นักท่องเที่ยว เกือบ 1 ล้านคน หรือบางปีก็เกิน 1 ล้านคนเศษ หลั่งไหลกันมาขึ้นเขาคิชฌกูฏเพื่อเข้าสักการะกราบไหว้ ขอพร รอยพระพุทธบาท เมื่ออิ่มใจอิ่มบุญตาที่ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ แล้ว ก็ได้เวลากลับลงไป โดยใช้ทางเดินที่เดินขึ้นมา แนะนำว่าให้ลงก่อนฟ้ามึด เพื่อไม่เป็นอันตรายนัก เมื่อลงมาแล้วก็ตรงไปที่คิวรถวัดกระทิงที่จอดรอได้เลย จบแล้วสำหรับทริปขึ้นเขาคิชฌกูฏ หากใครใคร่มาเปิดประสบการณ์เดินขึ้นเขาพร้อมรับบุญ ก็เชิญได้เลย โดยหนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หากใครยังไม่มีโอกาสไปเยือนถึงกรุงราชคฤห์แห่งอินเดีย มาที่เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ก็น่าจะได้ความอิ่มเอมกลับไปเช่นกัน