รีเซต

ที่มา เทศกาลกินเจภูเก็ต เจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผัก ของลูกหลานจีนฮกเกี้ยน

ที่มา เทศกาลกินเจภูเก็ต เจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผัก ของลูกหลานจีนฮกเกี้ยน
Muzika
6 ตุลาคม 2564 ( 11:20 )
24K

     นับเป็นหนึ่งในเทศกาลที่ชาวไทยรู้จักกันมากที่สุดเทศกาลหนึ่ง นั่นคือ เทศกาลถือศีลกินเจ ครับ ถึงช่วงนี้ทีไรเราจะเห็นป้าย และธงสีเหลืองโบกสะบัดไปทั่ว พร้อมกับผู้คนที่เริ่มแต่งตัวสีขาว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ และเตือนตนเองให้ละกิเลส ระลึกถึงการถือศีลทำความดี

 

wiratho / Shutterstock.com


     ทั้งนี้ยังมีเทศกาลกินเจอยู่หนึ่งแห่ง อันมีพิธีกรรมไม่เหมือนที่ไหนๆ เลย นั่นคือที่จังหวัดภูเก็ต อันเรียกว่าประเพณี เจี๊ยะฉ่าย ที่จัดเป็นประจำทุกปี ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติหลั่งไหลมาเยี่ยมชมกันอย่างไม่ขาดสาย

 

ประวัติ ประเพณีถือศีลกินผัก เจี๊ยะฉ่าย เทศกาลกินเจภูเก็ต

     คำว่า เจี๊ยะฉ่าย นั้นก็มีความหมายตรงตัวว่า "กินผัก" ซึ่งก็มีเรื่องเล่ากันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยพระยาถลาง ได้ย้ายงเข้ามาตั้งเมืองภูเก็ตที่ หมู่บ้านเก็ตโฮ่ ซึ่งแถบนี้อุดมไปด้วยแร่ดีบุก และเป็นแร่ที่มีความต้องการสูงมากในทางอุตสาหกรรมยุคนั้น

     ต่อมามีคณะงิ้วปั่วฮี่ จากเมืองจีนมาเปิดการแสดงที่นี่ แต่ด้วยภูมิประเทศแถบนี้ที่เป็นป่าทึบ ชุกชุมไปด้วยยุง และไข้ป่ามาลาเรีย ชาวคณะงิ้วจึงค่อยๆ ทยอยล้มป่วยลง พวกเขาจึงประกอบพิธีกินผักกันที่โรงงิ้วเพื่อบวงสรวงเทพเจ้า กิ้วอ๋องไต่เต่ (องค์เก้าราชัน) และยกอ๋องซ่งเต่ เพื่อขอขมาโทษต่างๆ ปรากฏว่าโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้หายไปจนหมดสิ้น

     เหตุการณ์นี้จึงสร้างความเลื่อมใสแก่ชาวบ้านเก็ตโฮ่เป็นอย่างมาก นับแต่นั้นมาจึงมีการประกอบพิธีกินผักขึ้นในทุกปี โดยเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) รวม 9 วัน 9 คืน มาเป็นประจำทุกปี จนถึงทุกวันนี้

 

พิธีสำคัญต่างๆ ในเทศกาลกินเจภูเก็ต

 

kae_nata / Shutterstock.com

 

     นอกเหนือจากการถือศีลกินเจ ถือศีล 5 รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์แล้วแล้ว ที่นี่จะมีการทำพิธีที่ไม่เหมือนที่อื่นๆ ด้วย ยกตัวอย่างพิธีที่สำคัญที่สุดก็คือการ ยกเสาโกเต้ง หรือยกเสาเทวดาในเย็นวันแรกก่อนเริ่มเทศกาล โดยจะจุดตะเกียงไฟไว้บนยอดเสา รวมทั้งสิ้น 9 ดวง และต้องจุดไว้ตลอดทั้ง 9 วัน จนกว่าพิธีจะเสร็จสิ้น

 

     พิธีสำคัญแรกก็คือ อิ้วเก้ง หรือ แห่พระรอบเมือง อันเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละศาลเจ้าที่ปฎิบัติสืบทอดกันมาช้านาน โดยจะมีขบวนม้าทรงซึ่งจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ให้กับผู้ถือศีลกินผัก ตามความเชื่อว่า กิ้วอ๋องไต่เต่ จะเป็นผู้รับเคราะห์แทน เมื่อเชิญเทพประทับร่างแล้ว ม้าทรงจะเริ่มใช้อาวุธหรือวัตถุมีคมนานาชนิด ทิ่มแทงทะลุกระพุ้งแก้มของตนเอง ตามความเชื่อว่าเป็นการทรมานร่างกายแทนพี่น้องชาวภูเก็ตนั่นเอง

 

Tayawee Supan / Shutterstock.com

 

     ก่อนคืนสุดท้ายของเทศกาล จะมีพิธีสำคัญที่เรียกว่า โก้ยห่าน เป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ที่จะทำหลังจากพิธีลุยไฟ โดยการตัดกระดาษเป็นรูปหุ่นหญิงชาย พร้อมกับเขียนชื่อตนเอง และวัน เดือน ปีเกิดไว้ จากนั้นต้องเดินข้ามสะพานให้บรรดาม้าทรงปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และประทับตราสัญลักษณ์หลังเสื้อสีขาวเป็นอันเสร็จพิธี

 

Phuketian.S / Shutterstock.com

 

     จนถึงวันสุดท้ายก็จะมี พิธีส่งพระ เป็นขบวนแห่พระรอบเมืองของศาลเจ้าหลายๆ แห่งในเมืองภูเก็ต ไปจบที่บริเวณชายทะเลแหลมสะพานหิน เป็นการส่งองค์กิ้วอ่องไต่เต่ผู้เป็นประธานในพิธีกลับสู่สรวงสวรรค์ พอตกกลางคืนจะเป็นช่วงเวลาที่ม้าทรงทั้งหลายจะแสดงอภิหารเป็นการปิดท้ายเทศกาล โดยให้ผู้ร่วมงานจุดประทัด และพลุไฟเข้าใส่ขบวนม้าทรง และพี่เลี้ยงที่หามเกี้ยวรูปพระซึ่งเรียกกันว่า ตั่วเหลี้ยน อันเป็นที่ประทับขององค์กิ้วอ่องไต่เต่ ส่วนผู้คนที่ถือศีลจะตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้าน และจุดประทัดต้อนรับตลอดสองข้างทาง

 

ศาลเจ้าแนะนำในภูเก็ต

 

Piyawat Nandeenopparit / Shutterstock.com

 

     ใครที่อยากมาร่วมงานเทศกาลถือศีลกินผักที่ภูเก็ต แต่ยังไม่รู้ว่าควรจะไปเริ่มไหว้เจ้าที่ศาลไหนดี เราของแนะนำศาลที่เป็นที่รู้จักของชาวภูเก็ต ได้แก่

  • ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย หรือ จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง เป็นศาลเจ้าดังเก่าแก่แห่งหนึ่งของภูเก็ต ก่อตั้งขึ้นในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 ตั้งอยู่กลางเมืองในซอยภูธร ที่นี่มีผู้คนแน่นขนัดตลอดไม่ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลหรือไม่ก็ตาม
  • ศาลเจ้าบางเหนียว หรือ ศาลเจ้าต่าวบู้เก๊ง ศาลเจ้าที่มีผู้คนศรัทธา และให้ความเคารพมากอีกแห่งหนึ่ง มีมาตั้งแต่สมัยปี พ.ศ. 2447
  • ศาลเจ้าหลิมฮู้ไท้ซู้ หรือ อ๊ามสามกอง ศาลเจ้าเก่าแก่ที่ชาวบ้านนิยมมาบนบานขอพรต่อองค์หลิมฮู้ไท้ซู่ เชื่อกันว่าท่านจะช่วยให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ

====================

 

รวมที่เที่ยว ที่พัก อัพเดทเทรนด์ ฟินทั่วไทยและต่างประเทศ

อ่านง่าย สบายกว่าที่เคย! บนแอปพลิเคชัน ทรูไอดี

ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!