รีเซต

รู้จัก 10 ประเภทของเต็นท์ และพื้นฐานการเลือกเต็นท์ ฉบับมือใหม่หัดแคมป์ปิ้ง

รู้จัก 10 ประเภทของเต็นท์ และพื้นฐานการเลือกเต็นท์ ฉบับมือใหม่หัดแคมป์ปิ้ง
Muzika
11 ตุลาคม 2565 ( 16:00 )
18.2K

     จะออกไปแคมป์ปิ้งทั้งที สิ่งสำคัญที่สุดก็ต้องเป็นเต็นท์นั่นเอง ใครที่ไม่คิดมากอาจจะแค่ออกไปเลือกซื้อโดยดูจากรูปทรงที่ใช่ ราคาที่ชอบก็ได้ เพียงแต่ถ้าเราลองใช้เวลาสักนิด จะพบว่าเต็นท์ซักหลังนั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปมาก ว่ากันว่าถ้าเลือกเต็นท์ได้ดีแล้วล่ะก็ จะทำให้ทริปนั้นหลับสบายมากขึ้นเลยทีเดียว ใครที่ตั้งใจว่าจะมาทางสายท่องเที่ยวธรรมชาติแล้ว ลองมาทำความรู้จักกับเต็นท์ให้มากขึ้นดีกว่า ว่ามีแบบไหน ทำอะไรได้บ้าง

ประเภทของเต็นท์ การเลือกเต็นท์ ไปแคมป์ปิ้ง

 

     ก่อนไปรู้จักการเลือกเต็นท์สำหรับแคมป์ปิ้ง เราขอชวนทุกคนไปตั้งแคมป์กับหนุ่ม KAI วง EXO ที่จะพาเราไปสัมผัสธรรมชาติอันสุดมหัศจรรย์ของ คังวอน ในรายการ Hot Place People KAI’s Bucket List

เที่ยวตามรอยสาวๆ KAI Exo ได้ที่ 9 ที่เที่ยวคังวอน Gangwon-do เกาหลีใต้ ตามสไตล์ KAI’s Bucket List สายแคมป์ปิ้งต้องมา

ดูรายการเรียลลิตี้ออนไลน์ที่ Hot Place People KAI’s Bucket List

 

ความรู้พื้นฐานเรื่องเต็นท์

     เต็นท์นั้นเป็นอุปกรณ์อาศัยชั่วคราว มีลักษณะเหมือนกระโจม สามารถติดตั้ง และรื้อถอนเพื่อเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก วัสดุที่นำมาผลิตพื้นเต็นท์มักจะเป็นผ้าใยสังเคราะห์ (โพลีเอสเตอร์ โพลิโพไพลีน ) หรืออาจเป็นผ้าดิบก็ได้ ช่วยป้องกันเราจากฝน ลม แดด หิมะต่างๆ

 

     ส่วนประกอบพื้นฐานของเต็นท์ ได้แก่ โครง (pole) ภายในเต็นท์ (canopy or inner tent) ผ้าคลุมด้านบน (rain or fly sheet) ผ้าปูพื้น (ground sheet) หมุดหรือสมอบก (stake หรือ peg) และเชือกขึง (guyout หรือ guyline)

 

 

 

     โดยเต็นท์จะออกแบบให้ผ้าคลุมด้านบน หรือ fly sheet ยกตัวขึ้น ทำให้มีช่องว่างระหว่างกลางก่อนถึงส่วนเต็นท์ด้านใน เพราะร่างกายของคนเรามีน้ำระเหยออกมาเสมอแม้ตอนนอนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทางผิวหนัง หรือระหว่างหายใจ ความชื้นดังกล่าวจะไปกลั่นตัวเป็นหยดน้ำอยู่ที่ผิวด้านในของ rain sheet ช่องว่างที่มีจะช่วยให้น้ำที่เกาะอยู่ไหลลงมาที่ชายขอบของเต็นท์ได้โดยไม่หยดลงไปเปียกบริเวณด้านในของเต็นท์

 

องค์ประกอบสำคัญของเต็นท์

ฟลายชีท (fly sheet)

     อย่างที่เล่าไว้ข้างต้น ว่าฟลายชีทนั้นเปรียบเสมือนเป็นผ้าใบกันน้ำขนาดใหญ่ นอกจากป้องกันน้ำค้างเกาะที่เต็นท์แล้ว ยังบังแดด และป้องกันน้ำฝนด้วย

ผ้าปูพื้น (ground sheet)

     ผ้าปูพื้น หรือผ้าปูรองเต็นท์ เป็นส่วนที่จะช่วยปกป้องพื้นเต็นท์ เพราะการมาเที่ยวธรรมชาตินั้นเราคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกางเต็นท์บนพื้นขรุขระ นอกจากนี้ยังกันน้ำซึมเข้าเต็นท์ได้เช่นกันหากต้องปูในที่เปียกชื้น

เสา หรือโครงเต็นท์ (pole)

     อีกหนึ่งส่วนที่มีความสำคัญมาก เรียกได้ว่าถ้าพังไปล่ะก็ไม่ได้นอนแน่ๆ วัสดุที่ใช้ทำเสาหรือโครงเต็นท์จึงมักจะมีความแข็งแรงเป็นพิเศษ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีความยืดหยุ่นด้วย อย่างเช่น ไฟเบอร์ อลูมิเนียม เป็นต้น เสาเต็นท์นั้นเป็นส่วนที่จะทำให้ที่นอนของเราเป็นรู)เป็นร่าง และคงรูปอยู่ให้เรานอนหลับพักผ่อนได้นั่นเอง

สมอบก (peg) หรือหมุดตอกเต็นท์

     เป็นส่วนที่จะช่วยขึงยึดเต็นท์ไว้กับพื้นดิน ไม่งั้นถ้าลมพัดแรงๆ จะปลิวหายเข้าป่าไปเลย สมอบกเองก็มีหลายแบบ ให้เลือกใช้ตามสภาพพื้นผิว วัสดุที่นิยมนำมาใช้จะเป็นเหล็กชุบซิ้งค์, อลูมิเนียมเกรดอากาศยาน (ใช้ทำเครื่องบิน) ไฟเบอร์ใยแก้ว, พลาสติก ABS, รวมไปถึงไม้ สำหรับรูปแบบของสมอบก ได้แก่

- สมอบก รูปเข็ม เป็นสมอบกที่มาพร้อมกับเต็นท์ สามารถใช้ในพื้นที่เป็นดินได้ดี
- สมอบก รูปฉาก เป็นสมอบกสมัยโบราณเอาไว้ใช้กับพื้นที่เป็นทราย หรือทะเลทราย
- สมอบก รูปตัวไอ เป็นสมอบกที่ถูกพัฒนาให้มีด้านเสียดสีหลายด้านจึงทำให้ยึดเกาะได้ดีในเกือบทุกสภาพอากาศ
- สมอบก แบบถุงผ้า เป็นสมอบกที่ใช้กับทรายเท่านั้น สามารถพับเก็บได้เล็ก และไม่ทำอันตรายกับผ้าเต็นท์ในเวลาที่เก็บเต็นท์ในถุงเต็นท์
- สมอบก แบบวัสดุไขว้รูปตัว X เป็นวัสดุ 2 ชิ้นแบน และตรงเจาะรูตรงกลางทั้ง 2 อัน เมื่อเวลาจะใช้ก็กางออกเป็นรูปตัว X มักใช้กับพื้นทราย

====================

 

ประเภทของเต็นท์มีแบบไหนบ้าง ?

     มาเข้าเรื่องกันซะที สำหรับประเภทของเต็นท์นั้นมีหลายทรงหลายรูปแบบมาก ซึ่งเราสามารถจำแนกได้ดังนี้

 

1. เต็นท์ทรงมาตรฐาน Ridge/A-frame Tent

 

 

     ถ้าให้เด็กๆ วาดภาพเต็นท์ขึ้นมาล่ะก็ เราจะได้เห็นทรงนี้เป็นอันดับแรกๆ เสมอ (แม้ว่าปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นน้อยลงเรื่อยๆ ก็ตาม) รูปทรงนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการตั้งแคมป์ยุคแรกๆ ใช้ผ้าใบเป็นหลัก ระบายน้ำได้ดี โดยมีเสาค้ำยันอยู่ 2 ฝั่ง ติดตั้งได้ง่าย อยู่ได้ 2 คน แต่ได้พื้นที่ head room น้อย (พื้นที่ว่างด้านบนหัว) และมีน้ำหนักค่อนข้างเยอะ

 

2. เต็นท์โดม Dome Tent

 

 

     เต็นท์ทรงมาตรฐานในยุคนี้ ที่เราจะพบได้ค่อนข้างมาก ด้วยความที่มีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย ได้พื้นที่เยอะ ไม่จำเป็นต้องใช้สมอบก ใช้เสาเต็นท์ 2 เสาพาดกันเป็นทรงตัว X จึงมีความแข็งแรง มีให้เลือกหลายขนาดตามจำนวนคน

 

3. เต็นท์อุโมงค์ Tunnel Tent

 

 

     ใครที่ไม่ได้อยากได้พื้นที่ head room เยอะนัก อยากได้ที่นอนยืดแข้งยืดขาแบบยาวๆ เต็นท์อุโมงค์จะเหมาะกับคุณที่สุด (รุ่นที่ head room สูงก็มีเช่นกัน) นอนพักได้หลายคน หรือทั้งครอบครัว แต่ด้วยความที่มีพื้นที่เหลือเฟือนี่เอง จึงต้องแลกมาด้วยความยากในการติดตั้ง และความหนักนั่นเอง

 

4. เต็นท์ทรงจีโอโดสิคโดม Geodesic Tent

 

 

     เป็นทรงเต็นท์ขั้นอัพเกรดของทรงโดมอีกทีหนึ่ง โดยเพิ่มเสาด้านข้าง ทำให้มีความแข็งแรงมากขึ้น พื้นที่ภายในมีมากขึ้น ความแข็งแรงมากขึ้น แต่ราคาจะค่อนข้างสูง เหมาะสำหรับการแคมป์ปิ้งในป่าที่ค่อนข้างจริงจัง ลมพัดแรงๆ ก็อยู่ได้

 

5. เต็นท์แบบเคบิน Cabin Tent

 

 

     เป็นทรงที่เหมาะสำหรับคนที่ไปแคมป์กันทั้งครอบครัวโดยขับรถไปด้วย เพราะมีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก และการติดตั้งยุ่งยากซับซ้อน แต่ก็ตอบแทนด้วยพื้นที่ภายในที่กว้างขวาง แข็งแรง บางรุ่นสามารถแบ่งซอยย่อยห้องข้างในได้ด้วย เดินไปมาได้แบบสบายๆ หัวไม่ชนเพดาน

 

6. เต็นท์พีระมิด Pyramid Tent

 

 

     เต็นท์มีน้ำหนักเบา ใช้เสาอลูมิเนียมอยู่กึ่งกลาง ดังนั้นเต็นท์จึงมีน้ำหนักเบา และเล็กกะทัดรัด แต่ต้องใช้การตอกสมอ และดึงเชือกในการตั้งเต็นท์ จึงทำให้มีความทนทานสูงในพื้นที่ที่อากาศย่ำแย่

 

7. เต็นท์สูบลม Inflatable Tent

 

 

     สำหรับสายแคมป์ปิ้งที่อยากจะตัดปัญหาด้านขั้นตอนการกางเต็นท์ไปเลย ไม่ต้องใช้เสา เต็นท์สูบลมเป็นทางเลือกที่ดี เพียงแต่คุณจะต้องติดเครื่องสูบลมไปด้วย ทำให้น้ำหนักโดยรวมของเต็นท์ประเภทนี้หนักมาก ถ้าไม่มีรถน่าจะลำบากซักหน่อย

 

8. เต็นท์ป๊อปอัป Pop-up Tent

 

 

     ใครไม่อยากเหนื่อยกับการต่อเสา ปักสมอบก หรือกระทั่งสูบลมเต็นท์ ขอแนะนำเต็นท์ป๊อปอัปที่โยนออกมาทีเดียว เต็นท์จะกางพรึบเสร็จอย่างไว พร้อมนอนทันที เวลาเก็บก็แค่พับลงกระเป๋าได้เลย พกพาง่าย น้ำหนักเบา เหมาะสำหรับมือใหม่สายแคมมป์ แต่ข้อเสียหลักๆ เลยก็คือความไม่มั่นคง ไม่แข็งแรงซักเท่าไหร่ จึงไม่เหมาะกับการไปตั้งในพื้นที่ที่ลมแรง หรือสภาพอากาศโหดร้าย

 

9. เต็นท์หลายห้อง Multi room Tent

 

 

     สายแคมป์ครอบครัวคนไหนยังคิดว่าเต็นท์แบบเคบินยังไม่พอสำหรับที่บ้าน หรืออยากไปนอนพร้อมเพื่อนทั้งกรุ๊ป ซื้อเต็นท์รุ่นนี้ทีเดียวจบ แยกสัดส่วนห้องอย่างชัดเจน ยืนสะดวก พื้นที่เยอะ มีรุ่นรองรับตั้งแต่ 4-10 คนเลยทีเดียว

 

10. เต็นท์แบบเปล Hammock Tent

 

 

     สำหรับเต็นท์ทรงนี้แม้ในเมืองไทยเราจะไม่ค่อยเห็นคนใช้ซักเท่าไหร่นัก แต่สำหรับเมืองนอกแล้วสายเดินป่าจะใช้เต็นท์ขนิดนี้ในบริเวณที่พื้นผิวไม่มั่นคง พื้นเปียกแฉะ หรือเป็นภูเขาหินลาดเอียงที่ไม่สามารถปักสมอบกได้ โดยไปออศัยขึงกับต้นไม้หรือแท่งหินที่มั่นคงแทน

 

     สรุปสุดท้ายนี้ หลักการการเลือกเต็นท์ที่สำคัญที่สุดก็คือ เลือกให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ สถานที่ที่ไป และความชอบของคุณนั่นเองครับ หวังว่าจะช่วยให้ตัดสินใจกันได้ดีขึ้น อย่าลืม ซื้อมาแล้วเอาออกไปเที่ยวด้วยนะ

====================